ประกาศยกเลิกยากำจัดศัตรูพืช 2 ตัว "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" (5 เม.ย. 60)
MGR Online 5 เมษายน 2560
ประกาศยกเลิกยากำจัดศัตรูพืช 2 ตัว “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”
คกก. แก้ปัญหาสารเคมีฯ ประกาศยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ตัว “พาราควอต - คลอร์ไพริฟอส” ใน ธ.ค. 2560 วางกรอบยุติการนำเข้าใน 1 ธ.ค. 2560 ชี้ มีอันตรายกระทบ พัฒนาการสมอง ไอคิวลด สมาธิสั้นเสี่ยงโรคพาร์กินสัน
วันนี้ (5 เม.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 โดยมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิการศึกษาไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เข้าร่วม โดยมีการพิจารณาแนวทางการจัดการปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ตัว ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเสต เพื่อให้ประชาชนในประเทศทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย
นพ.ปิยะสกล แถลงข่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ซึ่งถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้ โดยระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และต้องยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้สารเคมีทั้ง 2 ตัว ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและเกษตรกร มีเวลาเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นและจัดการกับผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาด ทั้งนี้ พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง ไม่สามารถหายาถอนพิษได้ โดย 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว ส่วนคลอร์ไพริฟอส ทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น กระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ การเจริญเติบโต และเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน ขณะนี้มีการให้กรมวิชาการเกษตร ออกความรู้กับเกษตรกร เพื่อขอให้ลดปริมาณการใช้ และยกเลิกการใช้ในที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้า พาราควอต มากถึง 128 บริษัท และคลอไพริฟอส ถึง 81 บริษัท
“สำหรับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อลด ละ เลิก การใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส มีดังนี้ 1. กำหนดเพดานปริมาณการนำเข้า อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี 2. ให้บริษัทรายงานปริมาณการนำเข้า ปริมาณการขายและปริมาณคงค้างแก่กรมวิชาการการเกษตรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทุก 3 เดือน 3. บริษัทเรียกคืนผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาดให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2562 4. เฝ้าระวัง/สุ่มตรวจร้านค้า และเฝ้าระวังการตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม” รมว.สธ. กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะเดียวกัน เตรียมออกหลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่การใช้ยากำจัดศัตรูพืช ไกลโคเสต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้า ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค 22 โรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ เป็นต้น ดังนั้น ภายใน 30 วันนี้ เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดโซนการใช้ยาอย่างเข้มงวด โดยงดใช้ในพื้นที่ใกล้ โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก รวมถึงในพื้นที่อุทยาน