สีทาบ้านอันตราย "สารตะกั่วเกิน" ทำเด็กไอคิวต่ำ (22 ต.ค. 56)

คมชัดลึก 22 ตุลาคม 2556
(อ้างใน เวบไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ - สสส., 22 ตุลาคม 2556)

สีทาบ้านอันตราย "สารตะกั่วเกิน" ทำเด็กไอคิวต่ำ

วิจัยชี้สีทาบ้าน 79% มีสารตะกั่วเกิน มาตรฐาน พบเด็ก 4 จว.มีสารตะกั่วในเลือดเกินค่าความปลอดภัย 12.9% ไอคิวต่ำ

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ห้องประชุมอาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  น.ส.วลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลง ผลการศึกษาสารตะกั่วในสีทาอาคาร ว่า จากการที่มูลนิธิบูรณะนิเวศทดสอบสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร ตามโครงการความร่วมมือเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสีในเอเชีย โดยสุ่มตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดของประเทศไทย จำนวน 120 ตัวอย่าง จาก 68 ยี่ห้อ ผลการตรวจสอบพบว่า ร้อยละ 79 มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ฉบับล่าสุด ที่กำหนดสีมีสารตะกั่วไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) และร้อยละ 40 มีปริมาณสารตะกั่วเกินที่ มอก.กำหนดถึง 100 เท่า คือมีมากกว่า 10,000 พีพีเอ็ม ซึ่งปริมาณสารตะกั่วสูงสุดที่พบคือ 95,000 พีพีเอ็ม ส่วนปริมาณที่น้อยที่สุดคือน้อยกว่า 9 พีพีเอ็ม     

"ผลจากการตรวจ วิเคราะห์พบว่า 8 ใน 29 ตัวอย่างของสีที่ติดฉลากว่า ไม่ผสมสารตะกั่ว มีปริมาณตะกั่วสูงเกิน 10,000 พีพีเอ็ม และจากตัวอย่างที่นำมาศึกษาพบว่ามีเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ผลิตสี คือ 15 บริษัท จากทั้งหมด 42 บริษัท ที่ผลิตตาม มอก.ฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเป็นไปแบบสมัครใจ คือ ไม่มีผลบังคับและลงโทษทางกฎหมาย ซึ่งปี 2553 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ปรับมาตรฐานสมัครใจเรื่องปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันให้เข้มงวดขึ้นจาก 600 พีพีเอ็ม เหลือเพียง 100 พีพีเอ็ม ดังนั้น หากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ติดสัญลักษณ์ มอก. การผลิตสีน้ำมันที่มีสารตะกั่วเกินมาตรฐาน จึงยังไม่ถือว่าผิดกฎหมาย" น.ส.วลัยพร กล่าว

ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี แถลง ผลการศึกษาสารตะกั่วในเลือดของเด็กไทย ว่า ศูนย์ฯ ได้สำรวจระดับสารตะกั่วในเลือดของเด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเขตอุตสาหกรรม 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทราสาคร และฉะเชิงเทรา จำนวน 1,526 คน พบว่า มีเด็กจำนวน 197 คน หรือร้อยละ 12.9 มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นค่าที่เกือบทุกประเทศกำหนดให้เป็นค่าความปลอดภัย นอกจากนี้ ได้สำรวจบ้านเด็กเหล่านี้จำนวน 49 ราย พบว่า ร้อยละ 92 หรือ 45 ราย มีการใช้สีน้ำมันทาบางตำแหน่งภายในบ้าน และพบว่าสีน้ำมันเหล่านั้นร้อยละ 55.6 หรือ 25 ราย มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 พีพีเอ็ม ส่วนการสำรวจฝุ่นผงภายในบ้านพบว่า ร้อยละ 22.4 หรือ 11 ราย มีสารตะกั่วในฝุ่นผงภายในบ้านสูงกว่า 400 พีพีเอ็ม

