คนแปดริ้ว "ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน" ยันกระทบเกษตรอินทรีย์ (16 มี.ค. 60)
ประชาไท 16 มีนาคม 2560
คนแปดริ้วไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ยันกระทบเกษตรอินทรีย์
ชาวฉะเชิงเทรารณรงค์หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ศึกษาพบสารปนเปื้อนกระทบเกษตรอินทรีย์ ยันป้องพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางอาหาร แนะใช้พลังงานหมุนเวียนทางเลือก ด้านกลุ่มทุนยื่น EHIA รอบที่ 4 ชาวบ้านนัดรวมตัวรอฟังผลกว่า 100 คน หลัง สผ. เลื่อนพิจารณาเป็นวันที่ 23 มี.ค. นี้
15 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวาน (14 มี.ค. 60) เวลาประมาณ 09.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “โรงไฟฟ้าถ่านหินกับผลกระทบต่อระบบเกษตรอินทรีย์” กรณี โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ฉะเชิงเทรา มีนักวิชาการอิสระและภาคประชาสังคมเข้าร่วมสรุปผลว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนส่งผลกระทบต่อเกษตรอินทรีย์ ประชาชนในพื้นที่ร่วมคัดค้านโครงการฯ อย่างเข้มแข็ง ล่าสุดกลุ่มทุนยื่นรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ต่อคณะกรรมการเชี่ยวชาญ (คชก.) รอบที่ 4 ขณะที่ขบวนการเกษตรอินทรีย์ จ.ฉะเชิงเทรา นัดรวมตัวกว่า 100 คนเพื่อรอรับฟังผลวันพรุ่งนี้ (16 มี.ค.60) แต่สํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แจ้งเลื่อนพิจารณาเป็นวันที่ 23 มี.ค.60 โดยที่ขบวนการเกษตรอินทรีย์ ยังยืนยันขอปกป้องแหล่งอาหารและน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ มองว่าโครงการนี้จะทำลายเกษตรอินทรีย์ พร้อมมีเสนอให้มีพลังงานหมุนเวียนทางเลือก เพื่อป้องกันภาระต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
'เกษตรทางเลือก' ยันกระทบเกษตรอินทรีย์
นันทวรรณ หาญดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ชาวบ้าน จ.ฉะเชิงเทราร่วมต่อสู้กันตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากเราพัฒนาการเกษตรและสร้างความเข้มแข็ง ศึกษาผลกระทบการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งที่กระบวนการเข้าถึงข้อมูลนั้นยากมาก กลุ่มทุนได้อ้างกฎหมายเอกชนเพื่อไม่ให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูล และชาวบ้านยังถูกการเมืองท้องถิ่นกีดกัน โชคดีที่มีรัฐธรรมนูญ ปี 50 ในมาตราที่เกี่ยวข้อง เราจึงยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อปกป้องพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ที่เราจะยอมไม่ได้
นันทวรรณ กล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ฉะเชิงเทรา เพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อพืชผักเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดย่อยในพื้นที่ที่ใช้ถ่านหิน จากบริษัทในเครือเดียวกัน ได้ส่งผลกระทบต่อสวนมะม่วงจนต้องโค่นทิ้ง เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนที่ขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม จะทำให้สูญเสียผลผลิตทางอาหารและน้ำจำนวนมาก ซึ่งในรายงาน EHIA ไม่มีการพูดถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งที่พื้นที่ฉะเชิงเทราเป็นแหล่งที่มีระบบนิเวศขนาดใหญ่ และเป็นหน่ออ่อนของภาคการเกษตรอินทรีย์ระดับต้นๆ
มองนโยบายประเทศไม่ไปในทิศทางเดียวกัน
วิฑูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการมูลนิธิสายใจแผ่นดิน กล่าวถึง ประเด็นความปลอดภัยต่างๆ จากโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนไว้ว่า ส่งผลกระทบต่อเกษตรอินทรีย์ เกิดสารปนเปื้อน โลหะหนัก ปรอทต่อพืชผลทางการเกษตร ด้านพัฒนาการสมองในเด็กแรกเกิด เสนอให้ศึกษาผลกระทบอย่างชัดเจน เนื่องจากรายงาน EHIA ไม่ได้คาดการณ์ความเสี่ยงไว้ และไม่มีคำถามด้านความปลอดภัย ที่สำคัญคือเทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการนั้นสะอาดจริงหรือไม่ ได้ติดเครื่องดักจับปรอทจริงหรือเปล่า หากมองภาพปัจจุบันยังไม่ค่อยดีไหร่ในเรื่องการผ่านหรือไม่ผ่านมาตรฐาน และการบริโภคหรือการเลือกซื้อ ไม่ซื้อ เนื่องจากมีสารปนเปื้อนในผลผลิตการเกษตร ส่วนข้อสุดท้ายนั้น เป็นเรื่องปกติที่นโยบายของประเทศไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น รัฐบาลประกาศสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และปุ๋ยเคมีไปพร้อมกัน
ชี้พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบ
กัญจน์ ทัตติยกุล เครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง กล่าวว่า ลุ่มน้ำคลองท่าลาดเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก แต่ในรายงาน EIA ไม่เคยบอกไว้ว่ามีปัญหาการใช้น้ำอย่างไรบ้าง โรงงานอุตสาหกรรมที่มีรายงาน EIA ไม่เคยทำบัญชีรายรับรายจ่ายการเข้าออกของน้ำ อีกทั้งปัญหาน้ำเค็มที่ทำให้ภาคการเกษตรต้องงดทำนา สถานการณ์ที่ชุมชนขาดแคลนน้ำในพื้นที่แม่น้ำบางประกงและแม่น้ำปราจีนบุรี จนสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดประกาศงดใช้น้ำ รวมทั้งใน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำดิบที่ผลิตน้ำประปา การทำไร่ทำสวนยังต้องอาศัยน้ำจืดจากแม่น้ำบางประกง แต่น้ำแห้งประมาณ 80 กม. จากทะเล หมากตายเพราะภาวะภัยแล้ง
กัญจน์ กล่าวต่อว่า พื้นที่การจ่ายน้ำของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค( กฟภ.) ในฝั่งตะวันตกจากแม่น้ำบางประกง การใช้น้ำจากท่าลาด หลายชุมชนไม่ได้รับน้ำประปาจาก กฟภ. ในปี 2560 น้ำอาจจะลดลงอีก 50 % และไม่มีใครพูดแทนระบบนิเวศของแม่น้ำบางประกง ชาวบ้านขาดแคลนน้ำจากคลองท่าลาดอาจจะล่มสลาย และการใช้ประโยชน์ของที่ดินทำพื้นที่เกษตรผสมผสาน สวนผลไม้ในพื้นที่ยังต้องอาศัยน้ำจืดจากแม่น้ำบางประกงเช่นกัน ชาวบ้านต้องปรับตัวโดยการสูบน้ำมาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแทน ส่วนการปลูกข้าวในลุ่มน้ำบางประกง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของข้าวหอมมะลิ สวนผสมผสานจำเป็นต้องใช้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะมีการขยาย กุ้ง ปลา อีกด้วย ทั้งนี้กลุ่มทุนเขายึดแม่น้ำเพราะต้องใช้ สรุปว่า สิ่งที่เราเห็นคือโครงการไม่เคยศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ เราจึงไม่ยอมให้โครงการขนาดใหญ่มาใช้น้ำ ทั้งที่ก็มีวิกฤติอยู่แล้ว
แนะพื้นที่บางประกงควรฟื้นฟูทางอาหาร
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ฉะเชิงเทรา ขนาดใกล้เคียงกับกระบี่ที่ต่อต้านกันไม่น้อย เป็นโครงการใหญ่ ประมาณ 1 ใน 4 ของแม่เมาะ ขบวนการเกษตรอินทรีย์ที่ฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดของภาคกลาง ผลิตพืชผักสำคัญป้อนเมืองหลวงอันดับหนึ่ง ใช้พื้นที่ ทำเกษตรอินทรีย์ 18,000 ไร่ รับใช้ประชากรกว่า 60,000 คน ในปีนี้เกษตรกร 500 ราย มีอัตราการขยายตัวของเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันรัฐบาลพูดถึงความไม่ปลอดภัยทางอาหาร และยินดีรับฝังความเห็นของประชาชน มีนโยบายให้โรงพยาบาล 18 แห่งนำร่องรับซื้อพืชผัก ดังนั้นโครงการนี้ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรอินทรีย์นั้นมีความขัดแย้งกับนโยบายของรัฐเอง
วิฑูรย์ กล่าวชื่นชมเครือข่ายการเกษตรทางเลือกในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ว่า ร่วมต่อสู้และคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนมาเป็น 10 ปี ตอนนี้ไม่มีเหตุผลที่ คชก. จะอนุญาตให้โครงการนี้ดำเนินงาน ปัญหาใหญ่คืออำนาจของคณะกรรมการชุดนั้นที่ประชุมห้องเล็ก สำหรับพื้นที่ทำการศึกษาต้องเสนอให้ประชาชนรับทราบ หากมีการอนุญาตให้รายงาน EHIA ผ่านก็จะไม่ชอบธรรม แล้วจะไว้ใจอย่างไร จำเป็นต้องท้วงติงในความรับผิดชอบของกลุ่มทุนนี้ต่อไป ส่วนยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาประเทศ คือ อาหาร ซึ่งเห็นว่า พื้นที่บางประกงควรฟื้นฟูทางอาหาร เรื่องนี้เป็นของทุกคนเพื่อสนับสนุนให้อยู่รอด
