"สีทาบ้าน"อันตราย พบสารตะกั่วเพียบ (22 ต.ค. 56)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 22 ตุลาคม 2556
"สีทาบ้าน"อันตราย พบสารตะกั่วเพียบ
ในงานแถลงผลการศึกษาในโครงการความร่วมมือเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสีในเอเชีย เรื่อง "สารตะกั่วในสีทาอาคาร" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม น.ส.วลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงว่า จากการทดสอบสารตะกั่วในสีน้ำมัน โดยสุ่มตัวอย่างสีที่วางจำหน่ายในท้องตลาดของประเทศไทย 120 ตัวอย่าง 68 ยี่ห้อ พบว่า ร้อยละ 79 มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ฉบับล่าสุด ซึ่งกำหนดสีมีสารตะกั่วไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน (ppm) และร้อยละ 40 มีปริมาณสารตะกั่วเกิน มอก.กำหนดถึง 100 เท่า คือมีมากกว่า 10,000 พีพีเอ็ม โดยปริมาณสารตะกั่วสูงสุดที่พบคือ 95,000 พีพีเอ็ม ส่วนปริมาณที่น้อยที่สุดคือ น้อยกว่า 9 พีพีเอ็ม
"ผลจากการตรวจ วิเคราะห์พบว่า 8 ใน 29 ตัวอย่าง ของสีที่ติดฉลากว่าไม่ผสมสารตะกั่ว มีปริมาณตะกั่วสูงเกิน 10,000 พีพีเอ็ม และจากตัวอย่างที่นำมาศึกษาพบว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ผลิตสี คือ 15 บริษัท จากทั้งหมด 42 บริษัท ที่ผลิตตาม มอก.ฉบับปรับปรุงใหม่ และเป็นแบบสมัครใจ ไม่มีผลบังคับและลงโทษทางกฎหมาย" น.ส.วลัยพรกล่าว
ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บใน เด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงผลการศึกษา "สารตะกั่วในเลือดของเด็กไทย" ว่าจากการสำรวจระดับสารตะกั่วในเลือดของเด็กที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเขต อุตสาหกรรม 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทราสาคร และฉะเชิงเทรา จำนวน 1,526 คน พบว่า เด็ก 197 คน หรือร้อยละ 12.9 มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงกว่า 10 มคล./ดล. ซึ่งเป็นค่าที่เกือบทุกประเทศกำหนดให้เป็นค่าความปลอดภัย นอกจากนี้ ได้สำรวจบ้านเด็กเหล่านี้ 49 ราย พบว่า ร้อยละ 92 หรือ 45 ราย มีการใช้สีน้ำมันทาบางตำแหน่งภายในบ้าน และพบว่าสีน้ำมันเหล่านั้น ร้อยละ 55.6 หรือ 25 ราย มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 พีพีเอ็ม ส่วนการสำรวจฝุ่นผงภายในบ้าน พบว่า ร้อยละ 22.4 หรือ 11 ราย มีสารตะกั่วในฝุ่นผงภายในบ้านสูงกว่า 400 พีพีเอ็ม
"สารตะกั่วเป็นอันตรายแบบเฉียบพลัน คือ สมองบวม ซีด ถึงขั้นหยุดหายใจและตายได้ และแบบเรื้อรัง เช่น ปวดท้อง ปัญหาพฤติกรรม ทำลายสมอง ไตอักเสบ ที่สำคัญจากการศึกษาของ Canfield และคณะพบว่า สารตะกั่วทำให้สติปัญญาของเด็กลดลง โดยสารตะกั่วที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (มคก./ดล.) จะทำให้ไอคิวลดลง 4.6 จุด และเด็กมีความเสี่ยงได้รับสารตะกั่วมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า" รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าว
นางเบญจมาพร เอกฉัตร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารมาตรฐาน 3 (เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค) สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานสีไว้แต่เป็นแบบสมัครใจ หากผ่านมาตรฐานผู้ประกอบการจะได้เครื่องหมายรับรอง แต่หากตรวจสอบภายหลังพบว่าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรืออาจเพิกถอนใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้เสนอบอร์ด สมอ.ให้บังคับมาตรฐานด้านความปลอดภัยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายการทาสีอาคารใหม่ที่มีอายุ 5-10 ปีด้วย
ที่มา : นสพ.มติชน