กฟผ. ชี้ "ถ่านหินกระบี่" เลื่อนอีก 2 ปี หวั่นใต้เกิดวิกฤติ/ค่าไฟพุ่ง 80 สต. ลุ้น เม.ย. - พ.ค. พีกทะลุ 3 หมื่นเมก (15 มี.ค. 60)

ไทยโพสต์ 15 มีนาคม 2560
ถ่านหินกระบี่เลื่อนอีก2ปี หวั่นใต้เกิดวิกฤติ/ค่าไฟพุ่ง80สต.ลุ้นเม.ย.-พ.ค.พีกทะลุ3หมื่นเมก

กฟผ. ชี้ ทำอีไอเอและ HEIA ใหม่ ต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ส่งผลต้องเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็น 67 ยันหากกระบี่ไม่เปิดใช้ถ่านหิน ก๊าซก็ทำไม่ได้ เหตุไม่มีใครส่งเชื้อเพลิงให้ หวั่นเกิดวิกฤติ ปี 65 ค่าไฟส่อพุ่งอีก 80 สต. หลังต้องนำเข้า LNG มาเป็นเชื้อเพลิงแทน จับตา เม.ย.-พ.ค. พีกทะลุ 3 หมื่นเมก

ายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ว่าล่าสุดต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีเอไอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ใหม่ทั้งหมดนั้น คาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1) ได้ภายใน 3 เดือนต่อจากนี้ และขั้นตอนทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลารวมกว่า 2 ปี ดังนั้นการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเลื่อนออกไป จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ปี 2564 เป็นปี 2567

"หากที่สุดแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ไม่สามารถดำเนินการ และต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้าเป็นเชื้อเพลิงก็จะไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ต่อท่อก๊าซให้ เพราะมองว่าไม่คุ้ม หรือหากต้องนำเข้าแบบคลังลอยน้ำ (เอฟเอสอาร์ยู) ก็จำเป็นต้องต่อท่อก๊าซจากทะเลเพื่อขนถ่ายอยู่ดี แต่ในอนาคตรัฐมีนโยบายที่จะประกาศให้กระบี่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลก็หมดสิทธิ์" นายกรศิษฎ์กล่าว

นายกรศิษฏ์กล่าวว่า กฟผ.ได้ประเมินว่า หากในปี 2565 ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยแอลเอ็นจีเมื่อเทียบกับถ่านหินแล่ว จะมีต้นทุนผลิตไฟที่แพงกว่าประมาณ 80 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 5,200 ล้านบาทต่อปี และในระยะยาวมูลค่าก็จะสูงขึ้นอีก ดังนั้นจึงอยากถามว่าจะเลือกอะไร ซึ่งหากไม่เลือกถ่านหิน กฟผ.ก็พร้อมจะทำตามใจลูกค้า

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซียมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ที่ 30% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 19% ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทยสูงกว่ามาเลเซีย และมีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งยังไม่ดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาตั้งฐานการผลิต

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่หลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ล่าสุดพบว่าภาคใต้มีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพียง 2 โรงเท่านั้น ที่มีความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับพลังงานหลัก ดังนั้นจึงไม่ตอบโจทย์เรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภาคใต้

“โรงไฟฟ้าหลักยังไงจำเป็นต้องมีเพื่อความมั่นคงประเทศ ที่ใช้พลังงานทดแทนมากเท่าใดก็ต้องมีพลังงานหลักสำรองไว้สูงมากเท่านั้น ปัญหานี้เห็นชัดกรณีออสเตรลีย ล่าสุดที่ไฟดับครั้งใหญ่เพราะมุ่งสู่พลังงานทดแทนแล้ว และลดสำรองพลังงานหลักคือถ่านหิน เมื่อเกิดปัญหาพลังงานทดแทนวูบไปไฟก็ดับ หากเราเอาพลังงานทดแทนมาใส่มากในภาคใต้ก็จะเสี่ยง” นายกรศิษฏ์กล่าว

นายกรศิษฏ์กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของประเทศไทย ในปี 2560 นี้ คาดว่าจะทยอยเกิดขึ้นในช่วง เม.ย.และเดือน พ.ค. โดยน่าจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าระดับ 30,000 เมกะวัตต์ หรือขยายตัวประมาณ 1.6% จากปี 2559 ที่พีกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ค.59 อยู่ที่ 29,619 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง.