คุยกับ ดร.ไชยณรงค์ เหตุใดเขื่อนจึงไม่ใช่คำตอบของปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง (19 มี.ค. 60)
สำนักข่าวอิศรา 19 มีนาคม 2560
คุยกับ ดร.ไชยณรงค์ เหตุใดเขื่อนจึงไม่ใช่คำตอบของปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง
“...เรามักอ้างเรื่องเศรษฐกิจแต่ไปละเลยสิทธิของคนส่วนน้อยการทำแบบนี้ยิ่งทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมทางสังคมเพราะฉะนั้นหากต้องการความยุติธรรมคำพูดนี้ต้องเลิกใช้และมาคุยกันทุกฝ่ายว่าการจัดการน้ำควรเป็นอย่างไร เราต้องไม่พูดว่าใครต้องเสียสละมาคุยว่าเราจะจัดการน้ำทั้งระบบอย่างไรซึ่งทุกคนต้องเสียสละไม่ใช่เมืองไม่ต้องเสียสละแต่คนต้นน้ำต้องยอมเสียแบบนี้ก็ใช้ไม่ได้..." ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วง ปลายปีที่2559 ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้สั่งการมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ หาแนวทางติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว
ทางกรมชลประทานเผยว่าขณะนี้มีการศึกษาความเหมาะสมโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชหลายโครงการ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการบรรเทาปัญหาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโครงการตัดยอดน้ำก่อนเข้าเมือง ได้แก่ การขุดคลองระบายน้ำ 3 สาย พร้อมขยายสะพานรถยนต์และสะพานรถไฟ การปรับปรุงคลองธรรมชาติ 3 สาย ได้แก่ คลองหยวด คลองวังวัวและคลองตรุด รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำ 6 แห่ง และ 2. กลุ่มโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำในเมือง อาทิ สร้างเขื่อนริมตลิ่งคลอง และการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการเร่งระบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราช ที่ต่อมาคนในพื้นที่จะลุกขึ้นมาคัดค้านแนวคิดดังกล่าว หลังพบว่าไม่สามารถจัดการปัญหาน้ำท่วมได้จริง มิหน่ำซ้ำยังสร้างผลกระทบต่อพื้นที่ป่าสมบูรณ์อีกมาก (อ่านประกอบ ไม่แก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองนคร ชาวบ้านค้านโครงการ "8 เขื่อน 1 แม่น้ำ”)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) มีโอกาสพูดคุยกับทาง ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในนักวิชาการผู้สนใจประเด็นสาธารณะอย่างเรื่อง สิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากโครงการการพัฒนาของรัฐและเอกชน ผู้ที่จะมาช่วยตอบข้อสงสัยว่าเหตุใดเขื่อนจึงไม่ใช่คำตอบของการจัดการน้ำ ไล่ยาวไปจนแนวความคิดการพัฒนาของรัฐท่ีส่งผลต่อสิทธิการใช้ชีวิตของคนในสังคม
ISRA : เกิดอะไรขึ้นหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยในภาคใต้ช่วงปลายปี2559- ต้นปี 2560
ดร.ไชยณรงค์: เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคใต้ช่วงปลายปี คาบเกี่ยวต้นปีใหม่ มีเหตุการณ์สำคัญสองอย่าง ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีความพยายามผลักดันให้มีการสร้างเขื่อน 8 เขื่อน ขณะนี้ที่เพิ่มเป็น 10 เขื่อนแล้ว ต่อมาต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็มีการปลุกผีเขื่อนท่าแซะที่ชุมพรมาอีกเขื่อนหนึ่ง โดยอ้างว่าจะสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งปัญหาคือ พื้นที่เหล่านั้นมีชาวบ้าน เลยทำให้ชาวบ้านกลุ่มเหล่านี้ออกมาคัดค้าน
