เปิดหนังสือ คปพ. ถึงนายกฯ จี้หยุดให้สิทธิผลิตปิโตรเลียม จนกว่าตั้งบรรษัทน้ำมันแล้วเสร็จ (31 มี.ค. 60)
MGR Online 31 มีนาคม 2560
เปิดหนังสือ คปพ.ถึงนายกฯ จี้หยุดให้สิทธิผลิตปิโตรเลียม จนกว่าตั้งบรรษัทน้ำมันแล้วเสร็จ
ภาพจากเฟซบุ๊ก"เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย"
เปิดหนังสิอ คปพ.ถึงนายกฯ วอนสั่งการแก้ไขหลัง สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยหยุดให้สิทธิแหล่งผลิตปิโตรเลียมทุกแหล่ง รวมเอราวัณ-บงกช จนกว่าจะจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแล้วเสร็จ พร้อมแก้ พ.ร.บ.ให้สอดคล้องกับผลศึกษาของกรรมาธิการฯ สนช. ออกมติ ครม.สั่งห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกระทรวงพลังงาน
เมื่อคืนวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังจาก พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ในฐานะตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปทำการสอบสวนในข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะกรณีเป็นแกนนำการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่หน้ารัฐสภา และได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา พ.ท.พญ.กมลพรรณได้เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สั่งการแก้ไข กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ โดยมีเจ้าหน้าที่ออกมารับหนังสือเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับเนื้อหาของหนังสือ คปพ.ดังกล่าว ระบุว่า “ตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และภาคประชาชนอื่นๆ คัดค้านร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... นั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และพี่น้องประชาชนมิได้มีเจตนาต่อต้านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่ประการใด แต่ด้วยความห่วงใยประเทศ จึงต้องมาท้วงติงเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
ด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าวมีต้นร่างมาจากกระทรวงพลังงานอันเป็นร่างกฎหมายที่มิได้ฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน โดยมิได้แก้ไขปัญหาในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่ให้อำนาจบุคคลหรือคณะบุคคลใช้ดุลพินิจมากแทนหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน อันเป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้ประเทศไม่อาจได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินได้อย่างเต็มที่ อีกทั้ง มิได้เป็นไปตามรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ไม่เป็นไปตามรายงานการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่อง ปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ทบทวนแก้ไขตามหนังสือท้วงติงของประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ และไม่ทบทวนแก้ไขตามหนังสือท้วงติงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง ๒ ฉบับจึงขาดความชอบธรรมเพราะขัดกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี และเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติไปชั่วลูกชั่วหลาน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงจำเป็นต้องคัดค้านร่างกฎหมายปิโตรเลียมดังกล่าว และเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้ทันเวลาก่อนมีการเปิดประมูลให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกช รวมถึงการผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และภาคประชาชน จึงใคร่ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการเพื่อแก้ไขกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ดังต่อไปนี้
๑. หยุดการให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมทุกแหล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งเอราวัณและบงกชจนกว่าจะจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้แล้วเสร็จ
๒. ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติครั้งที่ ๔/๒๕๕๙ (ครั้งที่ ๙) เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๙ ว่าในกรณีแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตก๊าซธรรมชาติสูงถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ให้ใช้วิธีประมูลแข่งขัน แต่ในกรณีนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะแข่งขันผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด หรือใช้วิธีประมูลแข่งขันโดยใช้ดุลยพินิจให้คะแนนเป็นเกณฑ์ตัดสิน ดังนั้นเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ขอให้ยืนยันว่าจะใช้วิธีประมูลผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเท่านั้น
๓. แก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้สอดคล้องกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
๔. ให้มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบใช้มาตรการป้องกัน ห้ามมิให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมของข้าราชการในกระทรวงพลังงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน”
ภาพจากเฟซบุ๊ก"เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย"