สนช. หลังพิงเชือก 30 มีนา ชี้ชะตาอนาคตพลังงานประเทศ (24 มี.ค. 60)

energynews 24 มีนาคม 2560
สนช.หลังพิงเชือก 30 มีนา ชี้ชะตาอนาคตพลังงานประเทศ

ถ้ายังจำกันได้ ประเด็นการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ในฉบับของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นั้นผ่านการพิจารณาวาระแรกของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่วันที่24 มิ.ย.2559 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น คือ มติ 152 ต่อ 5 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม งดออกเสียง 16 เสียง และมติ 154 ต่อ 2 เสียงรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม งดออกเสียง 17 เสียง ทั้งๆที่ช่วงเวลาดังกล่าว สนช. ก็เผชิญกับแรงกดดันจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่ระดมมวลชนมากดดันที่หน้าสภา เพื่อให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ออกไป

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของที่ประชุม สนช. ที่เดินหน้าพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ตามสัญญาณของรัฐบาล ซึ่งให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาในรายละเอียด 21 คน ให้เสร็จภายใน 60 วัน มีเวลาแปรญัตติ 15 วัน แต่พอเอาเข้าจริง กลับถูกคณะกรรมาธิการที่มีพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ขอขยายระยะเวลาพิจารณาเรื่อยมา ถึง 6 ครั้ง รวม 210 วัน สิ้นสุดวันที่ 20 มี.ค.2560  แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ขอความร่วมมือไปยัง สนช. ให้เร่งพิจารณากฎหมายดังกล่าว ให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.2559 แต่ก็ไม่เป็นผล

เกมยื้อของคณะกรรมาธิการชุดพลเอกสกนธ์ นั้นต่อรองจนรัฐบาลยอมให้มีการแก้ไขนิยามของคำว่า Service Contract ที่เดิมเขียนไว้ว่าสัญญาจ้างสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ให้เปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างบริการ โดยให้เหตุผลว่าจะครอบคลุมความหมายที่กว้างกว่า  รวมทั้งต่อรองในประเด็นสำคัญ ให้รัฐบาลยอมให้แก้ไขร่างเพิ่มเติมให้มีการบรรจุเรื่องของการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (National Oil Company ) หรือ NOC เอาไว้ในบทเฉพาะกาล เป็นมาตราที่10  โดยเขียนเนื้อหาให้มีการจัดตั้งได้เมื่อหน่วยงานรัฐมีความพร้อม คำนึงถึงผลการศึกษา ในรูปแบบและรายละเอียด 

โดยเมื่อเกมต่อรองของคณะกรรมาธิการบรรลุผล จึงทำให้พลเอกสกนธ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า คณะกรรมาธิการจะไม่มีการขอขยายระยะเวลา     การพิจารณาพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับออกไปอีก โดย สนช. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาวาระ 2 แล ะ3 ของร่างกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 30 มี.ค.2560 ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตามในฝั่ง คปพ. ที่คัดค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับมาตั้งแต่ต้นนั้น ก็ยังคงเดินเกมกดดัน สนช. โดยมีการนัดหมายมวลชน ให้มีพร้อมเพรียงกันเพื่อค้าน ไม่ให้ สนช. ผ่านร่างกฎหมายปิโตรเลียม โดยยังยืนยันข้อเรียกร้องเดิมที่จะให้มีการถอนร่างกฎหมายออกไป

สำหรับประเด็นการตั้ง NOC ที่ถูกบรรจุเข้ามาในร่างกฎหมายในภายหลังนี้  เป็นที่กังวลของภาคเอกชนในวงการพลังงานและประชาชนที่สนใจติดตามสถานการณ์  เพราะมีตัวอย่างความล้มเหลวของ NOC ในหลายประเทศ ที่ฉุดให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ติดหล่ม ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมอยู่ในอันดับต้นๆของโลก  ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เวเนซุเอลาและเม็กซิโก

โดยเมื่อเร็วๆนี้ (6-12 มี.ค.) คณะผู้บริหารของปตท.ก็พาสื่อมวลชน และคอลัมนิสต์ เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการปฏิรูปพลังงานที่ประเทศเม็กซิโก  ซึ่งมีกรณีตัวอย่างความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน ที่ไปยึดกิจการพลังงานต่างชาติมาเป็นของรัฐเมื่อ80ปีที่แล้วละ ตั้งเป็นNOC ที่ชื่อพีเม็กซ์ (PEMEX) เพื่อดำเนินธุรกิจพลังงานแบบผูกขาด

 Pemex  นั้น เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโกที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ทั้งกำกับดูแล เป็นผู้ลงทุน และ เป็นโอเปอเรเตอร์ ของธุรกิจปิโตรเลียม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  ในลักษณะเดียวกับที่กลุ่มค้านค้านพ.ร.บ.ปิโตรเลียม อยากจะให้เป็น  ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ ธุรกิจของ PEMEX นั้นขาดประสิทธิภาพ ไม่เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และขาดเงินลงทุน 

การสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมภายใต้ PEMEX นั้นสามารถทำได้อย่างเดียวคือการจ้างผลิต (service contract ) เพราะกฎหมายไม่เปิดช่องให้มีการร่วมทุนกับต่างชาติ  ทำให้ PEMEX กลายเป็นผู้ลงทุนและรับความเสี่ยงเองทั้งหมด  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปริมาณสำรองปิโตรเลียมลดลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีการสำรวจแหล่งใหม่ๆ โดยเฉพาะปิโตรเลียมที่อยู่ในทะเลลึก จนในที่สุดเม็กซิโกต้องนำเข้าน้ำมันเข้ามาใช้บริโภคภายในประเทศ  ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ดินจำนวนมหาศาล จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เม็กซิโกต้องปฏิรูปพลังงานอย่างเร่งด่วน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเชิญชวนให้บริษัทน้ำมันรายใหญ่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในด้านต่างๆ ทั้งสำรวจพื้นที่น้ำลึก ลงทุนโรงกลั่น ธุรกิจปั๊มน้ำมัน รวมทั้งการปรับราคาน้ำมันขึ้นไปตามกลไกตลาด และเรียกเก็บภาษีน้ำมันเพื่อนำรายได้จากภาษีมาพัฒนาประเทศ  เนื่องจากไม่สามารถที่จะคงนโยบายอุ้มราคาน้ำมันในประเทศต่อไปได้

การประชุม สนช. วันที่30 มี.ค. 2560 นี้ จึงมีความสำคัญต่ออนาคตพลังงานของไทย โดยเฉพาะประเด็นการตั้ง NOC ที่จะต้องพิจารณาให้ดี ซึ่งในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายในวาระที่2 และ3 นั้น ไม่จำเป็นที่ สนช. เสียงส่วนใหญ่จะต้องเห็นตาม คณะกรรมาธิการชุดพลเอกสกนธ์ โดยสามารถที่จะลงมติในวาระที่ 2 และที่จะยืนตามร่างกฎหมายเดิมของรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือ ที่ประชุม สนช. นั้นหลังพิงเชือก ที่จะต้องเร่งพิจารณากฎหมายปิโตรเลียมให้จบเพื่อนำไปสู่กระบวนการออกกฎหมายลูกและประกาศ ให้สามารถเปิดประมูลพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมสองแหล่งใหญ่ทั้งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุในปี2565-2566  ได้ และสามารถที่จะรู้ผลว่าเอกชนรายใดจะได้สิทธิในการเข้ามาบริหารภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งรัฐจะต้องให้ความชัดเจนกับเอกชนผู้รับสัมปทานรายเดิมก่อสัมปทานจะหมดอายุก่อนล่วงหน้า 5 ปี  เพราะหากการประมูลล่าช้าออกไปมาก  ผู้รับสัมปทานรายเดิมก็อาจจะปรับลดแผนการลงทุนของตัวเองลง ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยไม่ต่อเนื่อง  ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ

ทั้งนี้ ในกรณีที่ สนช. ผ่านร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับในวันที่ 30 มี.ค. จะมีขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้กฎหมายมีผลใช้บังคับ และจะต้องมีกฎหมายลูกอีก 5 ฉบับให้รองรับกับสัญญาแบ่งปันผลผลิตและสัญญาจ้างผลิตที่เพิ่มเข้ามาใหม่  ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะต้องไปจัดทำรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งจะต้องมีการออกประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดรูปแบบการให้สิทธิแต่ละแปลงว่าจะใช้ระบบใดในการบริหารจัดการ เพื่อให้เอกชนได้มีการเตรียมความพร้อม โดยขั้นตอนการผ่านกฎหมายลูกดังกล่าวนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน นับตั้งแต่เปิดรับฟังความเห็น

หลังจากนั้น จึงจะเข้าสู่การขั้นตอนประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาร่วมประมูล ระยะเวลาอีก4 เดือน เพื่อนำไปสู่การยื่นการประมูล และติดสินหาผู้ชนะ รวมระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 7 เดือน ซึ่งหากขั้นตอนต่างๆ เดินหน้าไปตามนี้  ก็สามารถที่จะรู้ว่าใครเป็นผู้ชนะการประมูล ภายในสิ้นปีนี้ได้

30 มี.ค นี้จึงต้อง วัดใจ สนช. เสียงส่วนใหญ่ว่าจะพิจารณาผ่านกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็เลื่อนกันมาจนถึงเส้นตายสุดท้ายแล้ว