ชำแหละร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมชุดพลเอกสกนธ์ ที่เตรียมเสนอ สนช.30 มี.ค.นี้ (27 มี.ค. 60)
energynews 27 มีนาคม 2560
ชำแหละร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมชุดพลเอกสกนธ์ ที่เตรียมเสนอ สนช.30 มี.ค.นี้
ชำแหละร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม.ของ กรรมาธิการวิสามัญชุดพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)วันที่30 มี.ค.2560 นี้ โดยมีการบัญญัติเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(NOC)ไว้ในบทเฉพาะกาลมาตราที่10/1 พร้อมตั้งข้อสังเกต ให้เปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการปิโตรเลียมให้มีภาคประชาสังคม และตัวแทนผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม ในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center –ENC) รายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม(ฉบับที่..)พ.ศ...สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ได้ส่งรายงานการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้วตั้งแต่วันที่16มี.ค.2560 ซึ่งที่ประชุมสนช.จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมดังกล่าวในวันที่30 มี.ค.2560 นี้ พร้อมกับร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม(ฉบับที่..)พ.ศ...ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสนอ นั้น ที่ประชุมสนช. นั้นได้ลงมติรับหลักการไปตั้งแต่วันที่24 มิ.ย.2559 แล้ว และให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณากำหนดการแปรญัติภายใน15วันกำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน60 วัน อย่างไรก็ตาม ร่าง กฎหมายปิโตรเลียมที่ควรจะแล้วเสร็จในวันที่18 ส.ค.2559 แต่ได้มีการขอขยายระยะเวลา ทั้งสิ้น 6 ครั้งรวมระยะเวลา 210 วัน ซึ่งขยายไปจนถึงวันที่20 มี.ค.2560 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว31 ครั้งและ ได้พิจารณาร่างแล้วเสร็จในวันที่15มี.ค2560
โดยในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม นั้นทางคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา2คณะเพื่อพิจารณากลั่นกรองร่าง และพิจารณาปรับปรุงร่าง และได้มีการเชิญผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ,กรมสรรพากร,กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย(คปพ.)เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศไทย(คปป.)คลังสมองวปอ.เพื่อสังคม,ภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาลแห่งชาติ มาชี้แจง และแสดงความคิดเห็น
ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ไม่มีกรรมาธิการวิสามัญสงวนความเห็น แต่มีสมาชิก สนช.เสนอคำแปรญัตติ จำนวน5คนคือ นายมณเฑียร บุญตัน ,นายธานี อ่อนละเอียด,นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ,นายสมชาย แสวงการ และพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร โดยในสาระสำคัญของการแปรญัตตินั้น นายมณเฑียร บุญตันเสนอแปรญัตติ เกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการปิโตรเลียมและอำนาจหน้าที่ ในมาตรา15 และ16 แห่งพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 โดยแก้ไขให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม แทนปลัดกระทรวงพลังงาน และให้มีผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมด้านคุ้มครองผู้บริโภค ,ด้านการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน,ด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากการสรรหาจำนวน14 คน อย่างไรก็ตาม คำเสนอแปรญัติดังกล่าวคณะกรรมาธิการวิสามัญ ไม่เห็นด้วย ทางผู้แปรญัตติจึงขอสงวนคำแปรญัตติ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการวิสามัญ เห็นด้วยกับการแปรญัตติของ พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ให้มีการแก้ไข มาตรา 56 แห่งพ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 ที่ให้ ยกเลิกข้อความเดิม ที่ระบุว่า ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจําหน่ายปิโตรเลียมทีผู้รับสัมปทานผลิตได้ โดยให้ใช้ข้อความใหม่ ว่า ให้ผู้รับสัมปทาน ว่า ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจําหน่ายปิโตรเลียมทีผู้รับสัมปทานผลิตได้ ผู้รับสัญญามีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผู้รับสัญญาผลิตได้ในส่วนที่เป็นเจ้าของ ผู้ให้สัญญามีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียมที่เป็นส่วนของผู้ให้สัญญาและอาจมอบหมายให้ผู้ให้สัญญาขายและจำหน่ายแทนได้ จนกว่าจะมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมา ดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา มีการแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดของระบบสัญยาแบ่งปันผลผลิต และการ แก้ไขระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต เป็นสัญญาจ้างบริการ การบัญญัติให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ในการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการบริหารจัดการปิโตรเลียม ที่ต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกต เพื่อให้ที่ประชุมสนช. พิจารณา ในการให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียม โดยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่มาจากองค์กรภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ,ด้านการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน,ด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในสาขาธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน กฎหมาย หรือสาขาอื่นอันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการปิโตรเลียม
รวมทั้งมีการเขียนเพิ่มเติมเกินกว่าที่สนช.มีมติรับหลักการ ในมาตรา10/1 ที่ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” และมาตรา10/2 ที่ให้การดำเนินการออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามมาตรา23วรรค4 มาตรา53/1 มาตรา53/2มาตรา53/4 มาตรา53/6มาตรา53/9มาตรา53/10และมาตรา53/14 แห่งพ.ร.บ.ปิโตรเลียม2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ โดยหากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบ