"36 องค์กรประชาชนใต้" เดินสายจี้ 2 รมว. - ประธานอนุฯ สนช.ล้ม "ค.1" 2 ท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์ใต้ (7 มี.ค. 60)
MGR Online 7 มีนาคม 2560
36 องค์กรประชาชนใต้เดินสายจี้ 2 รมว.-ประธานอนุฯ สนช.ล้ม “ค.1” 2 ท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์ใต้
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “36 องค์กรประชาชนใต้” ส่งตัวแทนเข้ากรุงเดินสายยื่นหนังสือจี้ 2 รมว.คมนาคม -ทรัพยากรธรรมชาติ และประธานอนุฯคมนาคมทางน้ำและการพาณิชยนาวี สนช. ทบทวนกระบวนการศึกษา EIA-EHIA ที่ไม่โปร่งใส พร้อมให้สั่งล้มเวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึกปากบารา 16 มี.ค.นี้ และยกเลิก ค.1 ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่ดันทุรังทำไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่7-8 มี.ค.นี้ เครือข่ายภาคประชาชนจากภาคใต้รวม 36 เครือข่าย ได้ส่งตัวแทนนับสิบคน อาทิ นายสมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ และ นายรุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา เดินทางจากหลายจังหวัดของภาคใต้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อเดินสายยื่นหนังสือให้กับ 3 หน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย รมว.กระทรวงคมนาคม รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางน้ำและการพาณิชยนาวี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
สำหรับเนื้อหาของหนังสือที่ส่งให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงคมนาคม ระบุไว้ว่า ขอให้ตรวจสอบกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 จ.สงขลา ขณะที่หนังสือที่ส่งให้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในวันที่ 16 มี.ค.2560 และให้ทบทวนการกระบวนการจัดทำ EIA และ EHIA ในประเทศไทย ด้านหนังสือที่ส่งให้ พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางน้ำและการพาณิชยนาวี (สนช.) ระบุว่า ขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในวันที่ 16 มี.ค.2560 เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หนังสือที่ยื่นให้ทั้ง 3 หน่วยงานรัฐมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ การจัดทำ EHIA โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และโครงการก่อสร้างท่าเรือสงขลา 2 จ.สงขลา โดยกรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการไปแล้วนั้น ปรากฏว่ากระบวนการศึกษาเป็นไปแบบไม่โปร่งใส แถมก่อปัญหาต่างๆ มากมาย ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง มีการให้ข้อมูลแบบปกปิดและบิดเบือน ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจผู้แทนหน่วยงานรัฐ
นอกจากนี้ยังพยายามละเลยที่จะชี้ให้สังคมเห็นว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน” หรือ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” ซึ่งนอกจากท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่งแล้วก็ให้เชื่อมกันด้วยเส้นทางรถไฟสายอุตสาหกรรม ถนนมอเตอร์เวย์ ระบบท่อน้ำมันและท่อก๊าซ รวมถึงยังต้องมีการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ที่เป็นระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ อีกมากมายตามมา อย่างด้านการจัดหาแหล่งน้ำ เช่น เขื่อนท่าแซะ เขื่อนวังหีบ หรืออ่างเก็บน้ำรวมกว่า 20 แห่ง หรือด้านการจัดหาพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และนิคมอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคกระจ่ายทั่วภาคใต้ในอนาคต
“การที่รัฐบาลได้อนุมัติให้บริษัทที่ปรึกษาทำหน้าที่ศึกษาศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 จังหวัดนั้น ถึงขณะนี้ได้ใช้เวลาล่วงเลยไปแล้วหลายเดือน จึงเป็นข้อสังเกตว่า ที่สุดแล้วจะเป็นการสูญเสียงบประมาณไปโดยไม่ตอบสนองตามวัตถุประสงค์ และไม่เป็นไปตามความต้องการแท้จริงของคนสตูล ตลอดถึงไม่นำไปสู่การให้คำตอบกับสังคมโดยรวมต่อเรื่องนี้ได้อย่างแท้จริง ดังเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น แต่กลับจะยิ่งสร้างปัญหาอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามมาอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ต่อไป” ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือระบุไว้
ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ 36 เครือข่ายประชาชนภาคใต้ที่ยื่นให้ 3 หน่วยงานได้พิจารณาดำเนินการคือ 1.ต้องยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือ เวที ค.1 ที่บริษัทที่ปรึกษาดังกล่าวกำลังจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 16 มี.ค.2560 นี้ที่ อ.ละงู จ.สตูล ด้วยเหตุผลในความไม่ชอบธรรมด้วยประการทั้งปวงที่กล่าวไว้แล้ว
2.ต้องสั่งยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือ ค.1 ของโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่ได้จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2559 ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดให้มีการจัดเวที
3.จะต้องมีการตรวจสอบ และทบทวนรูปแบบวิธีการ และกระบวนการจัดทำ หรือศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ได้ทำไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการตรวจสอบถึงพฤติกรรมของบริษัทที่ปรึกษาทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้มีการวางตนอย่างเหมาะสม และ เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการทั้งหมดให้ได้มาตรฐานทั้งในการดำเนินการ และงานทางวิชาที่จะต้องเป็นที่ยอมรับร่วมกันเสียก่อน
4.ในฐานะรัฐบาลควรจะต้องกลับไปศึกษา หรือทบทวนระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งหมด เพื่อสร้างมาตรฐานให้เกิดการยอมรับการใช้เครื่องมือเหล่านี้ของสังคมไทย อันจะนำไปสู่การสร้างทางออกร่วมกันต่อโครงการพัฒนาต่างๆ ต่อไป
และ 5.ขอให้รัฐและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่จะให้กับประชาชนก่อนว่า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐหรือไม่ ข้อมูลถูกต้องสมบูรณ์ตรงตามเจตนารมณ์และมีคุณภาพเพียงพอ และมีกระบวนการกลไก รวมถึงระยะเวลาในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น
“ในข้อเสนอดังกล่าวนี้เชื่อว่าจะนำไปสู่การคลี่คลาย และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้ง 2 พื้นที่ได้ และหวังว่าท่านรัฐมนตรีจะเปิดใจรับฟัง และศึกษาถึงข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น และให้มีการการดำเนินการใดๆ ตามที่ได้เสนอไปแล้ว ให้มีการสื่อสารกับเครือข่ายประชาชนทั้ง 2 จังหวัดได้ในทุกขั้นตอนหลังจากนี้ไป” หนังสือส่งถึง 3 หน่วยงานรัฐระบุไว้ในตอนท้าย
สำหรับรายชื่อองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมสนับสนุนการยื่นหนังสือครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล 2.เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล 3.สถาบันศานติธรรม สตูล 4.ศูนย์วิจัยท้องถิ่นจังหวัดสตูล 5.กลุ่มรักจังสตูล 6.กลุ่มธุรกิจชุมชน “หุ่นไล่กา” จังหวัดสตูล 8.ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล 9.กลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด สตูล 10.ชมรมผู้พิการจังหวัดสตูล 11.สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ 12.ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน 13.สมาคมรักษ์ทะเลไทย 14.สมาคมชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำ 15.มูลนิธิอันดามัน 16.เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 17.สงขลาฟอรั่ม 18.กลุ่มบีช ฟรอไลท์ 19.PERMATAMAS 20.เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ 21.เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 22.เครือข่ายประมงพื้นบ้านอำเภอเทพา 23.กลุ่มผีเสื้อและดอกไม้ 24.กลุ่มปันรัก 25.เครือข่ายตำบลเนินพิจิตร 26.กลุ่มรีฟ กาเดี้ยน ไทยแลนด์ 27.กลุ่มรักถิ่นเกิดตำบลคู 28.สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา 29.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ 30.ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา 31.เครือข่ายทุ่งตำเสารักษ์ถิ่น 32.โครงการพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่ 33.สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านทะสาบสงขลา 34.เครือข่ายพลเมืองสงขลา 35.เครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิตภาคใต้ และ 36.เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคม