คุยกับ "เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง" ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กับวิกฤตสารพิษในประเทศไทย (29 ต.ค. 56)

Green News TV 29 ตุลาคม 2556
คุยกับ "เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง" ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กับวิกฤตสารพิษในประเทศไทย

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมามูลนิธิบูรณะนิเวศจะนำผลสารตะกั่วในสีทาอาคารและเลือดเด็กที่ เก็บรวบรวมมาทั้งปี  ประกาศสู่สาธารณชนในช่วงสัปดาห์ป้องกันภัยสารพิษตะกั่วโลก  และทุกครั้งจะนำผลมาพูดคุยหาทางออกร่วมกันกับนักวิชาการ  หน่วยงานรัฐ  ผู้ประกอบการผลิตสี และภาคประชาสังคม

แต่ดูเหมือนว่าบทเรียนที่มีมาตลอด 4 ปี ยังไม่ถูกนำมาใช้  เพราะผลในปีนี้ยังพบว่ามีสารตะกั่วเกินมาตรฐานสากล 100 ppm กว่า 79 เปอร์เซ็นต์  และพบว่าบางยี่ห้อที่มีฉลากระบุว่า “ไม่ผสมสารตะกั่ว”  แต่กลับมีตัวเลขสูงถึง 60,000 ppm

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreennewsTV ร่วมพูดคุยกับ “เพ็ญโฉม  แซ่ตั้ง” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่สะท้อนปรากฏการณ์สารพิษในไทยตลอดการทำงานของมูลนิธิมาจนถึงปัจจุบัน ที่แน่นอนว่าไม่ใช่มีปัญหาแค่เพียงผลิตภัณฑ์จากสี พร้อมตอกย้ำให้เห็นช่องโหว่สำคัญของวิกฤตครั้งนี้ที่มาจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ภาครัฐ และผู้บริโภค

——————————————————————————————-

ปกติมูลนิธิบูรณะนิเวศมีบทบาทและมีวัตถุประสงค์การติดตามมลพิษจาก อุตสาหกรรม  แล้วก็จะมีการติดตามเรื่องสารพิษจากสิ่งแวดล้อมเนื่องมาจากอุตสาหกรรม  หรือการทำเหมืองแร่ในหลายๆ  พื้นที่อย่างเช่น  ในกรณีของพื้นที่มาบตาพุด  เราเคยมีการศึกษาเรื่องของการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย  สาร BOC ในอากาศ  ซึ่งมาบตาพุดจะมีเรื่องอากาศมีกลิ่นเหม็นมาก  และทางชุมชนก็จะมีความวิตกกังวลว่ากลิ่นเหม็นนั้นมีอันตรายต่อสุขภาพมั้ย  ซึ่งต่อมาเมื่อ พ.ศ.2546 ไล่มาจนถึง 2550 เรามีการเก็บตัวอย่างในพื้นที่มาบตาพุดมาตรวจ  และก็เจอสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพหลายตัวทีเดียว

นอกจากนี้เราก็มีการศึกษาการปนเปื้อนของสารพิษจากการเผาขยะ  ซึ่งเราก็ทำเมื่อประมาณปี 2550  -2551 เรื่องของการปนเปื้อนโดยเฉพาะสารตะกั่วจากการเผาขยะอุตสาหกรรม  หรือว่าการเผาขยะจำพวกขยะอันตรายขยะอิเลกโทรนิกส์  ซึ่งตอนนั้นเราก็เจอว่าดินที่อยู่บริเวณรอบ ๆ การเผาขยะมีการปนเปื้อนของสารตะกั่วถึง 70,000 ppm ซึ่งสูงมากและก็มีผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมในแถบนั้นที่ ต.โคกสะอาด  จ.กาฬสินธิ์  ซึ่งหลังจากที่เรามีการศึกษาและเผยแพร่รายงานออกไป  ทางหน่วยงานสาธารณสุขก็ลงไปศึกษาติดตามเพิ่มเติม  ถึงการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม  และสุขภาพของเด็กในพื้นที่แถบนั้น  ก็เจอว่าเด็กใน ต.โคกสะอาด อ.คล้องชัย  ก็จะมีภาวะเรื่องโลหิตจางสูงมาก  อันนี้ก็จะสอดคล้องกับผลการศึกษาของเราที่พบว่ามันมีสารโลหะหนัก  อย่างเช่น  ตะกั่ว  ในสิ่งแวดล้อมสูง และเด็กรอบพื้นที่ก็จะได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้นเรามีการศึกษาเรื่องของสารปรอทในครีมทาหน้าขาวพวก whitening cream ก็เจอหลายยี่ห้อ  เนื่องจากว่าใน whitening cream ที่เราใช้กันอยู่มีการจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดเมืองไทยมีสารปรอทสูงเกินมาตตร ฐานที่ควรจะมี  ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นอันตรายต่อบรรดาสตรีทั้งหลายที่ใช้ครีมทาหน้า

ส่วนในเรื่องของสี  อันนี้เราเป็นการวิเคราะห์ครั้งที่ 4 และปีหน้าเราก็จะทำอีกและก็จะมีการผลักดันให้สำเร็จไปในทางนโยบาย  ว่ามีมาตรฐานการบังคับที่เข้มงวดขึ้น  ที่ทาง ผอ.ของสมอ.เขาก็ได้แจ้งไว้ในที่ประชุม

หลัก ๆ ที่เราติดตามเราจะติดตามจากโรงงานอุตสาหกรรม  คือประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง  และขนาดใหญ่  อยู่ประมาณ 130,000 กว่าโรงทั่วประเทศ  เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเขตใหญ่ที่สุดและมีมลพิษรุนแรงที่สุดจะอยู่ที่พื้นที่ภาค ตะวันออก  คือจ.ระยอง ไล่มาจ.ชลบุรี และก็ฉะเชิงเทรา  ซึ่งจ.ระยองนี่ถือว่าเป็นอันตรายที่สุดและเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนา อุตสาหกรรมอย่างยิ่ง มีมลพิษรุนแรงเข้มข้นสูงมาก  และก็เป็นจังหวัดที่มีการผลิตและการเก็บสารเคมีอันตรายสูงที่สุดของประเทศ  รวมถึงมีการขนส่งสูงที่สุดทั้งทางรถยนต์และทางน้ำ

จริง ๆ ต้องบอกว่าพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง  คือพื้นที่หลักที่เราติดตามอยู่  และก็เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เริ่มมีการศึกษาเรื่องของการปนเปื้อนสารปรอทในผลิตภัณฑ์ปลา  ในเนื้อปลาช่อน  และในเส้นผมของคน  ซึ่งชุมชนในแถบนั้นจะอยู่ใกล้กับเขตประกอบอุตสาหกรรม 304  ซึ่งมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษหลายโรงด้วยกัน  แล้วก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ประมาณ 5 โรง  ซึ่งปกติในกระบวนการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเนี่ย  ก็จะมีการปนเปื้อนสารปรอทอยู่ในขี้เถ้าในอากาศ  และก็ในน้ำเสีย  ซึ่งผลการศึกษาของเราที่ตรวจในปลา  และก็เส้นผมคนที่อยู่ในพื้นที่แถบนั้นก็มีปรอทสูง

และก็หลังจากการคัดค้านผลสารปรอทในปลาในเส้นผมคน  ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้เข้ามาตรวจวัด  คุณภาพน้ำ  ขี้เถ้า  ฝุ่น  ดิน  และหลังจากนั้นก็มีการตรวจปลา  คือตรวจปลากรมควบคุมมลพิษก็ตรวจ  กรมประมงก็ตรวจ  กรมควบคุมโรงก็ตรวจ  ทั้งหมดได้เข้าไปตรวจพื้นที่ ต.ท่าตูม จ.ปราจีนบุรี  ในที่อยู่รอบๆ  เขตประกอบการ 304 และหลังจากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมา  เพื่อแก้ปัญหาสารปนเปื้อนสารปรอทในสิ่งแวดล้อมของพื้นที่แถบนั้น

เรามีปัญหาเรื่องการทิ้งขยะออกมาจากโรงงานเยอะมากในหลายพื้นที่  ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขจริงจังก็ยังคงมีปัญหาอยู่เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นในงานนึงเรื่องการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่มันใกล้กับตัว เรามากเลย  เพราะบางทีมันก็ลงไปแหล่งน้ำใต้ดินซึ่งเป็นแหล่งน้ำดีกันที่ชาวบ้านต้องใช้  ทั้งใช้ดื่มกิน  และใช้ในการอาบน้ำซักผ้า  มีหลายจุดที่แหล่งน้ำใต้ดินปนเปื้อนสารพิษเยอะ  มาบตาพุดแหล่งใหญ่  ชลบุรี ฉะเชิงเทราก็มีเยอะ  และก็มีภาคเหนือที่ลำพูนใกล้ๆ นิคมอุตสาหกรรมก็มีเยอะ  อีสานก็เยอะ

อันนี้เป็นผลมาจากที่ประเทศเราปล่อยให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่มีการ ควบคุมมลพิษที่ออกสู่สิ่งแวดล้อม  เสร็จแล้วมลพิษเหล่านั้นก็มีผลกระทบต่อชุมชม  เพราะฉะนั้นชาวบ้านเหล่านี้ก็จะมีที่เจ็บป่วยเป็นโรคจากมลพิษเยอะทีเดียว

ส่วนของสารตะกั่วที่เรานำเสนอในวันนี้เนี่ยก็จะเป็นเรื่องของสารพิษใน ผลิตภัณฑ์  เป็นผลิตภัณฑ์สี  แต่ว่าในที่จริงแล้วเนี่ยยังมีเรื่องของสารตะกั่วที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อย่าง เช่นของเล่นเด็ก  ต่อไปเราอาจจะมีการวัดสารตะกั่วในของเล่นเด็ก  ซึ่งอันนี้ก็จะอันตรายกับเด็กโดยตรง  อันนี้ก็จะเป็นแนวทางนึง  และก็เป็นความสนใจนึงที่เราอยากจะศึกษาต่อ

เพราะฉะนั้นเราก็จะดูรวมๆ  แล้วเนี่ยมันก็จะมีทั้งสารพิษที่ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากปัญหา มลพิษอุตสาหกรรม  และก็สารพิษที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ  อันนี้ก็ถือว่าเป็นวัตถุดิบที่ผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ซึ่งทั้งสองอย่างมันใกล้เคียงกับผู้บริโภคทั้งนั้น  และก็มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั้งนั้น

จริงๆ  ต้องยอมรับว่าการติดตามปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมเป็นงานที่ค่อนข้างยาก  เพราะมันก็ต้องอาศัยอะไรหลาย ๆ อย่าง  ที่สำคัญก็คือบ้านเรามีกฎหมายบางอย่าง  แต่กฎหมายเหล่านี้ไม่ถูกบังคับใช้  อย่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมของเราก็จะมีมาตรานึงที่พูดถึงเรื่องผู้ก่อมลพิษต้อง เป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น  แต่ว่ามาตรานี้ไม่มีการบังคับใช้เลยโดยหน่วยงานรัฐ  เพราะฉะนั้นเราจะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษในประเทศไทยอีกมากที่ไม่ ได้รับการแก้ไขให้มีมาตรการเยียวยาฟื้นฟู  หรือเอาผิดกับผู้กระทำผิด  ซึ่งหมายถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษออกมา

ต้องบอกว่าปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในบ้านเราไม่ว่าในเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือว่าผลิตภัณฑ์  พื้นฐานเลยก็มาจากความไม่รับผิดชอบของผู้ประกอบการ  ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใดก็ตาม  จริง ๆ กฎหมายบางอย่างบ้านเรามีไว้ค่อนข้างดีอยู่ที่ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเปล่า

