"ประยุทธ์" ตรวจอีอีซี 5 เม.ย. ดันอู่ตะเภา-ไฮสปีดเทรน ตั้งคณะทำงานดึงลงทุน (3 เม.ย. 60)

ไทยโพสต์ 3 เมษายน 2560
"ประยุทธ์"ตรวจอีอีซี5เม.ย. ดันอู่ตะเภา-ไฮสปีดเทรน ตั้งคณะทำงานดึงลงทุน


“อุตตม” เผย 5 เม.ย.นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ อีอีซี ติดตามความคืบหน้า เน้น 2 โครงการหลักสนามบินอู่ตะเภา-รถไฟความเร็วสูง พร้อมสั่งตั้งคณะทำงานชักจูงเอกชนกลุ่มเอส-เคิร์ฟ เข้าลงทุนในพื้นที่หนุนการพัฒนา

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 5 เม.ย. 60 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางไปเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จ.ระยอง จะได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานและการเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมอากาศยานการบินไทยอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินอู่ตะเภา

ทั้งนี้การประชุมฯ จะมีการพิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะใน 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ที่จะต้องประกาศระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ให้เอกชนมาลงทุนในกลางปีนี้ และเปิดประมูลให้ได้ในปีนี้ หลังจากผ่านขั้นตอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว

ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ไปจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศเพื่อดึงการลงทุนเข้ามายังอีอีซี ในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ที่เป้าหมายระยะยาวของรัฐบาลในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศซึ่งเชื่อมั่นว่าอีอีซีจะเป็นกลไกสำคัญในการที่จะก่อให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ของไทยอีกครั้ง

“เราได้ประสานที่จะชักจูงนักลงทุนรายสำคัญที่แสดงความสนใจโดยเฉพาะรายใหญ่ที่เป็นระดับประเทศหรือระดับโลกทั้งไทยและต่างชาติเพื่อที่จะขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) ของไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างกรณีลาซาด้ากรุ๊ปที่ล่าสุดได้หารือกับผู้บริหาระดับสูงก็ยืนยันจะเข้ามาลงทุนเมืองอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซในอีอีซี ก็เป็นอีก 1 ราย ที่เป็นระดับโลกแต่เราก็ไม่ได้ปิดกั้นรายอื่นๆ ที่จะเข้ามาในกลุ่มนี้" นายอุตตมกล่าว อย่างไรก็ตาม จะขอมติเพื่อที่จะเดินหน้าการลงทุนซึ่งเป้าหมายระยะแรกจะมี 5 โครงการในอีอีซี ลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 5 ปี โดย 5 โครงการหลักดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ 15 โครงการที่จะพัฒนาในอีอีซี ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เชื่อมกับสนามบินหลักของไทยและให้กลายเป็นมหานครการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟความเร็วสูงและรางคู่ โครงการท่าเรือที่จะรองรับทั้งการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น และการสร้างเมืองใหม่.