"ปะการังพัง" - "ขาดการมีส่วนร่วม" เหตุผลหลักค้านท่าเรือปากบารา (16 มี.ค. 60)

Thai PBS 16 มีนาคม 2560
ปะการังพัง-ขาดการมีส่วนร่วม เหตุผลหลักค้านท่าเรือปากบารา-

เปิด 3 เหตุผลหลักในการคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือปากบารา จ.สตูล เครือข่ายชี้ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน รายงานสิ่งแวดล้อมไม่สมบูรณ์ ความคุ้มทุนของทรัพยากรที่ต้องเสียหาย

้ วันนี้( 16 มี.ค.2560) ผู้สื่อข่าวข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่จะมีการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือเวที ค.1 ของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้เข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือสผ.เพื่อขอให้ยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือปากบาราในวันนี้ออกไปก่อน แต่ไม่มีการยืนยันว่าจะสามารถยกเลิกการจัดเวทีได้หรือไม่ 

จากการตรวจสอบเหตุผลที่ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ได้เคยทำหนัง สือแจ้ง 3 เหตุผล ที่การจัดเวทีวันนี้ควรยกเลิก ผ่านไปยัง สผ.และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวเพราะรูปแบบกระบวนการ ไม่ได้สนใจการศึกษาผลกระทบภาพรวมในเชิงยุทธศาสตร์เลย

เครือข่ายค้านท่าเรือปากบาราระบุ 3 เหตุผลควรยกเลิก
โดยเหตุผล 3 ประการ ที่ทางเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เห็นควรให้ยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือ ค. 1 นี้ คือ

1.กระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในทุกระดับขั้นตอนรวมถึงการวางตัวของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ มิได้วางตนเป็นกลางในฐานะขององค์กรที่ถูกว่าจ้างจากหน่วยงานของรัฐ

2.รัฐบาลต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในภาพรวมของโครงการอย่างน้อย 3 โครงการร่วมกันคือ 1.โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา 2.โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 และ 3.โครงการรถไฟรางคู่เชื่อม ไม่ใช่แยกศึกษาเป็นรายโครงการอย่างที่กำลังทำกันอยู่ในตอนนี้ เพราะทั้งหมดนี้คือโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่ต้องการเชื่อมโครงข่ายการคมนาคม ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย จึงมิใช่แค่โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างเดียวเพียงลำพัง


3.รัฐบาลควรจะต้องศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบ โดยนักวิชาการที่มีความรู้ความชำนาญที่แท้จริง เพราะโครงการดังกล่าวเป็นชุดโครงการขนาดใหญ่ ที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง และจะต้องแลกกับฐานทรัพยากร แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ตลอดถึงสังคมวัฒนธรรมของ จ.สตูล โดยรวมที่หากสูญเสียไปแล้ว ซึ่งไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้

สำหรับโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาภาคใต้เป็น
Southern Seaboard โดยมีท่าเรือเป็นหมุดหมายแรก ท่าเรือน้ำลึกจะตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำปากบาราในอ อ.ละงู จ.สตูล ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งกินพื้นที่ขนาดราว 4,000 ไร่ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ

โดยระยะที่1 นั้นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 แล้ว

โดยมีกรมเจ้าท่า เป็นผู้พัฒนาโครงการปัจจุบันโครงการนี้ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งจะมีการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือเวทีค.1 ในวันนี้

ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมากระแสคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกมีหลายแง่มุมทั้งในแง่ของความคุ้มค่าและผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติโดยในกรณีของ "กองหินขาว" และเกาะอื่นๆ ในอาณาเขตการก่อสร้างที่ไม่ได้มีการระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเลย