"บิ๊กตู่" เร่งขับเคลื่อน EEC EECi เขตส่งเสริมแห่งที่ 2 (9 เม.ย. 60)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 9 เมษายน 2560
"บิ๊กตู่" เร่งขับเคลื่อน EEC EECi เขตส่งเสริมแห่งที่ 2

การลงพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง เมื่อเร็ว ๆ นี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ครส.) ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดถึงนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศว่า เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้เปิดรับนักลงทุนอย่างเป็นทางการแล้ว

JETRO ขอ 3 ข้อ
นายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ได้แสดงความเชื่อมั่นที่มีต่อไทย แต่มีข้อเสนอสำคัญเพื่อให้รัฐบาลไทยพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ 

1) การเพิ่มสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมจากต่างชาติ จากเดิมที่จำกัดไว้ 1 บริษัท จ้างได้ 4 คน หรือ 1 ต่อ 4 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย 2) เสนอให้ฝ่ายไทยลดขั้นตอนการอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ เช่น การนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหารที่ใช้เวลาพิจารณาจากองค์การอาหารและยา (อย.) ที่ล่าช้า และ 3) การปรับกฎเกณฑ์หรือยกเว้นระเบียบบางข้อสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาคอขวดการลงทุน นอกจากทั้ง 3 ประเด็นแล้ว นายฮิโรกิยังต้องการความชัดเจนของ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถฯของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

จี้รัฐเพิ่มความสะดวกลงทุน   
อย่างไรก็ตามนักลงทุนส่วนใหญ่ได้สะท้อนถึงความกังวลต่อการลงทุนในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน PPP ที่ยังไม่มีความคล่องตัวมากนัก ประเด็นนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จะใช้มาตรการเร่งด่วนเข้ามาช่วย และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของรัฐบาลไทย ทางสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้จัดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและทีมเจรจาขึ้น 1 ชุด เพื่อเชื่อมการทำงานและเจรจากับคณะ S-Curve ของไทย ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า หลายบริษัทเชื่อมั่นและพร้อมลงทุนอย่างแน่นอน อาทิ โตโยต้ายืนยันที่จะก้าวไปสู่แผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ BMW พร้อมที่จะมุ่งสู่การลงทุนแบตเตอรี่ กูเกิล-ไมโครซอฟท์-หัวเว่ย-อาลีบาบา/ลาซาด้า พร้อมลงทุนด้านอีคอมเมิร์ซใน "ดิจิทัลพาร์ค (EECd) กับ "นวัตกรรมพาร์ค (EECi)" บริษัทบริดจสโตน สนใจผลิตยางล้อเครื่องบิน ขณะที่ดูคาติ สนใจขยายการผลิตรถจักรยานยนต์บิ๊กไบก์

มักกะสันเกตเวย์ห้ามสะดุด
ส่วน "มักกะสันเกตเวย์" ที่้วางไว้เป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กับรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยง 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาที่ประชุม ครศ.ได้หารือกับผู้ว่าการการรถไฟฯ-กระทรวงคมนาคม และให้กลับไปศึกษาผลดี ผลเสียภายใน 1 เดือน เนื่องจากเป็น 1 ใน 5 โครงการหลักที่ต้องเกิดขึ้นภายใน 5 ปี 

"มันไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้สถานีเชื่อมกัน หรือผู้โดยสารนั่งจากสนามบินดอนเมืองแล้วไปต่อที่สถานีลาดกระบังเพื่อไปอู่ตะเภา อย่างนี้มันใช้ไม่ได้ ในขณะที่การรถไฟฯจะต้องยอมให้รัฐเชื่อมต่อโครงการเหล่านี้เพื่อพัฒนา EEC ให้เกิดขึ้นให้ได้ รัฐบาลต้องการเห็นสัญญาจัดจ้างภายในสิ้นปีนี้" หนึ่งในกรรมการ EEC ให้ความเห็น

ตั้งเขตส่งเสริมแห่งที่ 2
ด้านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เตรียมงบฯการลงทุนไว้ 26,000 ล้านบาท เพื่อใช้กับ 3 โครงการที่จะเกิดขึ้นใน EEC ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 วงเงิน 10,000 ล้านบาท 2) โครงการดิจิทัลพาร์ค (EECd) วงเงิน 1,000 ล้านบาท และ 3) นิคมอุตสาหกรรมใหม่จำนวน 10,000 ไร่ วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่ง กนอ.อาจจะเสนอให้ทั้ง 3 โครงการ ใช้ Fast Track "ในวันที่ 11 เมษายนนี้ กนอ.เตรียมลงนามร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม New S-Curve และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการเป็นพื้นที่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ตั้งอยู่ใน EEC บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่" นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมฯกล่าว

ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในพื้นที่ 1,000 ไร่ ที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยองนั้น จะใช้เป็นเมืองนวัตกรรม (EECi) และเตรียมที่จะประกาศเป็นเขตส่งเสริมแห่งที่ 2