ซื้อก๊าซมาเลย์ขึ้นโรงไฟฟ้าใหม่จะนะ รัฐดิ้นแก้ปม"ถ่านหินกระบี่"เลื่อนยาว (23 มี.ค. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 23 มีนาคม 2560
ซื้อก๊าซมาเลย์ขึ้นโรงไฟฟ้าใหม่จะนะ รัฐดิ้นแก้ปม"ถ่านหินกระบี่"เลื่อนยาว
ก.พลังงานดิ้นขยายโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนถ่านหินกระบี่ "อารีพงศ์" สั่งศึกษา "เพิ่ม" ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย (JDA) เตรียมขึ้นโรงไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ในพื้นที่โรงไฟฟ้าจะนะจ.สงขลา เผยมีก๊าซรองรับ รอเช็กราคาซื้อขายที่เหมาะสม
การต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิต 780 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องล่าช้าจากที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือ PDP (Pow-er Development Plan 2558-2579) กระทบเป็นลูกโซ่ถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ที่ยังไม่สามารถพัฒนาโครงการได้เช่นกัน แม้ว่า กฟผ.จะนำเสนอแผนสำรองเพื่อทดแทนคือการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ส่วนขยายของโรงไฟฟ้ากระบี่เดิมในปัจจุบัน แต่มีข้อจำกัดที่ว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่มีการวางท่อก๊าซมาก่อน ซึ่งหากต้องวางท่อก๊าซเพื่อรองรับการใช้แค่เพียงโรงไฟฟ้าโรงเดียวอาจจะไม่คุ้มค่าลงทุน ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้เตรียมศึกษาแผนสำรองเพิ่มเติมที่คาดว่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ส่วนขยายของโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ยังไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ โดยได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปศึกษาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเจรจากับ "ขอเพิ่ม" ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย หรือ JDA จากบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย จำกัด หรือ TTM (เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปิโตรนาส) ซึ่งในกรณีที่สามารถเพิ่มปริมาณก๊าซได้ จะให้ กฟผ.ไปพิจารณาทางเทคนิคต่อว่าจะดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมได้หรือไม่ เนื่องจากการหารือในเบื้องต้นพบว่า ในพื้นที่โรงไฟฟ้าจะนะ มีปัญหาน้ำที่มีค่าความกร่อยสูงและกระทบต่อระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าทำให้ศักยภาพลดลง ซึ่งหากแก้ไขข้อจำกัดนี้ได้จะช่วยทำให้โครงการมีความเป็นไปได้มากขึ้น
นายอารีพงศ์กล่าวว่า การไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ได้ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นทุกปีที่ร้อยละ 4 ส่งผลให้ภาคใต้มีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าตก-ดับได้สูง ในปัจจุบันแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านไฟฟ้านั้น กระทรวงพลังงานใช้วิธีส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านระบบสายส่ง ที่ได้ดำเนินการขยายเป็น 500 เควี และมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเข้ามาเสริมในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะการส่งไฟฟ้าผ่านสายส่ง หากเกิดปัญหาขึ้นกับระบบสายส่งอาจทำให้เกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ได้ ฉะนั้นภาคใต้จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้น
"ในเมื่อประชาชนในภาคใต้ต้องการโรงไฟฟ้าก๊าซ กระทรวงพลังงานจึงต้องมาศึกษาความเป็นไปได้ทุกแนวทาง ซึ่งพื้นที่ส่วนขยายของโรงไฟฟ้าจะนะดูเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ ที่ต้องเลือกก๊าซจาก JDA เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยตอนนี้กำลังผลิตเริ่มลดลง ปริมาณการผลิตที่มีก็มีผู้ใช้แล้วทั้งหมด ในขณะเดียวกันนโยบายของกระทรวงพลังงานต้องการจะยืดอายุแหล่งก๊าซในอ่าวไทย จึงเลือกที่จะใช้เจรจาขอก๊าซจากแหล่ง JDA เพิ่มเติม" ปลัดกระทรวงพลังงาน
ด้านนายวีรศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในส่วนของปริมาณก๊าซในพื้นที่ JDA สามารถรองรับในกรณีที่ไทยมีความต้องการเพิ่มเติมได้แน่นอน แต่ยังมีข้อจำกัดของท่อก๊าซที่อาจจะส่งมาเพิ่มไม่ได้เต็มที่ เพราะศักยภาพสูงสุดของท่อส่งก๊าซได้ที่ 1,020 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในขณะที่ปัจจุบันมีการส่งก๊าซจากแหล่ง JDA มาฝั่งไทยที่ปริมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจะส่งไปฝั่งมาเลเซียประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เท่ากับว่าจะเหลือศักยภาพที่อีก 220 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ฉะนั้นในกรณีที่โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ต้องการปริมาณก๊าซมากกว่าศักยภาพของท่อ อาจจะต้องมีการพิจารณาวางท่อใหม่เพิ่มเติมหรือไม่ ที่สำคัญคือในกรณีที่มีการเจรจาซื้อขายเพิ่มเติมใหม่ อาจจะต้องแก้ไขตั้งแต่ข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ใหม่ด้วย เพราะตามสัญญากำลังผลิตก๊าซส่วนเพิ่มเติมต่อจากนี้จะรองรับการใช้ในฝั่งมาเลเซีย
นอกจากประเด็นทางเทคนิคแล้ว ยังต้องพิจารณาการเจรจาสัญญาซื้อขายด้วยว่า ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหากราคาสูงเกินไปก็อาจจะไม่คุ้ม รวมถึงอาจจะมีประเด็นทางภาษีศุลกากรเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเดิมทีปริมาณก๊าซส่วนเพิ่มจะส่งไปยังฝั่งมาเลเซีย ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากส่งเข้ามาฝั่งไทยจะต้องมีการจัดเก็บภาษีเกิดขึ้น
"ยังต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นทางเทคนิคและคุ้มค่าที่หรือไม่ เช่น ต้องลงทุนวางท่อก๊าซเพิ่มหรือไม่ ราคาซื้อขายก๊าซจะเป็นอย่างไร เพราะไม่ต้องการให้กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าของประชาชน เร็ว ๆ นี้จะสรุปรายละเอียดนำเสนอต่อ ก.พลังงานต่อไป" อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯกล่าว
ในขณะที่นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ในฐานะโฆษก กฟผ.กล่าวว่า พื้นที่โรงไฟฟ้าจะนะของ กฟผ.ยังมีที่ดินเพื่อรองรับการขยายได้เพิ่มเติม แต่มีข้อจำกัดคือ สภาพของน้ำที่ต้องเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าเป็นน้ำกร่อย ซึ่งในกรณีที่มีความชัดเจนว่าจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมก็จะต้องหาวิธีการแก้ไขต่อไป นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ กฟผ.มองว่าอาจจะเป็นข้อจำกัดอีกคือ ศักยภาพของท่อส่งก๊าซที่มีในปัจจุบันจะสามารถรองรับปริมาณก๊าซที่ต้องส่งเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งคงต้องรอให้กรมเชื้อเพลิงฯ ยืนยันในประเด็นนี้
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 3,089.5 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 2,713 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเสี่ยง นอกจากนี้ความต้องการใช้ไฟในภาคใต้เพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ 4.7 แต่กลับไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ภาคใต้