บรรษัทนํ้ามันแห่งชาติ ร่างทรง "ปั๊มสามทหาร" - ยุคมืดปิโตรเลียมไทย (30 มี.ค. 60)

แนวหน้าออนไลน์ 30 มีนาคม 2560
บรรษัทนํ้ามันแห่งชาติ ร่างทรง‘ปั๊มสามทหาร’-ยุคมืดปิโตรเลียมไทย

 

“เวลาทำอะไรไม่ชอบมาพากลใครจะแก้ปัญหาได้ ผมเป็นห่วงว่า การที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศนั้น หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นเกรงว่าจะไม่สามารถหยุดได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็น เช่น ที่ประเทศเวเนซุเอลา ที่ประสบปัญหาจากการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”

เสียงทักท้วงจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจคนหนึ่งของไทย เมื่อ 27 มี.ค.2560 กรณี (ร่าง) พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ที่กำลังจะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 30 มี.ค. หลังพบว่าใน มาตรา 10/1 มีการเปิดช่องไว้ให้สามารถจัดตั้ง...

บรรษัทพลังงานแห่งชาติ!!!

และเสียงทักท้วงนี้ “ต้องรับฟัง” เพราะเคยมีบทเรียนทั้งกรณีของ เวเนซุเอลา ที่รัฐบาล ฮูโก ชาเวซ ยึดกิจการปิโตรเลียมไปบริหารเองทั้งหมด เน้นให้ “น้ำมันราคาถูก”เข้าว่า แต่สุดท้ายก็“ไปไม่รอด” จากเคยร่ำรวยอู้ฟู่ก็กลายเป็นประเทศยากจน ไม่ต่างจาก เม็กซิโก ที่ยึดกิจการปิโตรเลียมจากเอกชนมาเป็นของรัฐตั้งแต่ปี 2481 สุดท้ายก็มีปัญหา จนต้องเปิดให้เอกชนลงทุนตั้งแต่ปี 2556เป็นต้นมา รวมถึง อินโดนีเซีย ที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตและเน้นให้ขายน้ำมันราคาถูกในประเทศ ก็จบแบบ “พังพาบ” เช่นกัน และทั้ง 3 ชาติ จุดร่วมแห่งความล้มเหลว คือบริหารแบบ..

ขาดประสิทธิภาพ!!!

ไม่เพียงบทเรียนจากต่างแดนข้างต้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวถึง กรมพลังงานทหาร ที่จะเข้ามาร่วมบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมไปก่อน จนกว่าจะมีการตั้งบรรษัทพลังงานอย่างเป็นทางการ ทำให้เกิดข้อกังวลว่า กรมพลังงานทหาร อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอที่ “รับงานใหญ่” ดูแลพลังงานชาติทั้งระบบได้

แม้ในเวลาต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกมายืนยันว่า ไม่เป็นความจริงกรมพลังงานทหารมีหน้าที่จำกัดและไม่ใช่การบริหารธุรกิจ อีกทั้งไม่มีความคิดที่จะนำเรื่องพลังงานชาติไปเป็นผลประโยชน์ของกองทัพก็ตาม แต่คำเตือนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ต้องบอกว่า...น่ารับฟัง เพราะเคยมีบทเรียนมาแล้ว กับกรณีของ...

ปั๊มสามทหาร!!!

