สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมโดยตัดมาตรา10/1เรื่องตั้งNOC ออกแต่ให้ใส่ไว้ในข้อสังเกต (30 มี.ค. 60)

energynews 30 มีนาคม 2560
สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมโดยตัดมาตรา10/1เรื่องตั้งNOC ออกแต่ให้ใส่ไว้ในข้อสังเกต

ที่ประชุม สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมวาระที่2และ3 โดยที่ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม( ฉบับที่ ) พ.ศ...ยอมตัดมาตรา10/1 เกี่ยวกับการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เอาเอาไปใส่ไว้ในข้อสังเกตเพื่อให้ สนช.พิจารณาผ่านร่างกฏหมายฉบับดังกล่าวได้โดยไม่มีความขัดแย้ง หลังจากใช้เวลาพิจารณาในมาตราเดียว นานกว่า3ชั่วโมง ในขณะที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ซึ่งเป็นสมาชิก สนช. ยืนยันรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานจะให้ความสำคัญต่อข้อสังเกตที่จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในประเด็นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่) พ.ศ... ในมาตรา10/1 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯได้ บัญญัติว่า“ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” นั้น สมาชิกสนช.ได้ให้ความสำคัญและมีผู้ลงชื่ออภิปรายเกี่ยวกับมาตราดังกล่าวหลายคนกินเวลา นานกว่า 3ชม. ทั้งสนับสนุนให้คงมาตราดังกล่าวเอาไว้ในร่าง พ.ร.บ. และคัดค้านเพื่อให้ตัดมาตรา10/1 ออกแล้วไปใส่ไว้ในข้อสังเกตแทน  ซึ่งในที่สุด ประธานสนช.ได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 10นาที เพื่อให้คณะกรรมาธิการและผู้อภิปรายได้หาข้อยุติร่วมกัน  

โดยเมื่อเริ่มการประชุม นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ได้เสนอให้ตัดมาตรา10/1 ออกจากร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และให้ไปใส่ไว้ในข้อสังเกตอย่างมีนัยสำคัญ ว่าจะต้องมีการปฎิบัติตามข้อสังเกตให้เป็นรูปธรรม โดยขอร้องให้สมาชิกสนช.ไม่ต้องมีการโหวดลงมติในมาตราดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย   ซึ่งประธานสนช.ได้สอบถามไปยังพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ

พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีพลังงาน ในฐานะสมาชิกสนช. ได้ลุกขึ้นอภิปราย ยืนยันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ เล็งเห็นถึงความสำคัญขอการนำข้อสังเกตเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาถึงรูปแบบและผลดีผลเสีย ของการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยเร็วที่สุด  

หลังจากนั้น พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ได้อภิปรายโดยยอมที่จะตัดมาตรา10/1 ออกไป เพื่อใส่ไว้ในข้อสังเกต แทน ถึงแม้ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญจะได้มีการใช้เวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าว มานานกว่า 9เดือนก็ตาม โดยเชื่อมั่นในสัญญาประชาคม ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้ไว้ต่อที่ประชุม ผ่านการอภิปรายของพลเอกสุรศักดิ์

ทั้งนี้พลเอกสกนธ์ ได้เพิ่มเติมข้อสังเกตในข้อ10.5 เกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(National Oil Company)  โดยระบุข้อความว่า “โดยที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้เพิ่มให้มีการนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตและสัญญาจ้างบริการมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการตามระบบที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งสองระบบนี้มีความแตกต่างจากการบริหารจัดการตามระบบสัญญาสัมปทานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  รวมทั้งการดำเนินการตามระบบที่เพิ่มขึ้นใหม่จะมีผลทำให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ในผลผลิตปิโตรเลียมที่เกิดขึ้นไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมนั้น ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว  คณะรัฐมนตรีจึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน60วัน   เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมใน1ปี"

โดยที่ประชุมสนช.เสียงส่วนใหญ่ได้ลงมติ 227ต่อ1 พิจารณาผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในวาระ2 และ3 ซึ่งจะมีผลให้กฏหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ต่อไป หลังจากที่ผ่านวาระรับหลักการมาตั้งแต่วันที่ 24มิ.ย. 2559