จับตากลุ่มหนุน-ค้าน สร้าง "โรงไฟฟ้าถ่านหิน" จ.กระบี่ (14 ก.พ. 60)
Thai PBS 14 กุมภาพันธ์ 2560
จับตากลุ่มหนุน-ค้าน สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่
วันศุกร์นี้ อาจมีความชัดเจนมากขึ้นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะเกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่ และ สงขลา หรือไม่ เพราะจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ท่ามกลางการเคลื่อนไหวทั้งกลุ่มสนับสนุน และ คัดค้าน
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ หรือ เปอร์มา ตามาส เตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร วันที่ 16 ก.พ.นี้ เพื่อคัดค้านและรอฟังผลการพิจารณาของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 17 ก.พ.ว่า จะเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งใน อ.เทพา จ.สงขลา และ จ.กระบี่ หรือไม่ หลังนายกรัฐมนตรี สั่งชะลอโครงการตั้งแต่ปลายปี 2558
ขณะที่กลุ่มสนับสนุน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายอำเภอเหนือคลอง เมื่อวันที่ 9 ก.พ. เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างฯ เนื่องจากเป็นความมั่นคงของประเทศ
ขณะที่นายธีระพงษ์ สันติภพ นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่า ภาครัฐ อาจต้องทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA ) อีกครั้ง และเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายสะท้อนข้อมูลและเห็นว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ตามแผนงานเคร่งครัด รวมถึง การลำเลียงขนส่งถ่านหิน
ขณะที่กระทรวงพลังงาน ระบุว่า พร้อมสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยมีนโยบายรับซื้อในรูปแบบสัญญาเสถียร และ แบบสัญญาณเสถียรตามช่วงเวลา ด้านนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า วันที่ 17 ก.พ. จะได้คำตอบว่า จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อหรือไม่
สภาพธรรมชาติที่สวยงามใน จ.กระบี่ ซึ่งเป็นจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว สร้างรายได้เป็นอันดับ 5 ในประเทศ จนนำไปสู่การทำปฏิญญา Krabi Goes Green ระหว่างภาครัฐ และภาคีเอกชน ผลักดันให้กระบี่ เป็นผู้นำด้านพลังงานสีเขียว ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเกือบ 50 ราย สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองจากพลังงานหมุนเวียน และภาครัฐเคยสนับสนุนจริงจังตั้งแต่ปี 2555 แต่เมื่อภาครัฐ พยายามเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้ จึงทำให้หลายกลุ่ม ออกมาคัดค้าน
สำหรับโครงการไฟฟ้าถ่านหิน นายกรัฐมนตรี สั่งระงับตั้งแต่ปลายปี 2558 จากนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีศึกษาผลกระทบและแนวทางการใช้พลังงานทดแทนแต่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า ภาครัฐไม่ได้ข้อสรุปว่า จะตัดสินใจอย่างไร ขณะที่ผู้ประกอบการยืนยันว่า กระบี่มีศักยภาพมากพอในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และเกินขีดความสามารถของการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ หากภาครัฐสนับสนุนจริงจัง