ยกงานวิจัยชี้สารปรอทส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร พัฒนาการสมอง
ศุภกิจ นันทวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้กล่าวถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงอาหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่สหรัฐอเมริกาแล้วว่า สารปรอทส่งผลต่อระบบห่วงโซ่อาหาร พัฒนาการและสมอง นี่คือความมั่นคงของสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก สำหรับความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า โดยภาพรวมระดับประเทศนั้นเหลือเฟือ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกิน เรามีไฟฟ้าสำรองเหลือเฟือไปถึง ปี 2572 ภาระโรงไฟฟ้าล้นเกิน ลองยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนที่ฉะเชิงเทรา เทพาที่สงขลา กระบี่ แม่เมาะที่ลำปาง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองก็ยังเท่ากับค่ามาตรฐานอยู่ดี สรุปคือ เรามีโรงไฟฟ้าสำรองล้นเกินแต่ก็ยังพยายามสร้างเพิ่ม เรามีพลังงานหมุนเวียนทางเลือกอยู่แล้วอาจจะต้องรับผิดชอบมากขึ้น แต่ไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้คนในพื้นที่แน่นอน
นันทวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงที่ไปที่มาว่า เราต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2550 การที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนขนาด 600 เมกะวัตต์ จ.ฉะเชิงเทรา ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ในเครือดับเบิ้ลได้ผ่านการคัดเลือก ชาวบ้านได้คัดค้านโครงการทุกวิถีทาง และตั้งแต่ปี 2555 บริษัทฯ ได้ยื่นรายงาน EHIA ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณามาแล้วทั้งหมด 3 รอบ ชาวบ้านเองก็ได้นำเสนอข้อมูลอีกด้านจากรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน ทำให้รายงาน EHIA ทั้ง 3 รอบไม่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก. แต่ล่าสุด บริษัทฯ ได้ยื่น EHIA อีกครั้ง เป็นรอบที่ 4 และจะมีการพิจารณาในวันที่ 23 มี.ค. 2560 นี้ที่สํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยชาวบ้านในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทราได้นัดรวมรับฟังผลในวันเดียวกัน
สผ. ขอเลื่อนกระทันหัน
นันทวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า จากเดิมที่ คชก. แจ้งไว้จะมีการพิจารณา EHIA ของกลุ่มทุนที่ยื่นเป็นรอบที่ 4 ในวันที่ 16 มี.ค. 60 เวลา 13.30 น. ทาง สผ. ขอเลื่อนกระทันหัน เนื่องจากคณะกรรมการได้ประชุมหารือกรณีที่ชาวบ้านยื่นหนังสือขอรับฟังผลพิจารณาร่วมด้วยประมาณ 100 คน แต่ช่วงบ่ายขากลับจากงานเสวนาที่จุฬาฯ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 60 ที่ผ่านมา ตนได้รับการติดต่อจาก สผ. เรื่องขอเลื่อนวันพิจารณาเป็นวันที่ 23 มีนานี้แทน
นันทวรรณ ยังให้ข้อสรุปจากงานเสวนา หัวข้อ “โรงไฟฟ้าถ่านหินกับผลกระทบต่อระบบเกษตรอินทรีย์” กรณี โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ฉะเชิงเทรา ที่สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2560 นั้นกลุ่มนักวิชาการมีความเห็นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้เกิดสารปนเปื้อนต่อเกษตรอินทรีย์ มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ทั้งนี้มีโรงไฟฟ้าในประเทศเหลือเฟือไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนเพิ่ม