นับหนึ่ง "โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่" กฟผ. หาที่ปรึกษาทำ EHIA ใหม่ (15 มี.ค. 60)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 15 มีนาคม 2560
นับหนึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่กฟผ.หาที่ปรึกษาทำEHIAใหม่

กฟผ.นับหนึ่งจัดทำ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ใหม่ คาดใช้เวลา 2 เดือนหาที่ปรึกษาพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่ต่อไป ผู้ว่าการ กฟผ.ระบุภาคใต้ต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อลดเสี่ยงไฟฟ้าตก-ดับ พร้อมนำความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคีมาปรับแก้ไข เตรียมเปิด 3 เวทีรับฟังความเห็น 27 มี.ค.นี้พร้อมกันที่กระบี่ สงขลา และสุราษฎร์ธานี

นายกรศิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีคำสั่ง "ยกเลิก" แบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่แล้วนั้น กฟผ.จะต้องดำเนินการจัดทำใหม่ทั้งหมด โดยภายใน 2 เดือนนี้จะดำเนินการหาที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญในการจัดทำ EHIA หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการเปิดรับฟังความเห็น (ค1) ในพื้นที่ต่อไป ซึ่งคาดว่าการจัดทำ EHIA จะใช้เวลาในการจัดทำรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยในช่วงที่ยังไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้นั้น กฟผ.ได้บริหารความเสี่ยงด้วยการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งที่กำลังขยายเพิ่มเป็น 500 KV ที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2562

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าพื้นที่ภาคใต้ที่เพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว ภาคใต้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟฟ้าตกหรือดับ ในกรณีที่ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้นั้น แม้ กฟผ.จะเตรียมแผนสำรองด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แต่ยังมีข้อจำกัดคือ ในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่มีการวางท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ศึกษาแล้วพบว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน ในกรณีที่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนทางด้านไฟฟ้าที่ถูกกว่าเช่น ประเทศมาเลเซีย ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ประเทศไทยใช้เพียงร้อยละ 11.6 และยังมีการคาดการณ์จากหลายหน่วยงานด้านพลังงานว่าในปี 2565 โรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีต้นทุนถูกกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิงที่ 80 สตางค์/หน่วย คิดเป็นมูลค่า 5,200 ล้านบาท

"ในปีཹ-62 สายส่งส่วนขยายจะแล้วเสร็จ ระหว่างนั้นไม่ต้องสนใจเลยว่าจะมีถ่านหินหรือไม่มี แต่ถ้าไม่มีพลังงานหลัก ภาคใต้ก็ยังมีโอกาสที่ไฟฟ้าจะดับมีสูง ถามว่าพลังงานหลักตอนนี้มีอะไรบ้าง ซึ่งก็คือ นิวเคลียร์ น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ต้องถามประชาชนว่าต้องการแบบใด แต่ไทยมีสัดส่วนการใช้ก๊าซค่อนข้างสูงอยู่แล้ว มันเป็นความเสี่ยงหากจะเพิ่มการใช้อีก จึงเหลือตัวเลือกสุดท้ายคือถ่านหินที่ต้นทุนต่ำและมีความมั่นคง"

ด้านว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ.กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ (13 มี.ค.) กฟผ.ได้หารือร่วมกับ สผ.ใน 2 เรื่องหลัก คือ EHIA จะเดินหน้าต่ออย่างไรภายหลังจากที่ กฟผ.ได้ถอนรายงานฉบับเก่าแล้ว ตามระเบียบปัจจุบันจะต้องนำความเห็นคณะกรรมการไตรภาคี และความเห็นของคณะอนุกรรมการแต่ละด้านมาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ EHIA ฉบับใหม่มีความสมบูรณ์มากขึ้นใน 3 เรื่อง คือ 1) ควรมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผนให้หมดภายในปีེ 2) ให้ศึกษาเพิ่มเติมว่าศักยภาพที่แท้จริงด้านพลังงานทดแทนในพื้นที่เป็นอย่างไร เนื่องจากยังมีความเห็นที่ต่างกัน และ 3) ภาคใต้จำเป็นต้องมีพลังงานทดแทนควบคู่กับพลังงานหลัก แต่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นถ่านหินเท่านั้น เท่ากับว่าอย่างไรก็ตามในพื้นที่ภาคใต้จะต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้น ซึ่ง กฟผ.จะต้องศึกษาความเหมาะสมต่อไป

ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอให้คณะกรรมการไตรภาคีเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำEHIA ใหม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งดังกล่าวจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการไตรภาคีชุดเดิมถือว่าหมดวาระไปแล้ว แต่หากรัฐบาลมีคำสั่งให้จัดตั้งก็สามารถดำเนินการได้ โดยอาจให้เข้ามามีส่วนร่วมได้ตั้งแต่ขั้นตอนการหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดทำ EHIA ได้ นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้หารือร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดให้ กฟผ.ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด 14 จังหวัด ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 มีนาคมนี้ รวม 3 เวทีพร้อมกัน คือ ที่จังหวัดกระบี่ สงขลา และสุราษฎร์ธานี พร้อมนำความเห็นสรุปให้ คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง