นับถอยหลังท่าเรือ "ปากบารา" วันนี้ล่ม! จับตารอบหน้า "ทหาร" เอาคืน (16 มี.ค. 60)
แนวหน้าออนไลน์ 16 มีนาคม 2560
นับถอยหลังท่าเรือ“ปากบารา” วันนี้ล่ม!จับตารอบหน้า“ทหาร”เอาคืน
“ท่าเรือปากบารา” กลับมาอยู่บนหน้าสื่ออีกครั้ง หลังมีรายงานข่าวว่า มีประชาชนหลายร้อยคน บุกเข้าควบคุมอาคาร โรงเรียนบ้านปากบาง อ.ละงู จ.สตูล ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค. 2560 เนื่องจากอาคารแห่งนี้ มีกำหนดจะใช้เป็นสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในช่วงเช้าของวันที่ 16 มี.ค. โดยกลุ่มประชาชนยื่นคำขาดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้..
“ยกเลิก” ล้มเวทีเสีย!!!
และแม้จะมีการนำกำลังทหารเข้าพื้นที่ แต่ สมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ยังคงยืนยันผ่านสื่อว่า ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่ต้องการให้มีเวที ไม่ว่าจะ ค.1 ค .2 หรือ ค.3 เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาดำเนินงาน “ไม่โปร่งใส” และโครงการใหญ่ระดับนี้ก็น่าจะทำให้รัดกุมกว่านี้ ที่ผ่านมาไม่เคยชี้แจงข้อดีข้อเสียให้ชาวบ้านได้รับรู้อย่างรอบด้าน มีแต่ให้ข้อมูล..
“ด้านดี” เพียงฝ่ายเดียว!!!
ท่าเรือปากบารา ที่ปัจจุบันเป็น “ชุมทาง” ของนักท่องเที่ยวได้ไปยังเกาะแก่งต่างๆ อาทิ เกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา หรือข้ามประเทศไปยัง เกาะลังกาวี มาเลเซีย แรกเริ่มนั้นอยู่ในแผนการพัฒนาที่ย้อนไปได้ไกลถึงปี 2532 ดังเอกสาร “แผนพัฒนาภาคใต้ภายใต้เงาอุตสาหกรรม” โดยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ (สช.) ระบุว่า รัฐบาลในขณะนั้น ต้องการวางแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เน้นไปที่..
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่!!!
แผนดังกล่าวเรียกว่า “สะพานเศรษฐกิจ” (land Bridge) เชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามันเข้าด้วยกัน มีทั้งถนน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน ต่อมาในปี 2534-2535 “สภาพัฒน์” สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทั้งไทยและต่างชาติ ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ จนมีข้อสรุปว่า ถ้าจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ “ก้าวแรก” ต้องมุ่งเน้นพัฒนาไปที่..
น้ำมัน-ปิโตรเคมี!!!
ทว่าโครงการ “ฝันใหญ่” ชิ้นนี้ต้องชะงักไป เมื่อไทยเจอพิษ “ต้มยำกุ้ง” วิกฤติเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุด ในปี 2540 แต่หลังจากนั้น เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลไทยก็หันกลับมา “ปลุกผี” โครงการนี้อีกครั้ง สำหรับภาคใต้ตอนล่าง มีแผนเชื่อม “สงขลา-สตูล” เข้าด้วยกัน ด้วย 2 ท่าเรือใหญ่ของเมือง คือท่าเรือสงขลากับท่าเรือปากบารา
แต่จนแล้วจนรอด..ท่าเรือปากบาราในฐานะ “ท่าเรืออุตสาหกรรม” ก็ไม่เคยได้สร้าง เพราะภาคประชาชนในพื้นที่ “กังวล” กับผลกระทบ อาทิ มติคณะรัฐมนตรี ปี 2550 ในส่วนของกระทรวงคมนาคม บรรจุท่าเรือปากบาราไว้ในยุทธศาสตร์ปี 2555-2559 และเริ่มทำการศึกษา EHIA ในปี 2552 แต่ต้องพบกับการ “ต่อต้าน” อย่างหนักหน่วง เพราะบริเวณที่สร้างท่าเรือเป็นแหล่งที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ทำกินสำคัญของ..
ชาวประมงพื้นบ้าน!!!
อาทิ 21 ก.พ. 2552 คณะของ เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ลงตรวจพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือปากบารา พร้อมรับฟังความคิดเห็น ณ เทศบาลตำบลกำแพง อ.ละงู กลุ่มผู้คัดค้านโครงการ นำเอกสารเปิดผนึกมายื่นให้กับ รมช.คมนาคม พร้อมกล่าวว่า โครงการพัฒนาครั้งนี้จะทำลาย “ความสงบ” และธรรมชาติอันบริสุทธิ์ใน จ.สตูล
2 ก.ค. 2553 ชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดราว 500 คน จัดขบวนรถแห่ ประกาศจุดยืนคัดค้านไม่เอาโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา รอบเขตเทศบาลเมืองสตูล ก่อนเข้ามารวมตัวกันคัดค้านภายในศาลกลางจังหวัดสตูล และยื่นหนังสือผ่านสำนักงานจังหวัดเพื่อส่งต่อถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
7 พ.ค. 2554 ประชาชนชาว จ.สตูล กว่าพันคน ปิดถนนสตูลธานี อ.เมือง จ.สตูล บริเวณหน้าศาลากลาง จ.สตูล ทางฝั่งขาออกตัวเมืองสตูล ประท้วงคัดค้านไม่เอาท่าเรือน้ำลึกปากบารา พร้อมกับย้ำว่า โครงการดังกล่าว “ละเมิดสิทธิชุมชนอย่างร้ายแรง” พร้อมกับยกบทเรียน “มาบตาพุด” จ.ระยอง ที่อุตสาหกรรมทำลายชีวิตคนท้องถิ่นจนพังพินาศ มีแต่นายทุนเท่านั้นที่รวยขึ้น คนเล็กคนน้อยแทบไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด
22 ต.ค. 2556 หลังทราบว่ารัฐบาลขณะนั้นใส่โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไว้ใน “แผนกู้เงิน 2.2 ล้านล้าน” เครือข่ายประชาชน จ.สตูล ราว 100 คน แสดงออกคัดค้านเชิงสัญลักษณ์ด้วยการ “เดินเท้า” จาก อ.ละงู จ.สตูล ไปยัง อ.จะนะ จ.สงขลา พร้อมกับกล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะทำให้รัฐบาลไทยต้องถอน “เกาะเภตรา-เกาะตะรุเตา” ออกจากอุทยานแห่งชาติ ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่ง
21 ก.พ. 2558 ชาวบ้านกลุ่มชุมชนรักปากบารา จัดกิจกรรม “จุดไฟ..บอกรักปากบารา” บริเวณลาน 18 ล้าน ต.ปากน้ำ อ.ละงู พร้อมร่วมกันอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ว่า ทะเลอ่าวปากบารามีความสำคัญกับชาวบ้านเป็นอย่างมาก คือจุดศูนย์รวมเรื่องราวทั้งหมดของคนที่นี่ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นแหล่งหลอมรวมชีวิตที่หลากหลายเอาไว้ได้อย่างกลมกลืน ความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้หล่อเลี้ยงให้ผู้คนและชุมชน สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพความ “แน่วแน่” ในจุดยืนไม่เอาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ของชาวชุมชนปากบาราและชาว จ.สตูล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด หากคิดจะทำโครงการดังกล่าว ชาวชุมชนก็พร้อมแสดงพลังคัดค้าน ล่าสุด เวลาประมาณ 15.30 น. พล.ท.เจตน์พัฒน์ ศรีวงศ์ รอง ผอ.กอ.รมน.สตูล ประกาศยุติเวที ค.1 แล้ว แต่จะมีการตั้งเวทีใหม่ในอีก 45 วันข้างหน้า พร้อมดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย …
ท่ามกลางความรู้สึก “คับข้องใจ” จากผู้ที่เข้าร่วมหรือเอาใจช่วยการแสดงพลังหนนี้ ว่า เพื่อจะสร้างท่าเรือให้ได้ ถึงขนาดขนทหารออกมาเป็น “กองร้อย” เพื่อ “ประจันหน้า” กับประชาชน!!!