คปพ. เสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่กำหนดระยะเวลาชัดเจน (28 มี.ค. 60)

energynews 28 มีนาคม 2560
คปพ.เสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่กำหนดระยะเวลาชัดเจน

เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย(คปพ.)ตั้งโต๊ะแถลงข่าวพร้อมออกแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายปิโตรเลียม โดยเสนอให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อเข้ามารับสิทธิในการบริหารทรัพย์สินและขายปิโตรเลียมที่จะเป็นของรัฐ ก่อนการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชและการเปิดให้สิทธิเอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่  ระบุแกนนำคปพ.จะไม่รับตำแหน่งใดใดในองค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่ พร้อมยื่นหนังสือถึงประธานสนช.และนายกรัฐมนตรี 30 มี.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center –ENC) รายงานว่า แกนนำเครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย(คปพ.)ซึ่งนำโดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ,นางสาวรสนา โตสิตระกูล,ม.ล.กรกสิวัฒน์  เกษมศรี และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน  เมื่อวันที่28 มี.ค.2560 ที่ ห้องประชุม 14 ตุลา(อาคารสำนักงาน) อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา  เพื่อคัดค้านพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ...ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่30 มี.ค.2560 นี้  พร้อมออกแถลงการณ์ฉบับที่1/2560 ความยาว7 หน้ากระดาษ โดยมีเนื้อหาสำคัญ ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม  ที่ทำให้เกิดการผูกขาด เอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี  ยังมีการใช้ดุลยพินิจอยู่มาก  โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้มีการระบุระยะเวลาการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่ชัดเจน  ว่าจะตั้งขึ้นได้เมื่อใด  ทำให้ไม่มีองค์กรที่จะมาบริหารทรัพย์สินและขายปิโตรเลียมที่จะตกเป็นของรัฐ  ในขณะที่หน่วยงานราชการอย่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะอยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการพัสดุ  การจัดซื้อจัดจ้างตามระบบราชการที่ไม่มีความคล่องตัว   ส่งผลให้ต้องมอบหน้าที่การบริหารและขายปิโตรเลียมให้กับเอกชนคู่สัญญาคล้ายกับระบบสัมปทานเดิม โดยการระบุให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อม แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลาที่ชัดเจน  อาจจะทำให้ไม่มีการจัดตั้งตลอดไปก็ได้   ซึ่งเมื่อยังไม่มีการจัดตั้งก็ทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิตที่แท้จริง และระบบจ้างผลิตจะไม่สามารถดำเนินการได้  

เนื้อหาในแถลงการณ์  ยังระบุด้วยว่า การที่ร่างพ.ร.บ.ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า จะใช้การประมูลแข่งขันเพื่อให้เกิดผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสินหาผู้ชนะ ในระบบแบ่งปันผลผลิต จึงเป็นการเปิดช่องว่างให้มีการใช้ดุลยพินิจ ในการให้คะแนนเหมือนกับระบบสัมปทาน   

แกนนำคปพ.ยังยืนยันความบริสุทธ์ใจที่จะไม่เข้าไปรับตำแหน่งกรรมการเพื่อรับประโยชน์ ในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่จะตั้งขึ้นใหม่  พร้อมระบุด้วยว่า ข้อเรียกร้องของคปพ.ที่จะให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ นั้น ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะให้เป็นผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมผูกขาดแบบครบวงจร  หรือเข้าแข่งขันทางธุรกิจกับเอกชน แต่ต้องการ ที่จะให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ถือครองกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สิน ที่จะถูกโอนกลับมา  รวมทั้งทำหน้าที่ซื้อปิโตรเลียมที่ปากหลุมจากเอกชนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมาจะขายได้ รวมทั้งเป็นผู้ขายปิโตรเลียมในส่วนของรัฐที่พึงได้   ส่วนการเปิดประมูลอาจจะเป็นหน้าที่ของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติหรือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ได้

ดังนั้นจะต้องมีการบัญญัติให้สิทธิสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ และแหล่งเอราวัณ บงกช ที่จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้แกนนำกลุ่มคปพ.จะระดมรายชื่อประชาชนเพื่อยื่นหนังสือต่อประธานสนช.ในวันที่30 มี.ค.2560  เวลา8.00 น. โดยหากสนช.ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง2ฉบับ โดยไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ก็จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี  และอยู่ปักหลักชุมนุม จนกว่านายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)มาตรา44 เพื่อยกเลิกกฎหมายทั้ง2ฉบับต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่27 มี.ค. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก็ได้เปิดแถลงข่าว โดยเรียกร้องให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาตัดมาตรา10/1 ซึ่งบัญญัติให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อม  ออกไปจากร่างกฎหมาย ก่อนที่จะพิจารณาผ่านร่างในวาระที่2 และ3 ซึ่งสอดคล้องกับแถลงการณ์ของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน(ERS) เมื่อวันที่28 มี.ค.2560 โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ย้ำว่า บรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่มีการสอดไส้เข้ามาในร่างพ.ร.บ. โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญจะเป็นการพากิจการพลังงานของประเทศที่เดินหน้ามาได้ด้วยดี ถอยหลังกลับไป50ปี  ซึ่งจะกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