มองทิศทางและความเปลี่ยนแปลง เมื่อ "จีน" ขยับ "กินรวบ" ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (7 เม.ย. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 7 เมษายน 2560
มองทิศทางและความเปลี่ยนแปลง เมื่อ "จีน" ขยับ "กินรวบ" ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กลุ่มนักวิชาการด้านต่างๆ ข้าราชการและอดีตข้าราชการ บรรดาทูตประเทศอาเซียน รวมไปถึงสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา อุ่นเครื่องก่อนจัดงาน "ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน" ด้วยการจัดเสวนาเพื่อฉายภาพรวมของประเทศแถบลุ่มน้ำโขง ในหัวข้อ "ทิศทางและความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในทศวรรษ 2560-2569" ที่โรงแรมโซฟีเทลโภคีธรา สปา แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ โดยเจ้าของคือ นายสุภชัย วีระภุชงค์ ตัวแทนมูลนิธิวีระภุชงค์ และในฐานะเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย เป็นโต้โผใหญ่
บรรยากาศการเสวนาตั้งแต่เช้าจรดเย็น ได้แง่คิดในประเด็นต่างๆ รวมถึงภาพในอนาคต ว่าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะเป็นอย่างไร ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ และจะเตรียมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร โดยมีพี่เบิ้มใหญ่อย่าง "จีน" เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งกำลังส่งอิทธิพลแผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเข้มข้น
ในช่วงเสวนาถึงประเด็น"ศักยภาพในเชิงพื้นที่ลุ่มน้ำโขง กายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต" โดย ดร.สมบัติ อยู่เมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย กล่าวถึงแม่น้ำโขงว่า ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก มีความยาว 4,160 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำ 475,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีต้นน้ำอยู่บนภูเขาจี้ฟู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงทิเบต ในเขตจังหวัดหยู่ซู่ มณฑลฉิงไห่ ประเทศจีน
แม่น้ำโขงตอนบนมีชื่อเรียกว่า"แม่น้ำล้านช้าง" เป็นชื่อที่ชาวไทลื้อในดินแดนสิบสองปันนาเรียกแม่น้ำโขง ส่วนคนจีนเรียกว่า "แม่น้ำหลานซาง" จากนั้นมาตอนล่างของแม่น้ำจะไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้ แม่น้ำล้านช้างส่วนบนของแม่น้ำโขงมีความยาวประมาณ 2,130 กิโลเมตร อยู่ในมณฑลยูนนานของจีน ปริมาณน้ำที่ไหลจากพรมแดนจีนเข้าสู่เขตแดนเมียนมา-ลาวนั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16-20% ของปริมาณน้ำของแม่น้ำโขง จีนได้สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือประเทศที่อยู่ท้ายน้ำ ไม่ว่าไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ที่แย่กว่านั้น คือประเทศเหล่านี้จะกดดันจีนไม่ได้ เพราะจีนไม่ได้เป็นสมาชิกภาคีแม่น้ำโขง และจีนยังมีอิทธิพลต่อรองการเปิด-ปิดเขื่อนในฤดูแล้งและฤดูน้ำหลากอีกด้วย
สิ่งที่ได้รับรู้เพิ่มเติมจากวงเสวนาคือแผนการสร้างเขื่อนจำนวนมากในจีนมีสาเหตุมาจากการที่จีนตระหนักว่าปัจจุบันกำลังขาดแคลนน้ำมันในการผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้น จึงมีโครงการที่จะสร้างเขื่อนอย่างมากมาย นอกจากสร้างบนแม่น้ำโขงแล้ว ก็ยังมีแผนก่อสร้างบนแม่น้ำสาละวินอีกด้วย
รัฐบาลกลางของจีนให้ความสำคัญกับแม่น้ำสายนี้ ในฐานะที่แม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง สามารถเชื่อมโยงจีนเข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมณฑลยูนนานเป็นด่านหน้าที่มีพรมแดนติดต่อกับพม่า ลาว และเวียดนาม ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ของจีน คือ ให้มณฑลยูนนานเป็นศูนย์กลางสำหรับพัฒนาจีนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วย 4 มณฑล ได้แก่ยูนนาน กุ้ยโจว ซื่อชวน และชิงไห่ รวมถึง 2 เขตปกครองตนเองทิเบตและกวางสี
ขณะนี้แผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำล้านช้างในประเทศจีนเป็นรูปธรรมแล้วโดยมีอยู่8 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนม่านวาน (Manwan) เริ่มปั่นกระแสไฟฟ้าได้เมื่อปี 2539 เขื่อนต้าเฉาซาน (Dachaoshan) สร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว เขื่อนเซียววาน (Xiaowan) ซึ่งมีความสูงถึง 300 เมตร เท่ากับตึกระฟ้า 100 ชั้น เขื่อนนัวจาตู้ (Nuozhadu) เขื่อนกงกว่อเฉียว (Gongguoqiao) เขื่อนกันลันปา (Ganlanba) เขื่อนเมงซอง (Mengsong)) และกำลังเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนจิงฮง โดยจีนประเมินว่าเขื่อนทั้ง 8 ที่เรียงรายอยู่บนแม่น้ำโขงตอนบนจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 15,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะป้อนให้กับเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ทางชายฝั่งตะวันออกของจีน และบางส่วนมีแผนจะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทยด้วย