"สารตะกั่วเป็นอันตรายอย่างแน่นอน เพราะ มีผลกระทบทั้งแบบเฉียบพลัน คือ สมองบวม ซีด ถึงขั้นหยุดหายใจและตายได้ และแบบเรื้อรัง เช่น ปวดท้อง ปัญหาพฤติกรรม ทำลายสมอง ไตอักเสบ ที่สำคัญจากการศึกษาของแคนฟีลด์ (Canfield) และคณะพบว่า สารตะกั่วทำให้สติปัญญาของเด็กลดลงด้วย โดยสารตะกั่วที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (มคก./ดล.) จะทำให้ไอคิวลดลง 4.6 จุด โดยเฉพาะเด็กที่มีความเสี่ยงได้รับสารตะกั่วเข้าร่างกายได้มากกว่าผู้ใหญ่ ถึง 5 เท่า" รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวอีกว่า สีที่จะนำมาทาภายในบ้านของเด็กเล่น เฟอร์นิเจอร์ จะต้องมีการควบคุม นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องออกกฎหมายควบคุมแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องแสดงฉลากให้ชัดเจน โดยเฉพาะสีน้ำมันที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างว่า ไม่ใช่สีทาภายในบ้านแต่ประชาชนนำไปทาเองนั้นต้องมีฉลากชัดเจนว่ามีสารตะกั่ว เท่าไร และต้องระบุด้วยว่าห้ามใช้ทาอาคารภายในที่อยู่อาศัย เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องเล่นของเด็ก หรืออาจะระบุว่ามีสารตะกั่วสูงทำให้เด็กโง่ เป็นต้น หากมีการควบคุมจะสามารถช่วยลดระดับสารตะกั่วในเลือดของเด็กได้ ซึ่งในสหรัฐเห็นได้ชัดเจนว่า 20 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีการควบคุม ระดับสารตะกั่วมีการลดลงต่อเนื่องทุกปี       

นางเบญจมาพร เอกฉัตร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารมาตรฐาน 3 (เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค) กล่าวเรื่องสีปลอดสารตะกั่ว นโยบายที่เป็นจริงได้ ว่า สีปลอดสารตะกั่วสามารถเป็นจริงได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมมือกัน ซึ่ง สมอ.เองที่ผ่านมาได้กำหนดมาตรฐานสีแต่เป็นลักษณะแบบสมัครใจ คือ ถ้ามีความประสงค์ก็มาขอรับมาตรฐาน เมื่อดำเนินการตรวจสอบแล้วหากผ่านมาตรฐานก็จะให้เครื่องหมายรับรอง แต่หากภายหลังตรวจสอบพบว่า ผลิตแล้วไม่ได้มาตรฐานจะมีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรืออาจเพิกถอนใบอนุญาต

"สมอ.ถูกตั้งคำถาม จากหลายฝ่ายถึงเรื่องมาตรฐานสารตะกั่วในสีว่าเหตุใดจึง ไม่มีการบังคับเสียที ล่าสุด ได้เสนอบอร์ด สมอ.ให้บังคับมาตรฐานด้านความปลอดภัยทั้งหมดคือโลหะหนัก ของสีน้ำมันทั้ง 3 ตัว คือ แบบด้าน กึ่งเงา และเงา ซึ่งขณะนี้ยกร่างเสร็จแล้ว เหลือเพียงส่งให้กฤษฎีกาตีความ และประกาศใช้ต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งการบังคับนี้จะรวมไปถึงการนำเข้าด้วย เพราะเท่าที่ทราบคือผลตรวจสารตะกั่วที่พบว่าเกินเป็น 10,000 พีพีเอ็ม นั้น เป็นสีนำเข้าจากประเทศที่ระบุว่ามีการเลิกใช้สารตะกั่วแล้ว พร้อมกันนี้ อาจจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการทาสีใหม่ในอาคารที่มีอายุ 5-10 ปีด้วย ทั้งนี้ สีปลอดสารตะกั่วอาจไม่ได้หมายความว่าไม่มีตะกั่วเลย แต่จะต้องมีสารตะกั่วที่ไม่เกินค่ามาตรฐานกำหนด" นางเบญจมาพรระบุ