"เมืองคอน" จัดเวทีระดมความคิดเห็นชาวบ้านรอบบ่อขยะ-ด่าขรม! ประกาศเย็นแต่รุ่งเช้าเปิดเวที ชาวบ้านเตรียมตัวไม่ทัน (7 มี.ค. 60)
มติชนออนไลน์ 7 มีนาคม 2560
เมืองคอนจัดเวทีระดมความคิดเห็นชาวบ้านรอบบ่อขยะ-ด่าขรม! ประกาศเย็นแต่รุ่งเช้าเปิดเวที ชาวบ้านเตรียมตัวไม่ทัน
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่บริเวณฝายมีชีวิต หมู่ 2 ต.นาทราย อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นายดนัย เจียมวิเศษสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาบ่อขยะเทศบาลนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยคณะทำงาน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดเวทีรับทราบปัญหาความเดือดร้อน ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบ่อขยะเทศบาลนครนครศรีธรรมราช โดยมีผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในตำบลนาทราย ต.นาเคียน ต.ปากพูน และ ต.ท่างิ้ว และนักเรียน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นประมาณ 250 คน
นายดนัยกล่าวว่า วันนี้จังหวัดได้นำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องลงมารับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ ใครอยากพูดอะไร อยากระบายอะไร อยากให้จังหวัดช่วยเหลือเรื่องอะไร ให้บอกมา ทางศูนย์ดำรงธรรมจะได้รวบรวมปัญหา และทางคณะทำงานจะได้เยียวยาให้ตรงจุดความเดือดร้อน ต้องยอมรับว่าขยะมีทุกวัน แต่การทำลายน้อยกว่า รับเข้ามาจาก 58 ท้องถิ่น วันนี้มารับฟังเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้นคงต้องคุยกันอีกครั้ง ส่วนจะสร้างโรงงานกำจัดขยะหรือไม่อย่างไร เราค่อยคุยกัน ความเดือดร้อนมิใช่มีเพียงชาวบ้านเท่านั้น ทหารก็เดือดร้อนเช่นกัน เบื้องต้นต้องมาเยียวยากันก่อน เดือดร้อนเรื่องอะไร ต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องอะไร ก็ต้องบอกให้ทราบ ขณะนี้แนวทางที่คณะทำงานได้มีการพูดคุยกัน เพื่อลดปริมาณขยะให้ลดลงไปนั้น ด้วยการแยกทำลายขยะเป็นโซนๆ ไป เพื่อทำให้ขยะลดปริมาณลง
นายวัชรา ชุมธรรม กำนันตำบลนาทราย กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้ฉุกละหุก ได้รับทราบจากทางอำเภอเมืองช่วงเย็น รุ่งขึ้นจัดเวที เมื่อไม่ได้มีการเตรียมการก็จัดเวทีกลางทุ่ง โดยให้คณะทำงานหันหน้าเข้าหากองขยะ พร้อมดมกลิ่นขยะที่โชยมาแบบอ่อนๆ เนื่องจากอากาศแห้ง แต่หากอากาศชื้นจะได้รับเต็มๆ ทุกคนจะได้รับทราบว่ากลิ่นขยะเป็นแบบใด และชาวบ้านที่ต้องกิน นอน อยู่ในพื้นที่ต้องทนรับสภาพได้อย่างไร
นายชูชัย พิณมณี ชาวบ้านหมู่ 5 ต.ปากพูน อ.เมือง กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนชุมชนรายรอบบ่อขยะที่ได้รับผลกระทบทั้งทางกลิ่นและทางน้ำ ก่อนนี้พวกเราก็ได้ผลกระทบ แต่ชาวบ้านทุกคนคิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาให้กับตัวเองได้ ถึงแม้กระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดกับตัวเองได้ นี่คือธรรมชาติของชาวบ้าน แต่มารอบนี้หนักกว่าที่ผ่านๆ มา น้ำบ่อที่เคยใช้บริโภคก็ไม่สามารถดื่มได้ วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป
“ต้องการให้ทางจังหวัดบอกแนวทางการกำจัดขยะให้ลดน้อยลงได้อย่างไร จะด้วยวิธีการใดก็ตาม ถึงแม้ว่าเกิดวิกฤติบ่อขยะในเวลานี้ชาวบ้านก็ยังสามารถหาทางออกด้วยวิธีการของชาวบ้านเองได้ พวกเราช่วยตัวเองได้ หากภาครัฐตั้งใจและจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทำอย่างไรก็ได้ให้ภูเขาขยะหมดไปจากพื้นที่ พร้อมทั้งมีการเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านอาชีพเช่นด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง รวมทั้งสุขภาพอนามัย เพราะได้รับผลกระทบมานานกว่า 10 ปีแล้ว รวมทั้งการตรวจหาสารปนเปื้อนของตะกอนดิน น้ำใต้ดิน” นายชูชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการลงพื้นที่ไปพบปะประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า การที่ ทน.นครศรีธรรมราช ใช้วิธีการยกคันดินเพื่อกั้นน้ำเสียจากบ่อขยะ ก็ไม่สามารถช่วยได้ เนื่องจากลักษณะดินในบริเวณดังกล่าวเป็นดินเหนียวแบบอ่อนตัว แนวโน้มน้ำจะไหลซึมออกเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ดังนั้นจะต้องใช้วิธีการทางโครงสร้างของวิศวกร และทีมวิศวกรที่จะทำเรื่องนี้ได้ต้องหารือจากหลายภาคส่วน อย่าเอาแต่คนของตน พี่เราน้องเรา ขยะเป็นภัยคุกคาม ไม่ควรทำงานแบบแยกส่วน เหมือนทีมหมอที่รักษาคนไข้ ทีมที่มารักษาคนไข้จะเป็นหมอที่มีความเชี่ยวชาญทุกสาขา ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่ด้านนอกถึงภายใน เมื่อหมอเห็นคนไข้สามารถบอกได้ว่าคนไข้ที่จะต้องรักษาป่วยด้วยโรคอะไร จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร
“วันนี้จังหวัดยังคงทำงานแยกส่วน จึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ระยะเวลากว่า 2 เดือน ยังทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน พอเข้าที่ประชุมครั้งหนึ่งก็บอกว่า สิ่งที่เป็นมติในที่ประชุมต้องใช่ แต่ยังไม่ได้ทำงานกันเป็นทีม ยังไม่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น”