กรณีเขื่อนจีนในแม่น้ำโขงเป็นกรณีที่มีความละเอียดอ่อน มีหลายมิติเข้ามาเกี่ยวข้อง หลากหลายในกลุ่มผลประโยชน์ ตั้งแต่ชุมชน ถึงบรรษัทข้ามชาติ รัฐบาลของ 5 ประเทศ ตลอดจนประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ พยายามจะเข้ามาถ่วงดุลอำนาจ ดังนั้น ภาครัฐของไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ต้องสร้างองค์ความรู้ ด้วยจุดยืนที่ชัดเจนในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นอันดับแรก และควรสนับสนุน ส่งเสริม ในเวทีการเจรจาในระดับทวิภาคีหรือกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง ให้มีกลไกสร้างจุดสมดุลที่เหมาะสม เพราะแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นแม่น้ำส่วนรวมของทุกคน ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด
จากนั้นเป็นการกล่าวถึงการจัดการโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงโดยนายสุรพลมณีพงษ์ เลขาธิการสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา กล่าวว่าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไม่ได้อยู่อย่างลำพัง แต่มีจีนอยู่ด้านบน โดยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค มีมณฑลยูนนานและเขตปกครองตนเองกวางสี ค้ำหัวลุ่มน้ำโขงอยู่ เวลาจะทำอะไรในภูมิภาคนี้ สองมณฑลนี้ของจีนจะมีส่วนร่วมในทุกๆ เรื่อง
ในอนาคตการเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้ไม่ใช่แค่ถนนเฉยๆ แต่จะเป็นการเชื่อมกับจีนออกไปทางอินเดีย ต่อออกไปทางยุโรปด้วย ไม่ว่า R3a R9 R12 ต่างๆ เส้นทางรถไฟในอนาคตที่จะเกิดในภูมิภาคนี้ก็ ซับซ้อนมาก จะมีการเชื่อมจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง กรณีของไทยมีแนวคิดจะเชื่อมทางรถไฟลงมาจากจีนผ่านลาวมาถึงแหลมฉบัง ซึ่งการก่อสร้างในไทยมีการลงมติกันแล้วว่าจะดำเนินการเชื่อมกับจีน 5 จุดในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาจากนโยบายของจีน "ONE BELT ONE ROAD" ซึ่งเป็นแนวคิดของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง
นโยบายของสีจิ้นผิง ไม่มีการเชื่อมโยงของจีนกับสหรัฐ แต่จะเชื่อมกับยุโรปกับเอเชีย ด้วยเรื่องของการขนส่ง โลจิสติกส์ ทั้งบนบกและทางทะเล นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้แตกต่างจากของเดิม เมื่อก่อนแนวคิดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือการสร้างถนนเพื่ออำนวยความสะดวกภายในประเทศ แต่ความคิดในเวลานี้เป็นการสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อการขนส่งระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น เส้นทางต่างๆ ไม่ได้ยุติภายในประเทศเท่านั้น แต่ถูกควบคุมทั้งหมดในทางค้าขาย อนาคตต่อไปรถไฟความเร็วสูงจะเป็นตัวที่ทะลวงด่านชายแดนของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งอนาคตข้างหน้าหนีไม่พ้นลักษณะของการขนส่งแบบไม่มีพรมแดน
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงการต่อสู้เรื่องแม่น้ำโขงและการพัฒนาต่างๆในภูมิภาคนี้กลุ่มประเทศCLMVT จำเป็นต้องรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อให้การต่อรองมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะในอนาคตเรากำลังเผชิญกับความท้าทายของอำนาจของจีน ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การขนส่งในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็หนีไม่พ้น นอกจากการดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นในทุกระดับ สิ่งที่เป็นจุดร่วมของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คือพระพุทธศาสนาซึ่งคนในภูมิภาคมีศรัทธาความเชื่อร่วมกัน ดังนั้น การสร้างความแน่นแฟ้นของภูมิภาคจึงควรส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น เรียนรู้ในวิถีความศรัทธาพระพุทธศาสนาแต่ละประเทศ โดยคำนึงถึงความอ่อนไหวและไม่ยึดประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ถ้าใช้จุดร่วมนี้ในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ความจริงใจ ก็น่าจะก่อให้เกิดมิติความร่วมมือด้านอื่นๆ ตามมา