ชาวบ้านรอบนิคมอุตฯภาคเหนือตอนล่าง รวมตัว "ค้านสร้างโรงไฟฟ้าขยะ" หวั่นก่อมลพิษ (15 มี.ค. 60)
มติชนออนไลน์ 15 มีนาคม 2560
ชาวบ้านรอบนิคมอุตฯภาคเหนือตอนล่าง รวมตัวค้านสร้างโรงไฟฟ้าขยะ หวั่นก่อมลพิษ
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม เวลา 10.00 น. ที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่างจังหวัดพิจิตร ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร ได้จัดเวทีแสดงความคิดเห็นของประชาชน ต่อการดำเนินการและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตกระแสไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ของบริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โดยจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมูลฝอยจากโรงงานอุตสาหกรรมจากทั่วประเทศ ขนาด 4 เมกะวัตต์ เพื่อนำประโยชน์จากพลังงานไฟฟ้ามาเป็นพลังงานทดแทน และเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าให้กับส่วนภูมิภาค จำนวน 3 โรง ภายในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่างจังหวัดพิจิตร
โดยขณะที่เริ่มมีการจัดประชุมแสดงความคิดเห็นได้มีชาวบ้านจำนวน 5 หมู่บ้าน จากต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี และตำบลใกล้เคียง ประมาณ 50-60 คน ซึ่งอาศัยอยู่รอบนิคมฯ รวมตัวถือป้ายคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว พร้อมกับรวมตัวกันไปคัดค้านภายในห้องแสดงรับฟังความคิดเห็นในห้องประชุมเพื่อให้มีการยุติการแสดงความคิดเห็น โดยอ้างว่าการที่จะมีแผนมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยนั้นมีการแอบทำกัน ซึ่งผู้นำท้องถิ่นไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้รับรู้ถึงผลดีและผลเสียต่อการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว อีกทั้งเชื่อว่าการนำเอาขยะจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจากที่อื่นๆ มาผลิตไฟฟ้าในนิคมภาคเหนือตอนล่างจังหวัดพิจิตร จะทำให้เกิดมลพิษต่างๆ จึงอยากให้นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง มีการทบทวนที่จะให้ก่อตั้งโรงไฟฟ้า อีกทั้งควรทำความเข้าใจชาวบ้านให้รับรู้ความจริง ไม่ใช่รับฟังเพียงผู้นำชาวบ้านบางกลุ่มเท่านั้น ระหว่างที่ชาวบ้านมีการถือป้ายคัดค้าน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.วชิรบารมี และรักษาความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรม มาดูแลความสงบเรียบร้อย
นายสุรพงษ์ หวังศิริเวช ที่ปรึกษาด้านเทคนิคบริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เปิดเผยว่า เราได้ลงพื้นที่และให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องโรงงานขยะให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ ที่ต.หนองหลุม จำนวน 12 หมู่บ้าน ซึ่งสถานที่ตรงนี้สามารถรองรับเรื่องการทำไฟฟ้าได้ สาเหตุที่เราเลือกที่นี่เพราะการผลิตไฟฟ้าของเราต้องใช้น้ำ นอกจากนี้ สถานที่แห่งนี้มีศักยภาพในเรื่องการลงทุน การขนส่ง เพราะจากที่นี่เราสามารถขนส่งเชื้อเพลิงมาจากสระบุรีสะดวกมาก นอกจากนี้ โรงงานไฟฟ้าขยะสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านการศึกษาให้กับนักศึกษา และชาวบ้านในท้องถิ่นได้
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ชาวบ้านออกมาคัดค้านในเรื่องนี้ ก็ต้องชี้แจงให้ชาวบ้านฟัง โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วงขนส่ง ช่วงระยะการดำเนินการ ซึ่งขยะทั้งหมดนั้นมาจากทั่วประเทศ ซึ่งขยะส่วนใหญ่นั้นมาจากชลบุรี ระยอง ฐานกำลังผลิต 4 เมกะวัตต์ เราจำหน่ายให้การไฟฟ้า 3 เมกะวัตต์ ที่เหลือเราใช้เองในโรงงานของเรา ฉะนั้นไม่ต้องกลัวเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเราตรวจสอบเรื่องมลพิษต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นสารไซเฟอร์ดอกไซด์ เรามีวิธีกำจัดได้อย่างหมดสิ้น สิ่งที่ชาวบ้านกังวลคือเรื่องมลพิษ ซึ่งเราก็ชี้แจงให้ทราบไปหมดแล้วว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีวิธีการที่ถูกต้อง ตั้งแต่ขนขยะจนถึงวิธีการผลิต ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องกังวลในเรื่องมลพิษ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับโรงงานไฟฟ้าขยะ ที่นิคมอุตสาหกรรม ที่มีกำลังผลิต 4 เมกะวัตต์นั้น ที่ผ่านมา มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม วิธีการขนขยะจากต้นทางถึงปลายทาง และวิธีการผลิต อย่างถูกวิธี แต่มีประชาชนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าขยะที่ขนมาจากทั่วประเทศ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า อาจจะมีสารพิษตกค้าง และก่อให้เกิดมลพิษในพื้นที่