ISRA: ปัญหาน้ำท่วมหนักเบาไม่เท่ากันเกิดจากอะไร
ดร.ไชยณรงค์: เรามักได้ยินว่า สาเหตุในการเกิดน้ำท่วม มีสาเหตุหลักมาจากปริมาณฝนตกมาก แต่ต้องมองลึกไปว่า แต่ละในพื้นที่ทำไมเกิดความรุนแรงไม่เท่ากัน จะพบว่าสาเหตุการเกิดน้ำท่วมมีเงื่อนไขอื่นประกอยอีกมากมาย เช่น อำเภอบางสะพาน อำเภอกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ สาเหตุหลักของน้ำท่วมมาจาก การที่เขื่อนด้านบนกักเก็บน้ำเอาไว้เเละไม่ได้มีการพร่องน้ำเป็นระยะ ทำให้เมื่อมีฝนตกหนัก อ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ น้ำก็ล้นสันเขื่อน ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในบริเวณท้ายเขื่อน
ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หลายพื้นที่มีการทำเหมืองอยู่บนภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อดินโคลนถล่ม เพราะฉะนั้นนอกจากน้ำท่วม แล้วยังมีดินโคลนไหลมาด้วย ส่วนอำเภอชะอวด จ.นครศรีฯ เกิดจากปัญหาเดียวกันกับบางสะพานคือน้ำล้นสปิลเวย์ ในจังหวัดยะลามีลักษณะที่คล้ายกัน แต่ยะลาโดนหลังสุด กรมชลประทานมีคำสั่งให้เปิดประตูระบายน้ำ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการระบายน้ำ พร่องน้ำ เมื่อในฝนตกหนัก ก็ปล่อยน้ำไม่ทัน
ดังนั้นเวลาถามว่าทำไมพื้นที่เหล่านี้เกิดอุทุกภัยหนักเบาไม่เท่ากัน เราต้องไปดูว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่รายงานแค่ว่ามีปริมาณน้ำฝนมาก หรือบอกว่ายังไม่มีเขื่อนเก็บน้ำ ซึ่งหากดูในหลายพื้นที่อย่างบางสะพานที่เดือดร้อนหนัก และมีผู้เสียชีวิตด้วย ก็เกิดจากตัวเขื่อนที่มีน้ำล้นออกมา ไม่มีระบบการเตือนภัย ทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะรับมือกับเหตุภัยพิบัติได้ทันท่วงที
ISRA: ในบริบทโลกยุคใหม่ เขื่อนยังจำเป็นอยู่ไหม
ดร.ไชยณรงค์: ยุคสมัยการสร้างเขื่อนหมดไปแล้ว ต้องยอมรับว่าเขื่อนที่เราใช้เพื่อมาควบคุมจัดการน้ำนั้น ประเทศที่เป็นผู้ให้กำเนิดอย่างสหรัฐอเมริกา หรือในยุโรป เริ่มทยอยรื้อเขื่อนทิ้ง อย่างในสหรัฐฯขณะนี้รื้อเขื่อนออกไปแล้ว 1,100 แห่ง เฉพาะในรัฐนิวอิงแลนด์ ประมาณ 96 แห่ง รัฐเมน 26 แห่ง ซึ่งถ้าเรามองไปที่ประเทศผู้ให้กำเนิดเขื่อนจะพบว่า เขื่อนไม่ใช่เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการจัดการน้ำ การจัดการที่ดีที่สุดคือการให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระ และการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พื้นที่ชุ่มน้ำ ริมน้ำ เหตุผลในการรื้อเขื่อนเป็นเหตุผลพื้นๆ อย่างเช่น เขื่อนเหล่านี้ไปกีดขวางเส้นทางการอพยพของปลา ซึ่งคำนวนในทางเศรษฐศาสตร์พบว่า รายได้ในการจับปลามีมากกว่ารายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อน ขณะที่เขื่อนหลายแห่งต้องรื้อทิ้งเพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัย มีแต่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคลั่งการสร้างเขื่อน เพราะดันคิดไปว่าเป็นวิธีการจัดการน้ำที่ดีที่สุด เราไม่เคยเรียนรู้จากประเทศผู้ให้กำเนิดว่า ความคิดเกี่ยวกับเขื่อนเปลี่ยนไปแล้ว
ISRA: บทเรียนใกล้ตัวอะไรที่นักสร้างเขื่อนควรเรียนรู้
ดร.ไชยณรงค์: ตัวอย่างที่สำคัญคือโครงการเขื่อนผันน้ำโขงชีมูล ซึ่งลงทุนเป็นแสนล้านบาท มีการสร้างเขื่อน 13 แห่ง โดยอ้างเหตุผลของการแก้ปัญหา อีสานแล้ง เรื่องการได้น้ำมาอุปโภคบริโภค แต่หลังจากสร้างเขื่อนขึ้นมาพบปัญหาตามามากมาย น้ำในเขื่อนไม่สามารถมาใช้ได้ การเก็บกักน้ำทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม เขื่อนในจังหวัดร้อยเอ็ด เขื่อนพนมไพร ยโสธร ยิ่งทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยมากขึ้นในช่วงฤดูฝน เขื่อนเหล่านี้ไปกีดขวางทางน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมสองฝั่งแม่น้ำ ชาวบ้านพยายามสื่อสารปัญหาในจุดนี้แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานไหนรับฟังปัญหาเหล่านี้
ถ้าหากนักสร้างเขื่อนอยากเรียนรู้ว่าการสร้างเขื่อนบรรลุวัตถุประสงค์อย่างที่ได้วางแผนหรือไม่ ยังสามารถดูได้ที่เขื่อนปากมูล ที่เอาไว้ผลิตกระแสไฟฟ้า 136 เมกกะวัตต์ มีทุนการก่อสร้างที่ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในยุคนั้น 3,880 ล้านบาท แต่พอสร้างจริงต้องใช้เงินจริงกว่า 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ในขณะที่ไฟฟ้าที่ ผลิตได้จริงเพียง 36 เมกกะวัตต์
ผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งได้ยกกรณีของเขื่อนปากมูล เป็นหนึ่งในสิบกรณีศึกษาทั่วโลก พบว่าเขื่อนปากมูลผลิตกระแสไฟฟ้าที่กระปริดกระปรอย ซึ่งไม่คุ้มกับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนไปกีดขวางการอพยพของปลาแม่น้ำโขงที่ขึ้นมาตามลำน้ำมูล ที่จะไปล่อเลี้ยงคนอีสานตอนล่าง 7 จังหวัด แม้ทางเขื่อนจะบอกว่ามีบันใดปลาโจนที่ช่วยอพยพปลาขึ้นไปวางไข่ตามธรรมชาตินั้น ความจริงไม่สามารถทำได้ ทั้งยังพบว่าผลประโยชน์ในอ่างเก็บน้ำมีน้อยกว่าที่ชาวบ้านทำประมงตามธรรมชาติ
สุดท้ายพันธุ์ปลาหายไปแทบจะหมดแม่น้ำมูล ขณะผลได้ของผลิตไฟฟ้ามีเพียง 36 เมกกวัตต์ เทียบไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ต้องพูดถึงการอพยพผู้คน การสูญเสียอาชีพดั้งเดิม
ISRA: เราควรเริ่มจัดการน้ำจากจุดไหนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่สุด
ดร.ไชยณรงค์: ต้องมองทั้งลุ่มน้ำในบริเวณต้นน้ำต้องมีการควบคุมกิจกรรมของมนุษย์ไม่ให้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการเสี่ยงต่อการพังทลายของหน้าดิน ยกตัวอย่าง นครศรีธรรมราช มีลุ่มน้ำย่อยหลายลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำคลองกลายที่ไหลมาที่อำเภอท่าศาลา ด้านบนภูเขาต้องไม่มีการทำเหมือง ต้องหยุดกิจกรรมพวกนี้ หรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวต้องหยุด ต้องมีการปลูกพืชที่ผสมผสาน คนอยู่ด้านบนแต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรที่การเกษตรต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาการพังทลายของหน้าดิน
ถัดลงมา ในบริเวณกลางน้ำ บางพื้นที่ริมฝั่งน้ำเปลี่ยนจากพื้นที่ริมน้ำตามธรรมชาติเป็นพื้นที่เกษตรไปปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นอีกสาเหตุที่เมื่อน้ำไหลลงมาจากด้านบน ทำให้น้ำท่วม ไหลบ่ามากขึ้น การพังทลายของหน้าดิน หากมีการทำเหมืองบนภูเขา น้ำจะไหลบ่าอย่างรุนแรง และไม่ใช่แค่น้ำ จะมีโคลนมีท่อนซุง ก่อนหินตามลงมาด้วย ต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อดินโคลนถล่ม การปลูกต้นไม้บางชนิดที่เหมาะกับพื้นที่ริมน้ำเพื่อเป็นตัวชะลอ