ซึ่งการปฏิบัติตามกฎหมายที่จะควบคุมการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม  หรือการลดโลหะหนักบางตัวในผลิตภัณฑ์  เป็นสิ่งที่อาจจะต้องเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปในกระบวนการผลิต  หรือในกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ  ที่นี้ผู้ประกอบการมองว่าการที่จะต้องมาควบคุมจะทำให้ผลกำไรเขาลดน้อยลง  แต่ก็ไม่ได้ว่าระยะยาวเขาเอง  ลูกหลานของเขาเองก็ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน  เพราะฉะนั้นผลกระทบเหล่านี้ไม่ช้าก็เร็วมันจะสะท้อนกลับไปที่เขา  เองเหมือนกันนะค่ะ  และก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเองเสียหาย  เพราะฉะนั้นในความรับผิดชอบต่อผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นผผู้ประกอบการบรรษัท ข้ามชาติ  หรือเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศเอง  ความรับผิดชอบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือว่าต่อสุขภาพของคนมีน้อยมาก

ถ้าในส่วนของหน่วยงานรัฐเราเห็นว่า  หน่วยงานรัฐเองควรมีการปรับปรุงกฎหมายบางอย่าง  ให้ครอบคลุมและมีความเข้มงวดมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นตัว พรบ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งก็มีช่องโหว่อยู่เยอะที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พรบ.โรงงาน 2535 ก็ควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พรบ.วัตถุอันตราย 2535 ก็จะมีหลายอย่างที่ควรปรับปรุงแก้ไข

ในขณะเดียวกันบ้านเราก็ควรมีกฎหมายบางอย่างเพิ่มเติมอย่างเช่น  ก็มีกฎหมายที่กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต้องไปหา ข้อมูลว่าถ้าปล่อยมลพิษอะไรออกมาต่อสิ่งแวดล้อม  ในปริมาณเท่าไหร่ต่อปี  แล้วข้อมูลเหล่านี้เนี่ยจำเป็นต้องมีการเปิดเผยออกไปให้สาธารณะเข้าถึงได้  การให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้  ถ้ามองในภาพรวมจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย  เพราะว่าถ้าประชาชนมีความตื่นตัว  สังคมจะมีการขยับและทุก ๆ ส่วนจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น

ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็อยากให้ลดความโลภลง  และก็มีความรับผิดชอบต่อสังคมต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ส่วนของชุมชนหรือประชาชนทั่วไปจะเห็นว่าชุมชนหลายพื้นที่ออกมาต่อสู้  เขาก็ลำบากอยู่แล้ว  คือชุมชนเกษตรหลายพื้นที่ปกติก็จะมีอาชีพการเกษตร  แต่เมื่อแหล่งน้ำเสียหาย  อากาศแย่  หรือว่าดินปนเปื้อนสารพิษพื้นที่เกษตรจะเป็นพื้นที่แรก ๆเลยที่จะได้รับผลกระทบ  ก็ทำให้เขาไม่สามารถทำการผลิตได้เหมือนเดิม  ผลิตผลที่เกิดขึ้นก็จะไม่ได้รับความปลอดภัย  ยกตัวอย่างเช่น  ข้าวที่ผลิตมาจากพื้นที่ที่ อ.แม่ตาว ที่มีการปนเปื้อนแคตเมียน  ข้าวเหล่านั้นก็ขายไม่ได้  กินไม่ได้  ก็ต้องทำลายทิ้ง

อันนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากความไม่รับผิดชอบต่อผู้ประกอบการเหมืองแร่  ของผู้ลงทุน  ก็กระทบมาจนถึงชุมชนเกษตร  และก็มาถึงผู้บริโภคอีกทีนึง  มันก็จะก่อความเสียหายทุกระดับ  เพราะฉะนั้นในส่วนชุมชนการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับปัญหาเพื่อให้มีการแก้ไข จากหน่วยงานรัฐ  และให้มีความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องทำ  ถือว่าเป็นภาระเพิ่มเติมให้กับเขา

แต่ว่าในส่วนของเราเราเห็นว่าผู้บริโภคในเมืองเองควรจะต้องให้การสนับ สนุนช่วยเหลือ  และก็ศึกษาข้อมูล  และก็พยายามช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทยมีนโยบาย  ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดขึ้น  ซึ่งพลังจากผู้บริโภคเป็นพลังที่สำคัญ

