ถอดบทเรียน CHULA Zero Waste "งดใช้ถุงพลาสติก" ในรั้วจุฬาฯ (15 เม.ย. 60)
สำนักข่าวอิศรา 15 เมษายน 2560
ถอดบทเรียน CHULA Zero Waste "งดใช้ถุงพลาสติก" ในรั้วจุฬาฯ
“เรากำลังจะเรียกร้องสิทธิต่างๆ นานา แต่ไม่ค่อยพูดถึงหน้าที่ของพลเมืองในการรักษาสิ่งแวดล้อมเลย และสิทธิ์ของเต่า วาฬที่เขาตายจากถุงพลาสติก เขามีสิทธิ์ในธรรมชาติของเขาไหม เรากำลังรุกรานสิทธิ์ของสัตว์ทะเลหรือเปล่า”
ซื้อกาแฟหนึ่งแก้ว ผลิตขยะกี่ชิ้น คำถามชวนคิดที่ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนคิดก่อนจะยกตัวอย่างพฤติกรรมของคนไทยในยุคนี้ว่า เรื่องของการกินกาแฟเย็น เมื่อก่อนร้านก็จะมีใส่แก้วกลับบ้าน ถือสองชิ้น ต่อมาต้องมีถุงหิ้วด้วย เป็นนวัตกรรมสายเดียวหิ้วกาแฟอย่างนี้ขึ้นมา แต่เรามองว่าสายเดียวหิ้วกาแฟนี้ เป็นตัวทำลายโลกเลย เพราะมันใส่ขยะไม่ได้ ใช้ซ้ำไม่ได้ ใช้ครั้งเดียวแล้วก็ทิ้ง และตอนหลังยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ คือแก้วกับกระดาษกาแฟ อันแค่เป็นการกินกาแฟและสร้างขยะไปแล้ว 5-6 ชิ้น
ลองจินตนาการต่อไปว่า กาแฟหนึ่งแก้วหนึ่งคนยังสร้างขยะเท่านี้ แล้วห้าร้อยคน พันคน ล้านคน เราจะมีขยะออกจากการบริโภคของพวกเราเท่าไหร่
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2558 คนไทยมีอัตราการทิ้งขยะ 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน
ขณะที่ประเทศติดอันดับ 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก (อ่านประกอบ ต่างชาติรายงาน ไทยติดหนึ่งในห้าอันดับแรก ประเทศที่ทิ้งขยะลงในทะเล )
ใครคือจำเลยคือปัญหานี้ ดร.สุจิตรา เผยว่า พลาสติกไม่ใช่จำเลยของเรื่องจำเลยของเรื่องก็คือว่าการบริโภคของเรา ที่ไม่เคยคำนึงถึงปลายทางของมันเลย การนำพลาสติกเอานำมาใช้ซ้ำ เป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาการบริโภคของเรา คือรับพลาสติกมาแล้ว หลายคนก็จะทิ้งโดยเฉพาะถุงที่มีขนาดเล็ก และหลายคนก็จะไม่รู้ว่า โฟมมีอายุ 1,000 ปี พลาสติก 150 ปี วันนี้ต้องเริ่มรณรงค์กันใหม่ ให้ย้อนกลับมาเรื่องวิธีการบริโภคของเราที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น กลับมาคิดว่า ตัวเราก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดขยะเช่นกัน
ตอนนี้เชื่อว่าคนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก "ตาวิเศษ" กันแล้ว คนรุ่นเก่าก็เหมือนจะลืมตาวิเศษไปแล้วเหมือนกัน ดร.สุจิตรา เชื่ออย่างนั้น พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจให้ฟังว่า เด็กรุ่นใหม่แม้กระทั่งทิ้งขยะลงถังยังไม่ทำเลย เพราะเด็กมองว่า หน้าที่ทิ้งขยะเป็นของแม่บ้าน
นี่เป็นปัญหาที่ ดร.สุจิตรา มองว่า ต้องเร่งแก้โดยด่วน เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างไรให้ใส่ใจเรื่องของการบริโภคมากขึ้น ในแง่วิชาการน่าสนใจมากเลยว่า จะเปลี่ยนพฤติกรรมคน ก็่ลองไปศึกษาทฤษฎีว่าด้วยพฤติกรรม โดยเฉพาะเรื่องของพฤติกรรมต่อสิ่งแวดล้อม เราจะเกิดจิตสำนึกว่า เรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม ถ้าเกิด เป็นการกระทำได้นั้น ต้องอาศัยอะไรบ้าง
1. ต้องมีข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
2. ต้องสร้างระบบให้คนเอื้อต่อพฤติกรรมใหม่ขึ้นมา
แล้วข้อมูลข่าวสารอะไรบ้างที่สร้างจิตสำนึกให้กับคน ดร.สุจิตรา บอกว่า ต้องลองไปดูพื้นฐานให้คนฉุดคิดว่า เราต้องทำอะไรบ้างที่จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เรื่องของข้อมูลย่อยสลาย เกี่ยวกับไมโครพลาสติก ซึ่งตัวนี้จะเป็นตัวที่สร้างความตระหนักของคน (อ่านประกอบ ขยะทะเลต้องเร่งจัดการ ดร.ธรณ์ ชี้ไมโครพลาสติกภัยร้ายใกล้ตัว หวั่นถูกแบนแบบประมง)
แต่สำหรับบางคนฟังแล้วก็งั้นๆ แล้วคนที่มีความตระหนักต่ำ เราต้องทำอย่างไร ดร.สุจิตรา ระบุว่า เราต้องไปแก้ที่ระบบ
มาตรการลดขยะจากต้นทาง