ย้อนกลับไปใน ปี 2439 ที่คนไทยได้รู้จักกับ“รถยนต์” เป็นครั้งแรก เมื่อ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม แสงชูโต) นำเข้าจากต่างประเทศมาทดลองวิ่งในแผ่นดินสยาม หลังจากนั้น ยานพาหนะติดล้อขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรกลก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมแพร่หลายมาตามลำดับ เกิดการสร้างถนนเป็นเส้นทางสัญจรแทนแม่น้ำลำคลอง พร้อมๆ กับความต้องการ “น้ำมันปิโตรเลียม” เชื้อเพลิงของรถยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในเวลาต่อมา กระทรวงกลาโหม จัดตั้งแผนกเชื้อเพลิง เพื่อจัดหาน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าดและน้ำมันหล่อลื่น ขึ้นเมื่อ ปี 2476 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นกรมเชื้อเพลิง ทว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยตกเป็นผู้แพ้เพราะไปเข้าร่วมกับญี่ปุ่นเป็นที่ฝ่ายอักษะ แม้ไทยจะไม่ต้องถูกต่างชาติที่เป็นผู้ชนะเข้ามาควบคุมการบริหารประเทศ แต่ก็ต้องยุบกรมเชื้อเพลิงและขายทรัพย์สินเกี่ยวกับปิโตรเลียมทุกชนิดทิ้งทั้งหมด ในเวลานั้น กิจการพลังงานตกอยู่ในมือของ...

บริษัทต่างชาติ!!!

กระทั่ง ปี 2500 ยุคสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเด็ดขาด “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเพียงผู้เดียว” ตัดสินใจยกเลิกข้อผูกพันกับต่างชาติเรื่องห้ามรัฐบาลจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมแก่ประชาชน นำไปสู่การก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ องค์การเชื้อเพลิง ขึ้นในปี 2503 ดำเนินการทั้งจัดหา ผลิต และตั้ง “ปั๊ม” หรือสถานีจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียม ใช้รูป“ทหาร 3 นาย” เป็นโลโก้ ทำให้ปั๊มสามทหาร เป็นที่รู้จักของคนไทยนับแต่บัดนั้น

ทว่าปั๊มสามทหาร ก็อยู่ได้เพียงระยะสั้นๆ เมื่อเกิด “วิกฤติพลังงาน” ช่วงปี 2516-2517 น้ำมันปิโตรเลียมขาดแคลนไปทั่วโลก และไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ กระทั่งปี 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกฯ ในขณะนั้นมีการออก พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ขึ้นมาบริหารจัดการพลังงานเชื้อเพลิงทั้งระบบปั๊มสามทหาร จึงค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย แทนที่ด้วยยี่ห้อใหม่คือ...

ปตท.-PTT!!!

เป็นที่ทราบกันดี..ในยุคดังกล่าว ปั๊มสามทหาร“ล้มเหลว” ในทางประกอบการอย่างรุนแรงได้ส่วนแบ่งทางการตลาด “อันดับบ๊วย” ต่ำที่สุดในหมู่ธุรกิจน้ำมันด้วยกัน แถมผู้ใช้รถยนต์ยัง “ยี้” มองเป็น “ตัวเลือกสุดท้าย” ที่จะเข้าไปใช้บริการ เมื่อเทียบกับปั๊มน้ำมันจากต่างประเทศหลายยี่ห้อที่ขับเคี่ยวแข่งกันทำตลาดในไทยขณะนั้น

กระทั่งเมื่อ ปตท. ได้เข้ามาทำหน้าที่แทน เกิดการ “ปฏิรูปใหญ่” ทั้งตัวผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปั๊มน้ำมัน รวมถึงเร่ง “สร้างแบรนด์” ให้รู้จักในวงกว้าง ผ่านงานโฆษณาดึงดูดความสนใจ อาทิ “มนุษย์สารตะกั่ว-ก๊อดซิลล่า” จน ปตท. กลายเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันที่ ปตท. กลายเป็นบริษัทชั้นนำ มีการขยายธุรกิจออกไปอีกหลายแขนง ประกาศให้โลกรู้ว่ากิจการปิโตรเลียมไม่ได้มีแต่ฝรั่งที่ทำเป็น เพราะคนไทยก็ทำได้ และ...

ทำได้ดีด้วย!!!