ในส่วนพื้นที่บริเวณที่ราบ ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างและมีคนอยู่ กิจกรรมในพื้นที่ราบหลายกิจกรรมที่ทำให้เกิดอุทกภัย เช่นการสร้างถนนโดยไม่มีทางน้ำลอดหรือมีแต่แคบมาก ถนนหลายสายในภาคใต้บางจุดไม่มีทางน้ำไหลเลย เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วม เพราะน้ำไม่สามารถไหลลงล่างได้ ถนนกลายเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ดีๆ นี่เอง
การทำผนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ ต้องมีการทบทวน เพราะว่า ประตูระบายน้ำมักเป็นสาเหตุหนึ่งของการกีดกันการระบายน้ำ การสร้างประตูระบายน้ำต้องการควบคุมน้ำในหน้าแล้ง แต่ปัญหาคือเมื่อเข้าหน้าฝนจะกลายเป็นตัวกีดขวางการไหลของน้ำ แม่น้ำหลายสายในพื้นที่ราบมีการสร้างผนังกั้นน้ำ นั่นคือเขื่อนที่เลียบแม่น้ำทั้งสองฝั่งและทำให้ระบบการไหลของแม่น้ำตัดขาดจากพื้นที่ชุมน้ำ เพราะปกติน้ำจากแม่น้ำจะมีการเอ่อล้น ไหลไปยังทุ่งข้างๆ ซึ่งตรงนั้นคือพื้นที่คอยซับน้ำดีๆ แต่เราไปสร้างผนังกั้นน้ำสองฝั่ง เช่นในแม่น้ำบางปะกงตอนบน แม่น้ำปราจีนบุรี น้ำไม่มีที่ไปต้องไหลทางเดียว จากปกติที่ไหลบ่าออกไปยังพื้นที่ชุ่มน้ำข้างๆ หรือในส่วนบึงบอระเพชรที่คอยรับน้ำภาคกลาง บึงต้องไม่แยกขาดจากแม่น้ำเจ้าพระยา คือหน้าฝนน้ำต้องสามารถไหลเข้าบึงได้ ช่วงหน้าแล้งน้ำจากบึงก็จะค่อยปล่อยออกไปตามธรรมชาติลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ถ้าเราไปทำคันดินล้อมรอบบึงเมื่อไร พื้นที่ซับน้ำก็จะหายไป ตรงนี้ทำให้น้ำไหลลงมาตอนล่าง เข้าสู่ปทุมธานี กรุงเทพฯ เร็วขึ้นเพราะน้ำไม่ได้มีการรับไว้แต่ต้น
มองที่แม่น้ำปราจีนบุรี มีการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำไปทำสวนปาล์มขนาดใหญ่ เดิมเป็นทุ่งเช่นทุ่งบางเดชะ 28,000 ไร่แต่ไปทำคันดินล้อมรอบ สูบน้ำออก ปลูกสวนปาล์มยกร่อง น้ำก็ไม่มีที่ไป สุดท้ายก็ท่วมจังหวัดปราจีนบุรี
ประการต่อมาในพื้นที่ราบจะมีผังเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การเติบโตของเมืองในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งในรุกล้ำพื้นที่ชุมน้ำ จังหวัดประจวบไปสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ชุ่มน้ำ ไปสร้างห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ สร้างปั้มน้ำมัน ถมพื้นที่ชุ่มน้ำ หรืออย่างในนครศรีธรรมราช เอาพื้นที่ชุ่มน้ำไปสร้างสนามบิน หรือเอาไปเป็นพื้นที่ทิ้งขยะ ทั้งๆ ที่พื้นที่ตรงนั้นเป็นจุดรับน้ำไม่ให้น้ำท่วมเมือง
“เราไม่ปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำ เมืองก็ไม่มีพื้นที่รับน้ำในช่วงที่หน้าฝน น้ำก็ไหลบ่าเข้าเมือง จุดก่อสร้างๆ ต่างๆ ในเมือง ก็มีการบุกรุกพื้นที่ริมน้ำ ไม่มีการขุดลอกท่อระบายน้ำ”
บริเวณถัดจากเมืองคือปากแม่น้ำ หากมีการก่อสร้างใดๆ ริมปากแม่น้ำก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น พื้นที่แม่น้ำหลังสวน มีการสร้างกันคลื่น ปรากฏว่าเป็นตัวที่บีบให้น้ำไหลลงทะเลช้าลง และทำให้น้ำยกระดับท่วมชุมชนบริเวณปากแม่น้ำ ตอนนี้ปากแม่น้ำหลายสายในภาคใต้ กำลังมีการก่อสร้างเขื่อนหินกั้นน้ำ ที่เป็นตัวเร่งภัยพิบัติ
ดังนั้นการจะแก้น้ำท่วมต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำลงมา ซึ่งจะยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่เมืองเอาตัวรอดด้วยการไปสร้างเขื่อนด้านบน แล้วขุดคลองไม่ให้น้ำเข้าเมือง แต่เมืองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยจะไม่รับผิดเลยคงไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบและปกป้องไม่ใช่เอาเเค่เพียงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะถ้าคิดแบบนี้คนส่วนหนึ่งต้องแบกรับภาระในการจัดการภัยพิบัติ เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม
ISRA: นักพัฒนามักพูดว่า คนกลุ่มน้อยต้องเสียสละให้คนกลุ่มใหญ่ อาจารย์คิดยังไงกับคำนี้
ดร.ไชยณรงค์: คำพูดนั้นคือคำพูดเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนเราพูดได้เพราะคนเมื่อก่อนกลัวเจ้ากลัวนาย จะสร้างเขื่อนก็เรียกชาวบ้าน มานั่งพับเพียบฟัง รัฐบาลจะสร้างเขื่อนก็ยอม แต่สมัยนี้ไม่ใช่ ทุกคนรู้ว่าตัวเองมีสิทธิเหมือนกัน ตัวเองมีอำนาจในการตัดสินใจ มีการวิเคราะห์ว่าการดำเนินโครงการจะมีผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร ในยุคปัจจุบันการจะมาอ้างว่าคนส่วนน้อยต้องเสียสละยากมาก เพราะคนมีความรู้ ตระหนักถึงสิทธิของเขา สิ่งสำคัญคือในการพัฒนามักจะคิดแบบ เพื่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย
“เรามักอ้างเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไปละเลยสิทธิของคนส่วนน้อยการทำแบบนี้ ยิ่งทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมทางสังคม เพราะฉะนั้นหากต้องการความยุติธรรม คำพูดนี้ต้องเลิกใช้ และมาคุยกันทุกฝ่ายว่าการจัดการน้ำควรเป็นอย่างไร เราต้องไม่พูดว่าใครต้องเสียสละ มาคุยว่าเราจะจัดการน้ำทั้งระบบอย่างไร ซึ่งทุกคนต้องเสียสละไม่ใช่เมืองไม่ต้องเสียสละ แต่คนต้นน้ำต้องยอมเสีย แบบนี้ก็ใช้ไม่ได้"
ISRA: ประเด็นสุดท้าย ที่ผ่านมาอะไรคือปัญหาสิ่งแวดล้อมกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
ดร.ไชยณรงค์: ปัญหาเหล่านี้มีสองระดับ ระดับแรกคืออุดมการณ์ ในการพัฒนาในปัจจุบันเป็นอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก นั่นคือการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ในทุนสะสมทุนมากขึ้น ได้เร็วขึ้น ได้ง่ายขึ้นเราจะสังเกตเห็นได้ว่า ในช่วงสิบปี สิ่งที่เกิดขึ้นในการพัฒนาของรัฐไทย เน้นไปที่การเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น มีการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน มีการใช้กฎหมายเวนคืนที่ เร่งการทำลายธรรมชาติ เช่นระเบิดแก่งแม่น้ำโขง รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าขยะ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ คือต้องการให้ทุกได้สะสมทุน ปัญหาคือว่า เกิดสิ่งที่เรียกว่า การพัฒนาโดยการเบียดขับ ทุนได้ประโยชน์จากการพัฒนานั้น เช่นการทำเหมืองทองที่พิจิตร ที่เมืองเลย คนรอบข้างประสบปัญหาสุขภาพ มิหน่ำซ้ำยังไม่มีการแก้ไข ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาสู่เอง แถมยังโดนฟ้องปิดปากอีก ถูกดำเนินคดี นี่คือวิธีการเสรีนิยมใหม่
ประการที่สอง ภายใต้อุดมการณ์เหล่นี้ มีกลุ่มที่ได้ประโยชน์ เพียงไม่กี่กลุ่ม กลุ่มนักการเมืองข้าราชการธุรกิจ ซึ่งขึ้นอยู่ว่ากลุ่มไหนสามารถฉกฉวยได้ก่อน โดยเฉาะกลุ่มธุรกิจในท้องถิ่นที่มีเส้นสายกับนักการเมืองและข้าราชการ หรือแม้แต่พวกบริษัทข้ามชาติ อย่างกรณีเหมืองแร่ทองคำ คนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทจากออสเตรเลีย แต่คนแบกรับภาระสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางด้านสุขภาพ คือชาวบ้าน