รุมต้าน "บรรษัทน้ำมัน" แนะรื้อพรบ.ปิโตรเลียม หวั่นการเมือง-NGO ฮุบ (29 มี.ค. 60)

แนวหน้าออนไลน์ 29 มีนาคม 2560
รุมต้าน"บรรษัทน้ำมัน" แนะรื้อพรบ.ปิโตรเลียม หวั่นการเมือง-NGO ฮุบ

 

นักวิชาการแนะรื้อ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม หวั่นนักการเมือง-เอ็นจีโอแทรกแซงตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ชี้ผูกขาดอำนาจ-ตรวจสอบยาก กลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ ออกแถลงการณ์ร้องตัด ม.10/1 ทิ้ง เตรียมยื่นหนังสือขอ “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 สั่งยกเลิก

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุมีกระบวนการสอดไส้เพิ่มมาตรา 10/1 เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...)พ.ศ... ที่เตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.วาระ 2-3 ในวันที่ 30 มีนาคมว่า ไม่มีสอดไส้ แต่เป็นเพียงการแก้ไขกฎหมายของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยืนยันว่าการประชุมของ สนช.ทำอย่างเปิดเผย ไม่มีประชุมลับ ใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็มาพูดคุยกันในที่ประชุม ส่วนกรณีประเด็นการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เป็นปัญหานั้น จะเรียก กมธ.มาชี้แจงต่อที่ประชุมวิป สนช. เพื่อขอทราบเหตุผลการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เท่าที่ทราบการตั้งบรรษัทดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่า จะตั้งหรือไม่ตั้ง เพราะในร่างกฎหมายใช้คำว่า “เมื่อมีความพร้อม”

‘บรรยง’เห็นด้วยกับ“หม่อมอุ๋ย”
ด้าน นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และอดีตกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และกรรมการ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ที่คัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังมีปริมาณพลังงานที่เพียงพอ ไม่ได้ขาดแคลนจนถึงขั้นวิกฤตถึงขนาดต้องต่อแถวเพื่อเติมน้ำมัน หรือเกิดภาวะไฟดับ ขณะที่ราคาพลังงานในไทยก็ไม่ได้แพง แม้ว่าไทยจะนำเข้าน้ำมันถึงร้อยละ 80 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถจัดการได้เป็นอย่างดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้นมา

“อนุสรณ์”ชี้ถอยหลังครึ่งศตวรรษ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า แนวคิดจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ โดยให้รัฐเข้าไปจัดการกิจการพลังงานทั้งหมดนั้น สะท้อนการถอยหลังของนโยบายสาธารณะด้านการจัดการพลังงานของประเทศไทยอย่างน้อย 50-60 ปี แนวคิดแบบนี้ประสบความล้มเหลวในหลายประเทศ เพราะก่อให้เกิดการยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ จะเป็นการดำเนินกิจการพลังงานที่ผูกขาดโดยรัฐ การกำกับดูแลโดยรัฐบาลผ่านทางคณะกรรมการบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งในช่วงแรกจะมีกรมพลังงานทหารเป็นผู้ดำเนินการ

นำมาซึ่งคอร์รัปชั่น-หนี้สาธารณะ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันโครงสร้างระบบการกำกับดูแลโดยองค์กรอิสระนั้นถูกวางระบบไว้ดีระดับหนึ่งแล้ว ส่วนจุดอ่อนจุดด้อยที่ยังมีอยู่นั้นเป็นปัญหาในรายละเอียดไม่ใช่ทิศทางหรือหลักการใหญ่ ระบบที่ผูกขาดโดยอำนาจรัฐที่มาแทนที่ระบบการแข่งขันด้วยการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและการเปิดเสรีจะนำมาสู่ความไร้ประสิทธิภาพ การคอร์รัปชันและหนี้สาธารณะของประเทศในอนาคต

“มนูญ”แนะศึกษารูปแบบให้ชัด
ขณะที่ นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงานอิสระ กล่าวว่า การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมต้องมีการศึกษารูปแบบให้ชัดเจนก่อน เพราะรูปแบบแต่ละประเภทก็เหมาะสมกับในแต่ละประเทศ เช่น ควรมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง บทบาท รูปแบบในการบริหารงาน ตลอดจนการใช้งบประมาณในการจัดตั้ง หากจะมีการจัดตั้งก็ควรแยก พ.ร.บ.ของบรรษัทพลังงานออกมาบริหารอย่างชัดเจน ไม่ควรนำไปแทรกไว้เพียง 1 มาตราในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ชาติกว่า 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ไม่มีปัญหาถ้าจะตั้งบรรษัทน้ำมัน แต่ควรกำหนดรูปแบบให้ชัดเจน

“พรายพล”ชี้เขียนกม.ได้แย่มากๆ

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงานอิสระ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะโดยหลักการของกฎหมายไม่มีการกำหนดอำนาจและบทบาทการทำหน้าที่ของบรรษัทที่ชัดเจน เป็นการเขียนกฎหมายที่ครอบจักรวาล ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นปัญหาต่อประเทศชาติในอนาคตได้ แค่เห็นข้อกฎหมายมาตรา 10/1 ที่ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อมแล้วก็เศร้าใจ ไม่น่าจะมีขึ้นตั้งแต่ต้น เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นแบบไม่รอบคอบ เป็นการเขียนกฎหมายที่แย่มาก อยู่ดีๆ จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาโดยไม่มีคำอธิบายอะไรเลย

ชี้ผูกขาดอำนาจ-มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม ไม่แตกต่างจากข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติก่อนหน้านี้ เพราะสุดท้ายโครงสร้างบรรษัททั้งสองรูปแบบก็มีรายชื่อนักการเมือง หรือไม่ก็ภาคส่วนประชาสังคมหรือเอ็นจีโอเป็นกรรมการ กลายเป็นการผูกขาดภายใต้อำนาจสิทธิโดยนักการเมืองหรือพวกพ้องเอ็นจีโอทั้งสิ้น หากการจัดตั้งบรรษัทมีลักษณะผูกขาดอำนาจใดอำนาจหนึ่งแบบนี้ ไม่ว่าจะโดยพวกพ้องเอ็นจีโอหรือนักการเมืองในทรัพยากรปิโตรเลียมในแผ่นดินถือเป็นการแทรกแซงที่ทำลายประเทศชาติ มีแต่เจ๊งกับเจ๊งเท่านั้น สุดท้ายจะกลายความล่มสลาย สร้างความเสียหายตามมา

“พวงทิพย์”ระบุตรวจสอบได้ยาก
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเหมือนเป็นการรวบอำนาจและบทบาทของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในการกำกับดูแลกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเข้าไปอยู่รวมไว้ในหน่วยปฏิบัติการเดียวกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) ทำให้มีข้อครหาเรื่องความโปร่งใส ยากต่อตรวจสอบ และเป็นภาระต่องบประมาณ

‘บิ๊กตู่’ยันกม.เก่าตั้งแต่ปี2557
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่าง พรบ.ปิโตรเลียมและร่าง พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่ สนช.กำลังจะพิจารณาในวาระ2และ3ว่า เป็นกฎหมายเดิมที่มีการยกร่างมาตั้งปี2557และมีความพยายามจะผลักดันให้ออกมาตั้งแต่ก่อนที่ตนจะมาเป็นรัฐบาล แต่ก็มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน จนไม่สามารถออกกฎหมายได้ รัฐบาลนี้ได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายมาตามลำดับจนเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.และมีการตั้งคณะกรรมาธิการมาดูแล แต่ถูกเครือข่ายปฏิรูปพลังงานมากดดัน ยอมรับว่า บางเรื่องไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ เพราะประเทศไทยยังไม่พร้อมและยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากไทยมีบริษัทที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ ดูแลสัมปทานอยู่แล้ว แต่กลุ่มดังกล่าวก็ยังจะประกาศมาประท้วงที่รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล

ย้ำกรมพลังงานทหารไม่เกี่ยว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่ยอมรับข้อสรุปที่ออกมาและใช้แนวทางการประท้วงที่ทำให้ประเทศเสียหาย ยืนยันว่า กรมพลังงานทหารจะไม่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ เพราะกรมพลังงานทหารจะทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เพราะมีหน้าที่จำกัด จะให้ดำเนินการเป็นสถานประกอบการธุรกิจไม่ได้ เนื่องจากขีดความสามารถไม่ถึง จึงไม่มอบหมายให้ทำ ขอให้ทุกเครือข่ายได้เข้าใจ หากตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นใครจะดูแล ก็ยังไม่รู้ แต่ที่ชัดเจน คือไม่ใช่ตน

บิ๊กป้อมยันทหารไม่คุมพลังงาน
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พรบ.ปิโตรเลียม ที่จะให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยให้ทหารเป็นผู้ดูแลว่า ยืนยันว่าไม่จริง คิดเองทั้งนั้น เป็นไปไม่ได้ ตนไม่มีปัญญาจะทำและไม่เคยคิดที่จะทำ แต่แนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงข้อสังเกต เพราะมีคนผลักดันเยอะแต่ก็มีคนส่งหนังสือคัดค้าน เรื่องนี้อาจมีคนเข้าใจผิด เมื่อถามว่า ในอดีตมีบริษัทสามทหารมาดูแลด้านพลังงาน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี เราจะไม่ย้อนกลับอดีต เพราะเรามาไกลแล้ว ถ้าจะย้อนกลับไปพวกคุณจะเอาหรือไม่ มีใครมาเรียกร้อง ช่วยไปบอกให้หน่อย เพราะตอนนี้เป็นบริษัทมหาชนแล้ว ยืนยันว่าอะไรที่ทำให้เสียหายจะไม่ทำ

คปพ.แถลงค้านกม.ปิโตรเลียม2ฉบับ
วันเดียวกัน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และนายประกอบ ปริมล เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกันอ่านแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

โดยนายปานเทพระบุว่า เนื้อหายังแก้ไขไม่ตอบโจทย์ตามที่ประชาชนเรียกร้อง เพราะถึงแม้จะมีการกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มาจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติจริง แต่ไม่ได้กำหนดให้จัดตั้งทันที เท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องให้บริษัทรายเดิมได้ต่อสัมปทานรอบใหม่ อีกทั้ง ตามระบบแบ่งปันผลผลิตและจ้างผลิตไม่ได้กำหนดให้มีการประมูลอย่างยุติธรรม สุดท้ายจะเกิดช่องว่างการใช้ดุลยพินิจเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิมอยู่ดี ดังนั้น ร่าง พรบ.ปิโตรเลียมที่กำลังจะพิจารณาผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ ทำให้เกิดการผูกขาด เอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เกิดการใช้ดุลพินิจมาก และทำให้อธิปไตยทางพลังงานตกเป็นของเอกชนรายเดิมต่อไป

เล็งยื่นบิ๊กตู่ใช้ม.44ยกเลิกร่างกม.
“กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ยังไม่ได้รับฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงจากประชาชน ซึ่งเนื้อหาในกฎหมายมีการให้อำนาจบุคคลและคณะบุคคลสามารถใช้ดุลยพินิจแทนหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน อาจก่อให้เกิดช่องว่างในการทุจริต จึงเชิญชวนประชาชนร่วมเข้าชื่อเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อ ประธาน สนช.ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ บริเวณหน้ารัฐสภา และหาก สนช.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คปพ.จะยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลและพร้อมที่จะปักหลักชุมนุมไปจนกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้มาตรา 44 ยกเลิกร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ อีกทั้ง ยืนยันว่า คปพ.จะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้นในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอย่างแน่นอน” นายปานเทพกล่าว