ลุ้น EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเอ็นพีเอส 540MWที่ "เขาหินซ้อน" แต่เข้าระบบช้ากว่าแผน 6 ปี (26 มี.ค. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 26 มีนาคม 2560
ลุ้นEHIAโรงไฟฟ้าถ่านหินเอ็นพีเอส 540MWที่เขาหินซ้อนแต่เข้าระบบช้ากว่าแผน6ปี
เนชั่นแนล เพาเวอร์ฯร่อนหนังสือถึง กกพ.รายงานความคืบหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 540 เมกะวัตต์ จ.ฉะเชิงเทรา ขอผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปีོ ล่าช้ากว่ากำหนด 3 ปี เพราะรายงาน EHIA ยังไม่ผ่านการพิจารณา ล่าสุดส่งรายงานฉบับแก้ไขรอบสุดท้ายต่อ สผ.แล้ว มั่นใจผ่านฉลุย หลังจากนั้น จะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟกับ กฟผ.ต่อไป แต่ในกรณีไม่อนุมัติ EHIA จ่อยื่นฟ้องต่อศาลขอค่าชดเชย ด้าน กกพ.ขอดูเงื่อนไขที่ใช้ประมูลโรงไฟฟ้าว่าเลื่อนเข้าระบบได้หรือไม่
นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS ได้ยื่นหนังสือยืนยันว่า การจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จะดำเนินการแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ และจะสามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปี 2564 ซึ่งเท่ากับว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวผลิตไฟฟ้าล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่จะต้องเข้าระบบภายในปี 2558 ซึ่งขณะนี้ กกพ.กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาเงื่อนไขการเปิดประมูลโรงไฟฟ้า หรือ RFP (Request For Proposal) ที่เปิดประมูลในช่วงปี 2550 ว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) สามารถเลื่อนผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้หรือไม่ และมีเหตุผลอะไรบ้างที่สามารถเลื่อนเข้าระบบได้
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ฯยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำให้ต้องพิจารณาจาก RFP เป็นหลัก โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวยังไม่ได้ถูกตัดออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan 2558-2579) เนื่องจากนโยบายของกระทรวงพลังงานต้องการลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งต้นทุนค่าไฟฟ้าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น
"โรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ฯ เข้าระบบล่าช้ากว่าแผนเพราะในขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายโครงการขนาดใหญ่จะต้องจัดทำ EHIA เพิ่มเติม แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งขณะนี้ กกพ.ได้ให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้งก่อนที่จะมีการพิจารณาต่อไปว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวจะสามารถเลื่อนเข้าระบบได้หรือไม่ รวมถึงในกรณีที่ EHIA ยังไม่ผ่านการพิจารณาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป"
ขณะที่นายสิทธิพร รัตโนภาส ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ยื่นรายงาน EHIA ฉบับแก้ไขครั้งที่ 3 ไปยัง สผ.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะมีการประกาศผลพิจารณาว่าผ่านหรือไม่ ซึ่งในกรณีที่ผ่านการพิจารณาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือจะต้องไปดำเนินการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และหลังจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อให้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันภายในปี 2564 นี้ ส่วนในกรณีที่รายงาน EHIA ไม่ผ่านการพิจารณานั้น จะดำเนินการฟ้องร้องศาลเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจ่ายค่าชดเชยจากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา เพราะการกำหนดให้ต้องจัดทำรายงาน EHIA นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการประมูลโรงไฟฟ้าใหม่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ดังกล่าว ก่อนหน้านี้บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ฯได้ดำเนินการจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง คนในพื้นที่เข้าใจและไม่มีการคัดค้าน หากพัฒนาโครงการดังกล่าวได้จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ
"โครงการนี้เลื่อนเข้าระบบมาแล้วกว่า 3 ปี มีค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย หากสุดท้ายภาครัฐตัดสินใจยกเลิกโครงการ เราก็ต้องดำเนินการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะความล่าช้าที่เกิดขึ้นมันมาจากนโยบายของภาครัฐ ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของ NPS"
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัดนั้น เป็นผู้ชนะการประมูล IPP ในช่วงปี 2550 จากกำลังผลิตรวมที่เปิดประมูลรวม 4,400 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าถ่านหินรวม 2 โครงการของ NPS และโครงการ GHE-One กำลังผลิต 660 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ คือโครงการ Siam Energy กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และโครงการ Power Generation Supply กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเช่นกัน มีราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุโครงการอยู่ที่ 2.135-2.648 บาท/หน่วย