ศาล "ยกฟ้อง" กรณี บ.ทุ่งคำ ฟ้องประธานสภาอบต.เขาหลวง ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (9 มี.ค. 60)
ประชาไท 9 มีนาคม 2560
ศาลยกฟ้อง กรณีทุ่งคำฟ้องประธานสภาอบต.เขาหลวง ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
สมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
ศาลพิพากษายกฟ้อง สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต.เขาหลวง กรณี บ.ทุ่งคำ ฟ้องผิดต่อหน้าที่ราชการ เหตุถอนเรื่องการขออนุญาติใช้ที่ดินส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทอง ออกจากการพิจารณา ศาลชี้ประธานสภาฯ ทำถูกต้องแล้ว และไม่ได้ทำให้หน่วยงานราชการเสียหายแต่อย่างใด
9 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลจังหวัดเลย ได้มีการนัดฟังคำพิพากษา กรณีบริษัททุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง ในฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีดำหมายเลข อ.244/2559
เวลา 09.00 น. สมัย ภักดิ์มี ได้เดินทางมาที่ศาล พร้อมกับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดกว่า 200 คน ที่เดินทางมาร่วมคำพิพากษาพร้อมให้กำลังใจแก่ประธานสภา อบต.เขาหลวง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้บริษัททุ่งคำ จำกัด ได้อ้างหนังสือที่ประธานสภา อบต.เขาหลวง ส่งถึงบริษัททุ่งคำ จำกัด เมื่อวันที่ 7 ก.ย 2559 ระบุว่า การประชุมสภาเมื่อวันที่ 28 ส.ค 2558 ได้ถอนเรื่องการขออนุญาติใช้ที่ดินส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองของบริษัททุ่งคำ จำกัด ออกจากวาระการประชุม โดยอ้างว่าคำขอของบริษัททุ่งคำ จำกัด ขัดต่อพ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรเนื่องจากการทำเหมืองแร่ไม่ใช่การทำเกษตรกรรม แม้ว่าสมาชิกมากสภา อบต. จำนวน 16 คน ได้อภิปรายอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่า แต่ประธานสภาฯ ได้ยุติการพิจารณาเรื่องของบริษัทลง ด้วยเหตุที่ประธานสภาฯ มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท นอกจากนี้ ยังเคยแสดงออกถึงการต่อต้านบริษัทมาก่อน การกระทำการดังกล่าวของประธานสภาฯ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา 157 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้บริษัทได้พยายามที่จะฟ้องร้องคดีเพื่อให้ศาลลงโทษประธานสภาฯ ในข้อหาเดียวกันนี้ ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.687/2558 ในกรณีที่ประธานสภาฯ ไม่นำเรื่องการขอต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าและพื้นส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด เข้าที่ประชุมสภาอบต.เขาหลวง คดีดังกล่าวนี้ศาลพิพากษา “ยกฟ้อง” เนื่องจากพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ไม่ชัดเจน ไม่สามารถรับฟังได้ว่าประธานสภาอบต.เขาหลวงผิดจริงตามข้อกล่าวหา
เวลา 10.00 น.ศาลพิพากษาคดีสมัย ภักดิ์มี ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ศาลมีความเห็นยกฟ้องในคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่า ระเบียบกรมป่าไม้ที่ให้ขอความเห็นทาง อบต. เพื่อประกอบการตัดสินใจ แม้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่โดยตรงของ อบต. เพียงแต่ว่าระเบียบกรมป่าไม้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีโอกาสได้สะท้อนปัญหา แสดงความคิดเห็นมาตั้งแต่ต้น เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาเมื่อมีการอนุมัติอนุญาตไปแล้ว อบต.ไม่มีอำนาจโดยตรงในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการขอใช้พื้นที่ป่าไม้
นายสมัย ภักดิ์มีได้จัดการให้มีการประชุมสภาแล้ว และได้เชิญหน่วยงานราชต่างๆ มาชี้แจงข้อมูล และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพูดถึงปัญหา ซึ่งศาลเห็นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมี 6 หมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าเหมือง และอีก 7 หมู่บ้านซึ่งมากกว่าที่ไม่ได้รับผลกระทบ ฉะนั้นการรับฟังข้อมูลเหล่านี้ จะเอาจำนวนมาตัดสินไม่ได้ว่าใครมากกว่าหรือน้อยกว่า ในเมื่อมีผลกระทบแล้ว แม้จะมีแค่หมู่บ้านเดียวก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานควรจะรับฟังเพื่อเอาไปประกอบการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นจะมีการลงมติหรือไม่ลงมติ ไม่ใช่สาระสำคัญ ในเมื่อนายสมัย ภักดิ์มีได้จัดให้มีการประชุมแล้ว ให้หน่วยงานต่างๆ แสดงความเห็น และได้นำบันทึกการประชุมที่มีการแสดงความคิดเห็นส่งไปให้หน่วยงานพิจารณา ถือว่าทำถูกแล้ว ไม่ได้ทำให้หน่วยงานราชการและโจทก์เสียหายแต่อย่างใด
สำหรับ เรื่อง ส.ป.ก. ก็มีหนังสือจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ชลอเรื่องนี้ และก็มีคำพิพากษาศาลที่ให้เพิกถอนระเบียบส.ป.ก.ที่อนุญาตให้ใช้ทำเหมืองแร่ทองคำได้ นายสมัย ภักดิ์มีได้เอามาประกอบการพิจารณา ศาลเห็นว่าการทำแบบนี้เป็นประโยชน์กับพื้นที่และราษฎร ไม่ได้ทำผิดกฏหมายเมื่อนายสมัย ภักดิ์มี ได้ทำเรื่องหารือกับส.ป.ก.แล้วและประกอบกับวันที่ประชุมสภาอบต.เขาหลวงที่ไม่มีมติในที่ประชุม ก็ทำไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะถ้าไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ศาลจึงพิพากษาว่า นายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต.เขาหลวงไม่มีความผิด ยกฟ้อง