ลาวตัดโค่นไปแล้วกว่า 6,000 ไร่ ตัดให้เหี้ยน ถางทิ้งให้หมด สวนกล้วยจีนก่อปัญหาสารพัด (7 เม.ย. 60)

MGR Online 7 เมษายน 2560
ลาวตัดโค่นไปแล้วกว่า 6,000 ไร่ ตัดให้เหี้ยน ถางทิ้งให้หมด สวนกล้วยจีนก่อปัญหาสารพัด


สวนกล้วยสุดขอบฟ้าของนักลงทุนจีน ในแขวงอุดมไซ จากภาพถ่ายที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว แต่นี่ก็เป็นเพียงส่วนเดียว 7-8 ปีมานี้ นักลงทุนจีนลุยเข้าปลูกกล้วย
ตั้งแต่เหนือสุด ลงไปจนถึงย่านรอบนอกของเมืองหลวงลาว และ ยังคายพิษอย่างต่อเนื่อง สื่อของทางการรายงาน แขวงบ่อแก้วทางตอนเหนือ ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด คือ ถางทิ้งให้หมด ยังเหลือที่จะต้องทำลายทิ้งอีกนับหมื่นไร่
บางแขวงสั่งนักลงทุนจีน ให้ยุติกิจการอย่างสิ้นเชิงในปีนี้ หลายแขวงใช้มาตรการไม่ให้เช่าที่ดินอีก เมื่อหมดสัญญา แต่สารพิษก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในสภาพแวดล้อม.


MGRออนไลน์ -- ทางการในแขวงภาคเหนือของลาว ประกาศตัดทิ้งให้หมด สวนกล้วยจีนที่ใช้สารพิษอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งปลูกโดยพลการ ไม่ได้รับอนุญาต ปัจจุบันถางทิ้งไปแล้ว 1,000 เฮกตาร์ หรือ 6,250 ไร่ ยังเหลืออีกกว่า 30,000 ไร่ จะทะยอยทำลายทิ้งต่อไป สื่อของทางการรายงานรื่องนี้ แสดงให้เห็นการดำเนินการอย่างจริงจัง ในการแก้ไขความผิดพลาด เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม และ ฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 
       
       สวนกล้วยหอมของนักลงทุนจีนราว 6,250 ไร้ที่ถูกถางทิ้งไปนั้น "ใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง การลงทุนไม่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ ส่วนใหญ่ลงทุนกับประชาชน โดยเจรจากันเอง และ เกิดมีการโอนสัมปทานให้คนอื่นๆ แบบเลื่อยลอย" สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
       
       แขวงบ่อแก้วเคยเปิดเผยตัวเลขว่า ที่นั่นมีสวนกล้วยหอมของนักลงทุนจีนราว 60,000 ไร่ กลายเป็นเขตปลูกกล้วยหอมใหญ่ที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นต้นทางของทางหลวงสาย A3 (E) ไทย-ลาว-จีน ส่งผลผลิตกลับไปจำหน่ายในมณฑลภาคตะวันตกเฉียงใต้ จนถึงภาคใต้ของจีนจึงสะดวกกว่าที่อื่นๆ
       
       การปลูกกล้วยหอม ใน "สวนกล้วยหอมใหญ่หลังบ้าน" แห่งนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ต่อมาได้พบว่า ส่วนใหญ่ลงทุนอย่างไม่ถูกต้อง และ ใช้สารเคมีมากมายหลายชนิด บางชนิดเป็นสารต้องห้ามในทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้สภาพแวดล้อมเสียหาย ความสมบูรณ์ของดินถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และ คุณภาพน้ำในลำน้ำลำธาร ที่ประชาชน รวมทั้งสัตว์เลี้ยง ต้องพึ่งพาอาศัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน สวนกล้วยของนักลงทุนจีน ยังไม่ได้สร้างงานในท้องถิ่น ตามที่ทุกฝ่ายคาดหวังกันก่อนหน้านี้
       
       จนถึงปัจจุบันยังคงมีรายงาน ปลากับสัตว์น้ำอื่นๆ ตายเป็นจำนวนมาก ในแหล่งน้ำต่างๆ ใกล้เขตสวนกล้วย ในแขวงบ่อแก้วแห่งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นสารพิษที่ยังคงอยู่ ถึงแม้ทางการจะควบคุมอย่างเข้มงวด และ ไม่ให้ใช้อีกแล้วก็ตาม
       
       แขวงบ่อแก้วออกประกาศในปลายปี 2558 เป็นแห่งแรกที่หยุดออกใบอนุญาต รวมทั้งไม่อนุญาตให้ปลูกเพิ่มเติมอีก ในเนื้อที่ ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การตื่นตัวครั้งใหญ่ หลายแขวงภาคเหนือดำเนินตาม และ ในทีสุดรัฐบาลลาว ได้ประกาศให้ยุติการขยายเนื้อที่ปลูกกล้วยโดยสิ้งเชิงในขอบเขตทั่วประเทศ
       
       สำนักข่าวของทางการ รายงานในสัปดาห์นี้ว่า ปัจจุบันในบ่อแก้วยังมีนักลงทุนจีน อยู่อีกกว่า 20 บริษัท รวมเนื้อที่สวนกล้วยหอมราว 5,000 เฮกตาร์ (31,250 ไร่) และ "จะทะยอยทำลายทิ้งต่อไป"
       
       ยังมีสวนกล้วยของนักลงทุนจีนอีกเป็นจำนวนมาก ในแขวงภาคเหนือของลาว ลงไปจนถึงภาคกลาง รวมเป็นเนื้อที่นับแสนไร่ ตั้งแต่หลวงน้ำทา ลงไปจนถึงอุดมไซ หลวงพระบาง ไซยะบูลี แขวงเวียงจันทน์ ในเขตรอบนอกของนครเวียงจันทน์ และ แขวงบอลิคำไซ ที่อยู่ถัดไป ทุกแห่งล้วนมีรายงานผลกระทบจากสารพิษที่ใช้ในการปลูก
       
       แขวงไซยะบูลีประกาศในเดือน ก.พ.ว่า ตั้งแต่กลางปี 2560 นี้เป็นต้นไป นักลงทุนจีน 4 ราย รวมเนื้อที่สวนกล้วยกว่า 500 เฮกตาร์ (3,125 ไร่) ในเขต 2 เมือง (อำภอ) จะหยุดกิจการลงอย่างสิ้นเชิง หลังพบการใช้สารเคมีทำลายสภาพแวดล้อม
       
       ในเดือน มี.ค.แขวงหลวงน้ำทา ทางตอนบนสุด ติดกับชายแดนจีนและพม่า ประกาศว่า ที่นั่นมีเนื้อที่สวนกล้วยหอม เหลืออยู่เพียง 2,500 เฮกตาร์ (15,625 ไร่) จากทั้งหมด ที่เคยมีอยู่กว่า 4,000 เฮกตาร์ (25,000 ไร่) และ ไม่อนุญาตการลงทุนใหม่ในแขนงนี้
       
       ปลายปีที่แล้วสภาแห่งชาติของลาว ได้ออกรัฐบัญญัติ ควบคุมการใช้สารเคมีอย่างเข้มงวด ควบคุมการนำเข้า รวมทั้งกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติในการใช้ กำหนดบทลงโทษ ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการผิดพลาดอีกต่อไป.


ขอขอบคุณเจ้าของภาพถ่าย ที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ของชาวลาว เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว
แสดงให้เห็นส่วนกล้วยนักลงจีนในแขวงไซยะบูลี ทางการแขวงนี้ประกาศในเดือน มี.ค. ให้นักลงทุนจีน 4 บริษัท หยุดกิจการอย่างสิ้นเชิงกลางปี 2560 นี้.

      

ขอขอบคุณเจ้าของภาพถ่าย ที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ของชาวลาว เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว
แสดงให้เห็นส่วนกล้วยนักลงจีนในแขวงหลวงน้ำทา ทางการแขวงภาคเหนือแห่งนี้ ประกาศในเดือน ก.พ. ปัจจุบันเนื้อที่สวนกล้วยหอมของนักลงทุนจีน ลดลงเหลือเพียง 15,625 ไร่ จากที่เคยมีอยู่กว่า 25,000 ไร่.