พ่อเมืองตรังแจง เวทีถกพลังงานจัดไว้เพื่อเก็บข้อมูล ชี้คนละส่วนกับประชาพิจารณ์ (24 มี.ค. 60)

มติชนออนไลน์ 24 มีนาคม 2560
พ่อเมืองตรังแจง เวทีถกพลังงานจัดไว้เพื่อเก็บข้อมูล ชี้คนละส่วนกับประชาพิจารณ์ 

วันที่ 24 มีนาคม ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ทางรัฐบาลจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถาน์ด้านพลังงานว่า จังหวัดกระบี่เป็นหนึ่งใน 3 จุดของภาคใต้ มีกระบี่ สุราษฎร์ และสงขลา กระบี่ ที่มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการรณ์พลังงาน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็นต่อสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็น พร้อมให้ความรู้ถึงสถานการณ์พลังงานในไทย ในภาคใต้เป็นอย่างไร รวมถึงภาคอื่นๆ โดยมีกระทรวงพลังงานเป็นวิทยากร ไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะแจงสถานการณ์ว่าขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผลิตพลังงานได้เท่าไหร่ ไฟฟ้าได้เท่าไหร่ และในอนาคตต้องใช้เท่าไหร พร้อมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะบรรยายให้ทราบว่าพลังงานแบบไหนจะเกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ไปพร้อมๆกับการเสนอความ

“จังหวัดตรังมีผู้แทน 4 คน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต สส.ตรัง นายชัยพร จันทร์หอม ตัวแทนภาคประชาชน ตัวแทนหอการค้าจังหวัดตรัง และตัวแทนอุตสาหกรรม คนตรังฟังแล้วคิดอย่างไร สถานการณ์เกี่ยวกับพลังงานในประเทศไทย สถานการณ์ด้านไฟฟ้าในจังหวัดตรังเป็นอย่างไร พอไม่พอ หรือควรจะทำอย่างไร ควรจะเอาไม้มาเผา หรือว่าเอามาทำเป็นพลังงาน หรือว่าเอาแก๊สจากมูลสัตว์มาเป็นพลังงานตามบ้าน หรือว่าจะเอาเป็นพลังลมจากกังหันตัวละ 200 ล้าน หรือจะเอาโซลาเซลล์ที่บอกว่าถูก ๆ หรือว่าจะเอานิวเคลียร์ หรือว่าถ่านหินสะอาด ก็ว่ามา ก็รับฟังเป็นการแสดงความคิดเห็น ไม่ได้ว่าเราเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น” นายศิริพัฒ กล่าว

นายศิริพัฒ ให้ความเห็นว่า เบื้องต้นต้องดูข้อดีข้อเสียในแต่ละพลังงาน พลังงานนิวเคลียร์เรียกว่าได้พลังงานมากมาย แต่ปัญหาคือแพง พลังงานทางด้านกังหันลมเหมือนที่หัวไทร เหมือนที่ปากพนัง ถามว่าดีไหม ดีตัวละ 200 ล้าน ลมภาคอันดามันเขาพิจารณาแล้วเป็นลมกรรโชกไม่ต่อเนื่องคุ้มหรือไม่ โซล่าเซลล์ คือแผงที่ไว้ตามหลังคาบ้าน ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้แผงถูกลง เมื่อหมดอายุจะเอาไว้ที่ไหน ที่เขาบอกว่าเอาทะลายปาล์มมา เอากะลามะพร้าวมา เอาไม้ยางพารามา เอามาทำเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ทำผลิตโรงงานย่อยตามหมู่บ้าน ตำบล ถามว่าถ้าหน้าฝนฟืนเปียกทำอย่างไร กะลามีตลอดไหม มันก็มีคำถามที่ถามต่อไป

นายศิริพัฒกล่าวอีกว่า สิ่งที่ผมอยากจะขอกราบเรียนทางพี่น้องประชาชนว่า อย่าไปคิดตกใจว่า รัฐบาลกำลังจะทำโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ตัดสินใจแล้วจะทำประชาพิจารณ์ ขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิง นี่ไม่ใช่ประชาพิจารณ์ นี่ไม่ใช่การจัดทำรับฟังความคิดเห็นพี่น้องประชาชนตามกฎหมายประชาพิจารณ์เด็ดขาด ไม่ใช่ไม่เกี่ยว ความรู้ที่ได้ ความคิดเห็นที่ได้จะนำไปมอบให้ คสช. ซึ่งดูแลนโยบายทั้งหมดของการบริหารประเทศ แล้วจะไปบอกรัฐบาลว่าต่อไปในแต่ละภาคจะทำอย่างไร นี่เป็นขั้นแรกที่จะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลอยู่ในมือที่กล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำ และเตรียมเป็นพื้นฐานในการทำประชาพิจารณ์ในแต่ละภาคในโอกาสต่อไป

“พลังงานที่จะขาดแคลนในอนาคตนั้นไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ ตนว่าทั้งประเทศพลังงานน้ำที่เราพึ่งอยู่เกือบเยอะ จากเขื่อนยันฮี เขื่อนภูมิพลแทบจะหวังยากแล้ว พลังงานจากลาวเดี๋ยวเขาขึ้นเอา ๆ พลังงานมาเลเซียก็เช่นเดียวกันก็แล้วแต่เขาจะขึ้นราคาเมื่อไหร่เราก็แย่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพลังงานควรจะเป็นพลังงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยดีที่สุด จะเป็นน้ำ เป็นลม เป็นแดด เป็นไม้หรือมูลสัตว์ หรืออื่น ๆ จะต้องเป็นทางเลือกที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เราไม่หวังพึ่งต่างชาติ” นายศิริพัฒ กล่าว