สปก. ไล่รื้อสัญญาเช่าทั่ว ปท. - ผิดเงื่อนไขยกเลิกใบอนุญาต (14 ก.พ. 60)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 14 กุมภาพันธ์ 2560
สปก.ไล่รื้อสัญญาเช่าทั่วปท. ผิดเงื่อนไขยกเลิกใบอนุญาต

พิษกังหันผลิตไฟฟ้าลาม ส.ป.ก.สั่งตรวจสอบย้อนหลังใบอนุญาตเอกชน-หน่วยงานรัฐขอใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำผิดเงื่อนไขเพิกถอนทันที จ่อแก้กฎหมายปิดช่องโหว่ โบรกฯเตือนเล่นหุ้นกลุ่มพลังงานลมอาจมีความเสี่ยง สัญญากระทบกำไร ผู้ประกอบการ 18 รายร่อนจดหมายร้องรัฐช่วย

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ยกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน ที่ ส.ป.ก.อนุญาตให้ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด เช่าพื้นที่ ส.ป.ก.ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าว่า ขณะนี้ ส.ป.ก.อยู่ระหว่างดำเนินการหลายแนวทาง นอกจากปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัทดังกล่าวแล้ว จะหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสัญญาเช่าที่ดิน ที่ ส.ป.ก.อนุญาตให้เอกชนรายอื่นเช่าพื้นที่ ส.ป.ก.ประกอบกิจการในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งจะตรวจสอบการอนุญาตให้เอกชน ตลอดจนหน่วยงานรัฐเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.ย้อนหลัง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาอีก

ตรวจใบอนุญาต 18 ราย
ในส่วนของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสัญญาเช่าที่ดินที่บริษัทเอกชนรายอื่น ๆ เช่าที่ดิน ส.ป.ก.ประกอบกิจการในลักษณะเดียวกันกับบริษัทเทพสถิตฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และชัยภูมิ แนวทางการตรวจสอบต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่า การยื่นขออนุญาตและการดำนินการของแต่ละรายมีข้อเท็จจริงเหมือนกับกรณีบริษัทเทพสถิตฯหรือไม่ หากข้อเท็จจริงเหมือนกันก็จำเป็นต้องเพิกถอนใบอนุญาตตามคำพิพากษาของศาล แต่หากพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงแตกต่างกัน และรับฟังได้ว่าการอนุญาตให้เช่าพื้นที่ไม่ขัดระเบียบกฎหมาย ส.ป.ก.ก็ดำเนินการต่อได้

เรื่องนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็ว และให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้ เบื้องต้นพบว่ามีบางรายที่ ส.ป.ก.ต้องยกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน เนื่องจากเป็นการเข้าไปประกอบกิจการในลักษณะที่ไม่ได้สนับสนุนการปฏิรูปที่ดินกรณีมีการเพิกถอนใบอนุญาตแล้วถูกเอกชนยื่นฟ้องร้องก็ต้องพิจารณาว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียหายจากนั้นค่อยมาไล่เบี้ยต่อไป

สอบย้อนหลังขอใช้ที่ดิน
ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังถึงการอนุญาตให้เอกชน รวมทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก.ทั่วประเทศด้วย โดยให้ตรวจสอบลงลึกในรายละเอียดว่ามีการยื่นขออนุญาตใช้ที่ดินเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ มีการใช้ที่ดินตรงตามวัตถุประสงค์ที่ยื่นขออนุญาตหรือไม่ หากพบว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะเพิกถอนใบอนุญาตเช่นเดียวกัน

โดยในส่วนของภาคเอกชน การยื่นขออนุญาตใช้ที่ดิน ส.ป.ก. นอกจากใช้พื้นที่ติดตั้งกังหันลมไฟฟ้าแล้ว ยังมีกิจการเหมืองแร่และอื่น ๆ ด้วย สำหรับเหมืองแร่ทราบว่ามีกรณีฟ้องร้องและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเช่นเดียวกัน ขณะที่การยื่นขออนุญาตใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ของส่วนราชการ มีทั้งใช้พื้นที่ก่อสร้างถนน ระบบประปา แหล่งน้ำ ก่อสร้างอาคาร โดยจะเร่งรัดให้ตรวจสอบแล้วเสร็จโดยเร็ว

และให้พิจารณาด้วยว่ากรณีที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาระเบียบข้อกฎหมาย หรือมาจากตัวเจ้าหน้าที่ หากพบว่าระเบียบกฎหมายหละหลวมหรือไม่รัดกุมก็จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไข แต่หากปัญหามาจากคนก็จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและกำกับดูแลมากยิ่งขึ้น

กม.เปิดช่องรวบอำนาจให้เช่า
ด้านแหล่งข่าวจาก ส.ป.ก.เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากกฎระเบียบกฎหมายของ ส.ป.ก. ในขณะนี้เปิดช่องให้การอนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินเดิมมีการถ่วงดุล 3 ฝ่าย คือ 1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้กำหนดประเภทกิจการที่ยื่นขอเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก.ได้ 2.ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน (คปก.) เป็นผู้ออกระเบียบ และ 3.ส.ป.ก.เป็นผู้อนุญาต เปลี่ยนเป็นให้อำนาจในการพิจารณาอยู่ในดุลพินิจของ คปก. โดยมีการปรับแก้ไขกฎหมาย ส.ป.ก. ตั้งแต่เมื่อปี 2532 จากนั้นได้ออกระเบียบ คปก.ตามมา

เตือนหุ้นพลังงานลมดิ่ง
ด้านความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน ที่พัฒนาโครงการบนพื้นที่ ส.ป.ก. ช่วง 1 ก.พ.-9 ก.พ. มีทั้งปรับตัวลดลงและเพิ่มขึ้น ที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) ติดลบ 15.79% จากราคา 7.60 บาท ลดลงเหลือ 6.40 บาท และ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ราคาหุ้นติดลบ 4.47% จาก 25.75 บาท เหลือ 24.60 บาท ส่วนบริษัทที่ราคาหุ้นยังคงเป็นบวก ได้แก่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.25% จาก 199.50 บาท มาอยู่ที่ 202.00 บาท และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ราคาเพิ่มขึ้น 0.99% จากราคา 50.75 บาท มาอยู่ที่ 51.25 บาท

ฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอระบุว่า สำหรับหุ้นที่มีประเด็น และมีบทวิเคราะห์ครอบคลุม ได้แก่ GUNKUL ซึ่งไม่น่าจะมีผลกระทบ เนื่องจากโครงการพลังงานลมไม่ได้อยู่ในที่ ส.ป.ก. ขณะที่ EGCO และ RATCH อาจกระทบเล็กน้อย โดย EGCO ถือ 90% ในโครงการ CWF (90 MW) และ TWF (7 MW) ซึ่งจะสร้างผลกำไรให้ 400-450 ล้านบาท คิดเป็น 4-5% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2560 ที่คาดการณ์ไว้ ส่วน RATCH ถือ 20% ในโครงการห้วยบง 2-3 (207 MW) ซึ่งจะสร้างผลกำไรให้ 200-250 ล้านบาท คิดเป็น 3-4% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2560 ที่ บล.เคจีไอคาดการณ์ไว้

ด้าน บล.กสิกรไทยระบุว่า ข่าวนี้เป็นลบต่อทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นพลังงานลม ได้แก่ EA, DEMCO, EGCO และ RATCH ประเมินว่าหากโดนยกเลิกสัญญาจริง อาจทำให้เกิดการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ กระทบต่อทั้งประมาณการกำไรและมูลค่าพื้นฐาน (valuation) ทั้งนี้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ จนกว่าจะมีข้อสรุปอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไข


เอกชนจี้รัฐแก้ไขให้เดินหน้าต่อ
ดร.สุเมธ สุทธิภักติ รองนายกสมาคมกังหันลมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มีการพิจารณาในประเด็นปัญหาของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมที่ถูกระงับโครงการเนื่องจากใช้ที่ดินของ ส.ป.ก.ผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากเมื่อประเมินเบื้องต้นพบว่า หากใช้เกณฑ์การพิจารณาจากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด อาจทำให้ผลกระทบไม่ได้มีเพียง 19 บริษัท ที่อยู่ในระหว่างตรวจสอบจากกรมป่าไม้เท่านั้น อาจจะส่งผลกระทบอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และที่อยู่ระหว่างเตรียมลงนาม ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางรองรับเพื่อลดกระทบของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ด้วย รวมถึงเพื่อให้โครงการพลังงานทดแทนได้เดินหน้าต่อไปได้

ปัจจุบันภาครัฐได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากประเภทกังหันลมไปแล้วรวม 1,800 เมกะวัตต์ ภายใต้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ที่อัตรา 3.50 บาท/หน่วย รวมระยะเวลา 10 ปี โดยตามเป้าหมายกระทรวงพลังงานต้องการให้ในช่วง 20 ปี หรือภายในปี 2579 จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมรวม 3,002 เมกะวัตต์ ซึ่งหากทุกโครงการถูกยกเลิกจะต้องกระทบต่อภาพรวมการผลิตไฟฟ้าแน่นอน และเท่ากับว่าประเทศจะไม่ได้ใช้ศักยภาพด้านพลังงานลม ที่คาดว่าจะพัฒนาได้ถึง 13,000 เมกะวัตต์

"ในเชิงกฎหมายต้องมานั่งดูว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร หากภาครัฐมองว่าต้องการให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.โดยตรง ก็ควรมากำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้นว่า ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างเพราะในฐานะภาคเอกชน พร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดของภาครัฐอยู่แล้ว ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา เอกชนทุกรายก็ดำเนินการถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว"

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ได้มีการเรียกผู้ประกอบการในธุรกิจกังหันลมทั้งหมดเข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อประเมินภาพรวมว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตไฟฟ้ากังหันลมที่ใช้พื้นที่ของ ส.ป.ก.กี่ราย และภาพรวมการลงทุนของผู้ผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมทั้งหมดเป็นอย่างไร รวมถึงหารือพิจารณาแนวทางการแก้ไขด้วย