พบ "ตะกั่ว" ในสีทาบ้านเกินมาตรฐาน100 เท่า (22 ต.ค. 56)
โพสต์ทูเดย์ 22 ตุลาคม 2556
พบ"ตะกั่ว"ในสีทาบ้านเกินมาตรฐาน100เท่า
โดย...ทีมข่าวในประเทศ
วลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ พร้อมด้วยนักวิจัยแถลงผลการทดสอบ “สารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร” ภายหลังสุ่มตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร 120 ตัวอย่างจาก 68 ยี่ห้อ ที่จำหน่ายตามท้องตลาดทั่วประเทศไทย
จากการทดสอบ พบตัวอย่างถึง 79% ที่มีปริมาณ “สารตะกั่ว” สูงเกินกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำหนด
ในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ปริมาณสารตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐานกว่า 100 เท่า นั่นหมายถึงมีปริมาณสารตะกั่วมากกว่า 1 หมื่นส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) ทั้งที่ มอก. กำหนดมาตรฐานไว้ให้มีสารตะกั่วได้ไม่เกิน 100 ส่วนเท่านั้น
หนำซ้ำปริมาณสารตะกั่วที่พบสูงสุดมีมากถึง 9.5 หมื่นพีพีเอ็ม ขณะที่ปริมาณสารตะกั่วต่ำสุดที่พบ คือ น้อยกว่า 9 พีพีเอ็ม
จากการตรวจสอบ “ฉลาก” ของสีน้ำมันทาอาคารที่ระบุว่า “ไม่ผสมสารตะกั่ว” จำนวน 29 ตัวอย่าง กลับพบ 8 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกิน 1 หมื่นพีพีเอ็ม
ทว่าข้อเท็จจริงที่ตรวจอาจมีประโยชน์เพียงสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคเท่านั้น นั่นเพราะปัจจุบันยังคงมี “ช่องว่าง” ทางกฎหมาย
กล่าวคือ มอก.ที่ใช้ในสีน้ำมันทาอาคารไม่มีการบังคับใช้ หรือมาตรการคาดโทษใดๆ อธิบายโดยง่ายคือเป็นไปแบบ “สมัครใจ” ผู้ประกอบการจะติดหรือไม่ติดสัญลักษณ์ มอก. ก็ได้
ที่สำคัญหากผู้ประกอบการไม่ได้ติดสัญลักษณ์ มอก. แล้วผลิตสีน้ำมันที่มีตะกั่วเกินค่าตาม ก็ไม่ถือว่ามีความผิดแต่อย่างใด
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่มีมาตรฐานแบบบังคับและข้อกำหนดเรื่องฉลาก ผู้บริโภคก็ไม่อาจทราบได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ใดปลอดภัย
“น่าเป็นห่วงมากคือเด็กเล็ก เพราะร่างกายดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า และเป็นช่วงที่สมองและประสาทมีความอ่อนไหว หากได้รับตะกั่วเข้าไปมากจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการทำงานของสมองไปตลอด ชีวิต”เพ็ญโฉม ระบุ
อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สป.) ให้เปลี่ยนมาตรฐานเรื่องปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารจากแบบสมัครใจเป็น มาตรฐานบังคับ และรับรองข้อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดมาตรการบังคับทางฉลาก ให้ระบุข้อความเตือนถึงอันตรายของสารตะกั่วในสีทาอาคาร ภายในสิ้นปี 2556
ด้าน อุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร เลขาธิการสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานผลการวิจัย และไม่ทราบว่ารายงานดังกล่าวใช้รูปแบบการวิจัยอย่างไร
อย่างไรก็ตาม สมอ. มีการกำหนดมาตรฐานของสีชัดเจนอยู่แล้ว และมีเจ้าพนักงานลงไปตรวจอย่างละเอียด หากไม่ได้มาตรฐาน ทาง สมอ.สามารถยึดอายัดผลิตภัณฑ์หรืออาจเพิกถอนใบอนุญาตได้ทันที
เรื่องนี้ สมอ.ให้ความสนใจเนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งนี้ขอให้ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศส่งข้อมูลมายัง สมอ. เพื่อให้ลงไปตรวจสอบอีกครั้ง
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ “โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว” เป็น 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุดอันมีปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาปีละกว่า 6 แสนราย โดยเด็กส่วนใหญ่อาศัยในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ
นี่เป็นปัญหาที่สามารถกำหนดมาตรการล้อมคอกได้ทันที ภาครัฐจึงควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน