มูลนิธิผู้บริโภคเสนอโมเดลเก็บ "ภาษีน้ำตาล" นำมากระจายให้ระบบ สธ. - อุดรู้รั่วงบฯ รัฐ (16 เม.ย. 60)

สำนักข่าวอิศรา 16 เมษายน 2560
มูลนิธิผู้บริโภคเสนอโมเดลเก็บภาษีน้ำตาล นำมากระจายให้ระบบสธ.-อุดรู้รั่วงบฯ รัฐ 

สารี อ่องสมหวัง เสนอโมเดลเก็บภาษีน้ำตาล นำมากระจายให้กับระบบสาธารณสุข-อุดรู้รั่วของงบฯ รัฐ ชี้ใช้หลักการเดียวกับการนำภาษีบาปมาพัฒนาประเทศ ยันกำลังเป็นที่นิยมในหลายภูมิภาคอย่างอังกฤษ สหรัฐฯ บราซิล ฝรั่งเศส ด้านอดีตกก.สปสช. หวั่นแนวคิดให้ปชช.รับภาระค่ารักษาด้วยการทำประกันสุขภาพ  ไม่ใช่ความคิดของคนที่ต้องการจะช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกัน

 กรณีมีสื่อหลายสำนักทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ต่างนำเสนอประเด็นการขาดทุนสะสมของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 18 แห่ง โดยระบุว่า บางแห่งมียอดขาดทุนสะสมเกือบถึง 400 ล้านบาท นอกจากการออกมาชี้แจงถึงต้นสายปลายเหตุของเรื่องดังกล่าวและความคลาดเคลื่อนอย่างยิ่งของข้อเท็จจริงจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว นักวิชาการบางกลุ่มในวงการแพทย์ยังใช้โอกาสนี้เสนอแนวทางการให้ประชาชนรับภาระค่ารักษาด้วยการทำ 'ประกันสุขภาพ' แทนการมี 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' ดังที่เป็นอยู่

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. กล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่รับไม่ได้และไม่ใช่ความคิดของคนที่ต้องการจะช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกัน เพราะแนวคิดดังกล่าวนั้นวางอยู่บนฐานคิดของธุรกิจแบบกำไร-ขาดทุน ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีบริษัทประกันภัยที่ไหนในโลกยอมให้ตนเองขาดทุนเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่เจ็บป่วย ตรงกันข้ามกับวิธีคิดของรัฐและระบบสาธารณสุขที่ต้องเห็นชีวิตคนอยู่เหนือกำไรของรัฐ  

"ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในสหรัฐฯ ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพในราคาย่อมเยา เพราะรัฐไม่อุดหนุนสวัสดิการให้ คนเกือบทั้งประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลจำนวนมหาศาล จึงชวนให้คิดกันต่อว่า ประเทศไทยเดินมาไกลมากเรื่องสวัสดิการสุขภาพ เหตุใดจึงมีความคิดที่จะพาประเทศลงเหวด้วยการผลักภาระให้กับประชาชน"   

นายนิมิตร์ ยังกล่าวถึงปัจจัยปัญหาที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนว่า สามารถออกได้เป็น 3 ประการหลัก

ประการแรก เกิดจากรัฐไม่ได้กระจายงบประมาณอุดหนุนระบบประกันสุขภาพอย่างบัตรทองในอัตราส่วนที่เหมาะสม หรือกล่าวง่ายๆ คือ รัฐจ่ายให้น้อยเกินกว่าความเป็นจริง ผลคือโรงพยาบาลหลายแห่งเกิดภาวะขาดสภาพคล่องและเมื่อดูกันต่อถึงสัดส่วนรายจ่ายของโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะพบว่า เกินครึ่งของงบประมาณ เป็นเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์

ประการที่สอง คือการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเกี่ยวพันกับงบประมาณที่รัฐอุดหนุน โดยปกตินั้นรัฐจะจัดสรรงบประมาณตามจำนวนประชากรในพื้นที่ หมายความว่า ยิ่งในพื้นที่ที่ประชากรมีจำนวนมากโรงพยาบาลก็จะยิ่งได้งบประมาณเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทว่าในความเป็นจริงโรงพยาบาลหลายแห่งที่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องนั้นมาจากการที่มีหมอและพยาบาลในโรงพยาบาลมากเกินกว่าจำนวนประชากรในพื้นที่ และประการสุดท้าย คือ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างระบบสุขภาพทั้ง 3 ประเภท คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง โดยบัตรทองนั้นได้งบประมาณรายหัวน้อยกว่าสวัสดิการของราชการถึง 3 เท่าตัว

"ที่ผ่านมารัฐรับรู้เรื่องนี้มาตลอดและมีความพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เช่น การเพิ่มงบฯ พิเศษให้โรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้จำนวนโรงพยาบาลที่ขาดทุนสะสมที่แต่เดิมมีเป็นร้อยแห่งนั้นลดลงจนเหลือหลักสิบเท่านั้น" นายนิมิตร์ กล่าว  

ด้านนางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง สิทธิประโยชน์แตกต่างกันอย่างเทียบไม่ติด และหากลงรายละเอียดไปที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายจะพบว่า งบประมาณของบัตรทองที่ดูแลโดย สปสช. เป็นกลุ่มเดียวที่ต้องแบ่งงบประมาณจากค่ารักษาพยาบาลไปเป็นค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งที่เป็นกลุ่มที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐน้อยที่สุด สิ่งที่รัฐต้องทำคือ การสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน

“เราเป็นประเทศที่รัฐใช้งบฯ ไปกับสุขภาพพลเมือง เพียง 4.6 ของ GDP ประเทศ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ประชาชนได้ แต่มาวันนี้กลับมีคนพยายามจะล้ม”นางสาวสารี กล่าวและว่า การเสนอโมเดลการเก็บภาษีน้ำตาลเพื่อนำมากระจายให้กับระบบสาธารณสุขและอุดรู้รั่วของงบประมาณรัฐในฐานะตัวการก่อโรค โดยใช้หลักการเดียวกับการนำภาษีบาปมาพัฒนาประเทศ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหลายภูมิภาคอย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา บราซิล ฝรั่งเศส