ดร.สุจิตรา เผยว่า โครงการ CHULA Zero Waste โดยข้อมูลที่เราพยายามจะสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งเรื่องของอายุการย่อยสลายปัญหาที่เกิดจากหลอดที่ทุกคนทานกาแฟแล้วมีหลอดเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อเต่า ก็พยายามจะชี้ว่ายังมีผลกระทบตรงนั้นอยู่
เรื่องมาตรการ "งดใช้ถุงพลาสติก" ในรั้วจุฬาฯ พูดถึงมาตรการขายถุง ก็คือมาตรการงดใช้ถุงพลาสติก ไม่ใช่เพียงแค่คนกลุ่มหนึ่ง 10% เอา แต่อีก 90% ที่เหลือไม่แคร์ ต้องเอาระบบเข้าไปแก้ ดังนั้นต้องเริ่มจากฝั่งร้านค้า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการต้องเป็นคนลุกขึ้นมาก่อน
"เราได้เริ่มมาตรการนี้ประมาณ 4 เดือน(มีนาคม 2560) โดยเราเริ่มแค่บูท เซเว่น 6 สาขาก่อน คือในรั้วมหาวิทยาลัย จริงแล้วจุฬาฯ เราจะมีฝั่งสยาม คือฝั่งพื้นที่พาณิชย์ด้วยแต่เรายังไม่ไปตรงนั้น เนื่องจากว่ามีประชาชนข้างนอกมา เวลาทำอะไรต้องคำนึงถึงภาคีด้วย"
บูทเซเว่นและสหกรณ์ คือเลือกอันใดอันหนึ่งไม่ได้ เพราะถ้าบูทเซเว่นไม่แจกถุง ร้านสหกรณ์ยังแจกถุง ฉะนั้นยอดขายจะตกที่เซเว่น ดังนั้นต้องทำไปพร้อมกัน เช่นเดียวกันในระดับประเทศถ้าจะเริ่มอะไร ก็ต้องเริ่มไปพร้อมๆ กัน ทุกเจ้าต้องทำเหมือนกัน ซึ่งเราจะเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างประเทศ
ดร.สุจิตรา เผยสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ จุดอ่อนของสิ่งที่ผ่านมาคืออะไร ทำไมเราเก็บสองบาท ไม่เก็บหนึ่งบาท เพราะหนึ่งบาทพฤติกรรมคนมาเปลี่ยน คนจะยอมจ่ายมากกว่ายอมพกถุงผ้า พอสองบาทก็เริ่มคิด ซึ่งมาตรการช่วงแรกจะเป็นการสมัครใจ และจะชี้ให้เห็นว่า เวลาการทำมาตรการต่างๆ เราต้องใส่ใจทุกขั้นตอน เช่น ก่อนที่จะเริ่มมาตรการงดแจกถุง คุณควรจะประชุมพนักงานเซเว่นหน้าร้านให้เขารู้ ให้เขาตระหนักถึงปัญหาของขยะ และให้รู้ว่า เขามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ โดยการช่วยสังคม และจะมีตัวช่วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่ว่า เด็กจุฬาฯทุกคนใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่จริง 96% ก็ไม่ได้สนใจมากนัก
“ช่วงรณรงค์ช่วงแรก แค่การรณรงค์เรื่องลดการแจกถุง ลดไปได้ 20-40% ซึ่งที่จริงแล้วมาจากว่า เด็กส่วนใหญ่ซื้อของไม่กี่ชิ้น เขาก็ยินดีที่จะไม่รับถุงก็เลยลดลง แต่ที่น่าสนในใจ คือ พอใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์ ร้านค้าไม่ให้ถุงแล้ว เสียสองบาท เพราะว่าคนไทยงก คนไทยไม่อยากเสียเงินค่าพลาสติก พอเราขายถุง สองบาท จากยอดใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยประมาณ 50,000 กว่าใบต่อเดือน ลดเหลือ 2,000 ใบ ลดได้เกือบ 90% จากเดือนก่อนหน้า”
กลับมาที่คำถามที่ว่า เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างไร ให้ใส่ใจเรื่องของการบริโภคมากขึ้น ดร.สุจิตรา มองว่า ความเคยชินเป็นตัวที่ค่อนข้างยาก ทฤษฎีก็บอกไว้เราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนได้ ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคก็คือ ความเคยชิน คนไทยรักสบายแน่นอน คนนอกจุฬาฯ ไม่เข้าใจ เพราะคิดว่าไม่เกี่ยว หรือการอ้างสิทธิ์ของผู้บริโภค คือต้องเข้าใจว่าผู้ที่ค้าน คือคนที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้ถุงพลาสติกแต่เราต้องเปลี่ยนกติกาของสังคมใหม่
“สังคมตอนนี้ไม่สามารถจะอยู่ได้เหมือน 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเรากำลังจะเรียกร้องสิทธิต่างๆ นานา แต่ไม่ค่อยพูดถึงหน้าที่ของพลเมืองในการรักษาสิ่งแวดล้อมเลย และสิทธิ์ของเต่า ของวาฬที่เขาตายจากถุงพลาสติก เขามีสิทธิ์ในธรรมชาติของเขาไหม เรากำลังรุกรานสิทธิ์ของสัตว์ทะเลหรือเปล่า เรื่องนี้จะเป็นตัวที่กระตุกต่อมสำนึกของเราว่าให้คิดถึงคนอื่น หรือสัตว์อื่นบ้าง ไม่ใช่แต่ตัวเราเอง” ดร.สุจิตรา กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณภาพประกอบจาก เพจCHULA Zero Waste และภาพขยะในคลองจาก Thai PBS