ประเทศไทยพยายามส่งเสริม  นโยบายอุตสาหกรรม  และการขยายอุตสาหกรรมมักจะกระจายอุตสาหกรรมไปยังท้องที่ต่าง ๆ  ทั่วทุกภูมิภาคนั่นเท่ากับเป็นการกระจายมลพิษให้มันถ้วนทั่วกัน  การพัฒนาอุตสาหกรรมมันเป็นเรื่องจำเป็นต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจ และต่อการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีผลิตภัณฑ์ใช้กัน  แต่ว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมต้องควบคู่มากับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ด้วย  โดยเฉพาะกฎหมายที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม  และกฎหมายที่กำหนดให้มีการลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรมที่อันตรายที่สุดจะมีอยู่ 2-3อย่าง  มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  ซึ่งบ้านเรากำลังส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนานใหญ่  กลุ่มอุตสาหกรรมปตท.  และกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจปิโตรเคมีกำลังขยายในพื้นที่มาบตาพุด  ซึ่งอันตรายมาก  และยังไม่มีแนวโน้มให้เห็นชัดเจนว่าจะมีการควบคุมและการเติบโตในแนวที่พอ เหมาะพอควรกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมปิโตรเลียมมีการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ  ขุดเจาะน้ำมัน  ซึ่งอันนี้ก็เป็นกลุ่มที่อันตรายมากและยังมีการสนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่าน หินอุตสาหกรรมปิโตรเลียม  อุตสาหกรรมปิโตรเคมี  เหล่านี้มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อรุนแรงมาก  เพราะเป็นอุตสาหกรรมยุคขาลงหรือเป็นอุตสาหรรมสกปรก  ที่ประเทศอุตสาหกรรมมีการควบคุมการขยายตัวที่จะก่อมลพิษรุนแรง  และก่อโลกร้อนด้วย  แต่ประเทศไทยยังอยู่ในยุคส่งเสริม  ส่งเสริมทั้งหมดเลย  ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว

อุตสาหกรรมอีก2-3กลุ่มที่อันตราย ก็จะมีอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์ต้นน้ำ  ก็จะเป็นอุตสาหกรรมสกปรกที่จะมีอันตรายต่อสุขภาพคนไทยเยอะมาก  เพราะโดยเฉพาะโรคพิษอลูมินั่ม  และอุตสาหกรรมกระดาษและอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ  ซึ่งก็เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยส่งเสริมหมดเลย  และตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตรทั้งนั้น  หรือไม่ก็กลางริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีความอ่อนไหวทาง ระบบนิเวศ  และเป็นพื้นที่ที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับบ้านเรา  พื้นที่เหล่านี้กำลังประสบอันตรายอยู่

อันนี้ต้องเป็นสิ่งที่เดินคู่กัน  แต่บ้านเรามันโตขาเดียวไงค่ะ โตขาเดียวในแง่ที่ว่าพยายามส่งเสริมการลงทุน  แต่ว่าไม่ส่งเสริมเรื่องการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กันไปอันนี้เป็นเหตุผล สำคัญให้ปัญหามลพิษบ้านเรารุนแรงมากขึ้น  หรือว่าผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่าง ๆ  ก็มาจากหน่วยงานรัฐดูแลไม่ทั่วถึงหรือไม่ให้ความสำคัญการตรวจสอบ  อันนี้ก็ทำให้เราคิดว่าประเทศไทยยังอยู่ในยุคขาขึ้นของอุตสาหกรรม  จำเป็นอย่างมากที่ต้องเดินคู่ขนานกับกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น

และผู้ประกอบการเองก็ควรจะตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่มีพรมแดน  มันไม่มีขอบเขต  เพราะฉะนั้นถ้าเขาทำลายสิ่งแวดล้อมเนี่ย  วันนึงมันก็สะท้อนมาสู่เขาแน่นอน…

ขอบคุณภาพประกอบจาก “มูลนิธิบูรณะนิเวศ”