เสนอรวม "แผนพัฒนาพลังงานทดแทน" ของ กฟผ. 2,000 เมกะวัตต์ ไว้ใน "แผน PDP" (16 มี.ค. 60)

energynews 16 มีนาคม 2560
เสนอรวมแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของกฟผ.2,000เมกะวัตต์ไว้ในแผนPDP

กฟผ.เสนอแผนพัฒนาพลังงานทดแทนที่กฟผ.จะดำเนินการ2,000เมกะวัตต์ ให้รวมอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP2015) ที่กำลังจะมีการทบทวนใหม่ ซึ่งจะช่วยให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.เพิ่มขึ้นได้5% โดยเน้นโครงการพลังงานทดแทนที่เอกชนไม่สามารถที่จะลงทุนได้
        
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เปิดเผยว่า กฟผ.ได้เสนอแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน20ปีในส่วนที่กฟผ.จะเป็นผู้ลงทุนเอง จำนวน2,000 เมกะวัตต์ ให้กับกระทรวงพลังงานพิจารณา บรรจุเอาไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือPDP2015 ที่อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อปรับปรุงทบทวนแผนใหม่ โดยแนวทางดังกล่าว สอดคล้องกับ นโยบายของนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ(บอร์ด) กฟผ. ที่ต้องการจะให้ กฟผ.เป็นองค์กรหลักในการลงทุนด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะในส่วนที่เอกชนไม่สามารถลงทุนได้ และทำให้เกิดความเสถียร ซึ่งจะนำเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน(Energy Storage ) เข้ามาเสริม

โดยในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ที่เพิ่มสัดส่วนขึ้นมาจาก500เมกะวัตต์ เป็น2,000 เมกะวัตต์ นั้น จะมีนายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งจะมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการ เช่น โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี  โครงการโซลาร์เซลล์ที่แม่ฮ่องสอน และโครงการโซลาร์เซลล์ที่แม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นต้น

ด้าน นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศของ กฟผ.ถูกปรับลดลงมากเหลือเพียง 37% จากนโยบายที่ควรจะต้องอยู่ระดับ 50% เพื่อให้ กฟผ.มีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงไฟฟ้าประเทศและดูแลราคาค่าไฟฟ้าให้เหมาะสมตามนโยบายรัฐ  ทั้งนี้เหตุผลสำคัญที่ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้ากฟผ.ปรับลดลง เนื่องจากยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ตามแผน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ 
ทั้งนี้ฝ่ายบริหารของ กฟผ.มีการหารือกัน ที่จะรักษาฐานการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ให้กลับมาอยู่ระดับ 40% เท่านั้น โดยมองว่าฐานการผลิตที่ระดับ 50% คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากภาคเอกชนแสดงความสนใจการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยแนวทางที่ กฟผ.จะรักษาฐานการผลิต 40% เอาไว้ได้จะมุ่งเน้นไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพราะทิศทางไฟฟ้าโลกจะเน้นไปที่พลังงานสะอาดและรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนมากขึ้นเช่นกัน  โดยแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ ในระยะ20ปี จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เพิ่มขึ้นอีก 5% จาก 37% มาอยู่ระดับ 42%