จึงไม่แปลกใจที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร จะกังวลในประเด็นนี้ โดยระบุว่า ยุคของปั๊มสามทหารถือเป็น “ยุคมืด” ที่ไทยถูกต่างชาติครอบงำปั๊มสามทหาร ไม่สามารถต่อสู้แข่งขันอะไรกับใครได้แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเกิด ปตท. กิจการปิโตรเลียมของไทยมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกไปสำรวจยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อหาแหล่งพลังงานกลับมาสำรองให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ

“เรามีรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ดีอยู่แล้ว ถ้ามีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่เกิดขึ้นมาและใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับ ดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทใหม่แห่งนี้ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร กิจการเหล่านี้ เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดลง ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจ

และบรรษัทใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์ จะพัฒนาตนเองให้สามารถรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจได้อย่างเพียงพอหรือ? จะรับมือกับปัญหาและพัฒนาการใหม่ๆ ของกิจการพลังงานได้หรือ? กิจการพลังงานของเราซึ่งรุดหน้า
มาด้วยดี คงจะสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุ

นอกจากเรื่องของการขาดประสิทธิภาพแล้วการดึงกระบวนการทุกอย่างไป “ผูกขาด” รวม ณ จุดเดียว ยังเสี่ยงต่อปัญหา “ความโปร่งใส” อันเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้บรรษัทพลังงานแห่งชาติของ 3 ประเทศข้างต้นล่มสลาย ดังที่ ผศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาเตือนว่าแนวคิดจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ โดยให้รัฐเข้าไปจัดการกิจการพลังงานทั้งหมดนั้น เข้าตำรา..

ถอยหลังลงคลอง!!!

นโยบายสาธารณะด้านการจัดการพลังงานของประเทศไทยจะ “ย้อนยุค” กลับไปในอดีตอย่างน้อย 50-60 ปี บทเรียนจากหลายประเทศก็ดี รวมถึงบทเรียนในประเทศ โดยเทียบระหว่างกิจการปั๊ม สามทหาร กับปั๊ม ปตท. เป็นที่ชัดเจนว่าจะเกิดปัญหาขึ้นแน่นอน หากยังฝืนตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติให้ได้

“ระบบที่ผูกขาดโดยอำนาจรัฐที่มาแทนที่ระบบการแข่งขันด้วยการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและการเปิดเสรี จะนำมาสู่ความไร้ประสิทธิภาพ การคอร์รัปชั่น และหนี้สาธารณะของประเทศในอนาคต” อาจารย์อนุสรณ์ กล่าวย้ำ

อนึ่ง..แม้กระทั่งเพื่อนบ้านของไทยอย่าง มาเลเซีย ที่กลุ่มเคลื่อนไหวจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ มักอ้างถึง ปิโตรนาส (Petronas) บรรษัทพลังงานแห่งชาติของแดนเสือเหลือง ว่าเป็น “ต้นแบบ” ความสำเร็จอยู่บ่อยครั้งเพราะปิโตรนาสมีกำไรสูง อาจารย์อนุสรณ์ ระบุว่า ถึงอย่างไรการนำ “ฝ่ายตรวจสอบ” (Regulator) มารวมกับ“ผู้ประกอบการ” (Operator) ย่อมมีปัญหาด้าน“ธรรมาภิบาล” อยู่ดี

และระยะหลังๆ ก็เริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว เช่น นายกฯ มาเลเซีย ถูกกล่าวหาว่า พัวพันกับกองทุน 1-MDB ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและยังมีกรณีสินบนบริษัท Unaoil อีกด้วย สะท้อนภาพการเข้าไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบของกลุ่มผู้นำทางการเมืองที่ควบคุมดูแลบรรษัทพลังงานแห่งชาติ

เนื่องจาก “ไม่มีใครตรวจสอบบัญชีของปิโตรนาส” เทียบกับ ปตท. ที่ถูกตรวจสอบทั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงผู้ถือหุ้น และย้ำว่า แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เมื่อเทียบกับการผูกขาดโดยรัฐ ระบบที่เปิดสัมปทานให้เอกชนได้แข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ก็ได้รับการพิสูจน์ทั้งต่างชาติและในประเทศไทยแล้วว่า...

มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากกว่า!!!