"หมอสุภัทร" ชี้ นักวิชาการพร้อมเข้าร่วมเวทีถกโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เชื่อพูดคุยในช่วงสั้นๆ ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ (24 มี.ค. 60)

มติชนออนไลน์ 24 มีนาคม 2560
นักวิชาการ พร้อมเข้าร่วมเวที ถก โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เชื่อ พูดคุยในช่วงสั้นๆ ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ

วันที่ 24 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงาน จากจังหวัดสงขลา ถึงกรณีปัญหาความขัดแย้งในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในจังหวัดกระบี่และสงขลา ซึ่ง คสช.เตรียมจัดเวทีให้มีการหารือเพื่อถกปัญหาร่วมกัน ใน 3 โซน 12 จังหวัด ในวันที่ 27 มีนาคม โดยใช้พื้นที่ 3 จังหวัดใหญ่ในการจัดเวทีได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่และสงขลา ซึ่งทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุน พร้อมที่จะเข้าร่วม เพื่อนำเสนอปัญหา ข้อกังวล ในเวทีนี้

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บอกว่า เครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านโครงการ ซึ่งรวมถึงนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ต่างก็พร้อมที่จะเข้าร่วมถกปัญหาในเวทีที่จะจัดขึ้น แต่ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก หากการจัดเวทียังคงเป็นรูปแบบเดิม ๆ คือ การกำหนดตัวบุคคล กำหนดกรอบการพูดคุยและกำหนดเวลาในการพูดแต่ละครั้งไม่เกินคนละ 5 นาที และใช้เวลาพูดคุยกันในระยะสั้นๆ ก็จะไม่ได้อะไรจากเวทีนี้เหมือนเดิม

นพ.สุภัทร กล่าวว่า ในการถกปัญหาความขัดแย้งนั้น ตนเองคงจะนำเสนอในเบื้องต้น ในเรื่องของการกำหนดข้อกังวลของประชาชน ก่อนจะหารือถึงแนวทางการพูดคุย ซึ่งเห็นว่าควรจะมีการพูดคุยให้มีการตกผลึกในแต่ละประเด็น คือแต่ละประเด็นควรจะมีการถกกันด้วยเหตุผลจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับ ได้ข้อสรุปที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ก่อนจะไปพูดคุยกันในประเด็นถัดไป เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการจัดเวที จึงไม่ควรที่จะกำหนดเวลา เพราะในระยะสั้นๆ จะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย ดังนั้นหากต้องการที่จะเห็นผลจากการพูดคุย จากการเปิดเวทีจริงๆ ก็ควรจะมีการเปิดกว้าง และพร้อมที่จะรับฟัง กันมากกว่าการใช้รูปแบบเดิมๆมาคุยกัน

นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่าข้อกังวลของเครือข่ายนั้นมีอยู่หลายเรื่อง เรื่องวิถีชีวิต อาชีพ ความเป็นอยู่ ความสมบูรณ์ของทะเล สิ่งแวดล้อม เรื่องการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งพยายามชี้แจงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบมาตลอด โดยในการจัดเวทีถกปัญหาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 มีนาคมนี้นั้นก็จะนำปัญหาข้อกังวลมาพูดกันอีกครั้ง แม้จะถูกกำหนดกรอบในการพูดคุย ที่อาจจะไม่ครอบคลุมสิ่งที่เราต้องการพูด เราก็ต้องพูด เพราะในเวทีนี้อยากให้ส่วนเกี่ยวข้องรับฟังปัญหา ข้อกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าในหลายจังหวัดภาคใต้ด้วย