สีทาบ้าน อันตรายใกล้ตัวจากสารตะกั่ว (vdo clip - 21 ต.ค. 56)

Voice TV 21 ตุลาคม 2556
สีทาบ้าน อันตรายใกล้ตัวจากสารตะกั่ว

นักวิจัยศึกษาพบสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีทาอาคาร มีค่าเกินมาตรฐานที่ มอก. กำหนด บางผลิตภัณฑ์มีตะกั่วสูงกว่าร้อยเท่า อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันพบผลิตภัณฑ์ที่อ้างตัวเป็น สีทาบ้านไร้สารตะกั่ว แต่กลับพบสารตะกั่วเจือปนในปริมาณสูง หลายฝ่ายจึงเรียกร้องมีหน่วยงานเพื่อดูแลปัญหาดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก
 
เครื่องเอ็กซเรย์ ฟลูออเรสเซนต์ ถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ธาตุที่ประกอบในสีทาบ้านตัวอย่าง โดยเฉพาะ บีพี หรือ ตะกั่ว นักวิจัยบอกว่า ผู้ประกอบการนิยมใส่ตะกั่วในสีทาบ้าน เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสี เช่น เพิ่มความสดใสและความทนนาน ในขณะที่ใช้ต้นทุนผลิตต่ำ การตรวจสอบครั้งนี้ นักวิจัยพบตะกั่วเจือปนกว่า 2 หมื่น 7 พันพีพีเอ็ม สูงกว่าปริมาณที่ สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. กำหนดถึง 270 เท่า
 
ปี 2553 ไทยปรับลดค่ามาตรฐานตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีที่ไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม จากเดิม 600 พีพีเอ็ม ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา กำหนดไว้ 90 พีพีเอ็ม ส่วนศรีลังกาและบราซิล กำหนดค่าดังกล่าวที่ 600 พีพีเอ็ม แต่อย่างไรก็ตาม มาตรฐานตะกั่วที่ มอก. กำหนด เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ คือไม่มีผลบังคับและลงโทษตามกฏหมาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายเจ้า ยังใส่ตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร เกินค่าที่กำหนด
 
มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยผลการศึกษาปริมาณตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร จากตัวอย่าง 120 ผลิตภัณฑ์สี /พบตะกั่วมากกว่า 1 หมื่นพีพีเอ็ม ถึง 48 ตัวอย่าง โดยเฉพาะสีโทนสดมีตะกั่วมากกว่าสีโทนขาว
 
องค์การอนามัยโลกประกาศว่า ไม่มีระดับสารตะกั่วในร่างกาย ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่  โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่ร่างกายสามารถดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า มีความเสี่ยงกระทบต่อพัฒนาการและการทำงานของสมองไปตลอดชีวิต ทั้งนี้ พิษจากจากสารตะกั่วมี 2 ประเภท คือ เฉียบพลัน ในกรณีได้รับในปริมาณสูง และ เรื้อรัง จากการสะสมในชีวิตประจำวัน เช่น อาศัยในบ้านที่ทาด้วยสีผสมตะกั่ว
 
นอกจากนี้ นักวิจัยยังศึกษากลุ่มผลิตภัณฑ์สีทาอาคารที่อ้างว่า ไร้สารตะกั่ว จำนวน 29 ตัวอย่าง โดยติดฉลากข้างภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ พบว่ามีตะกั่วเกิน 100 พีพีเอ็ม ทั้งสิ้น 17 ตัวอย่าง สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่มีตะกั่วในระดับร้อยพีพีเอ็ม นักวิจัยมองว่า เป็นผลจากกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตถึงผลิตภัณฑ์ที่พบตะกั่วในระดับ พันถึงหมื่น พีพีเอ็ม คาดว่ามีเจตนาใส่สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์ เบื้องต้นได้แจ้งผู้ประกอบการรับทราบผลการศึกษาแล้ว
 
ด้านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เตรียมออกมาตรการให้ผลิตภัณฑ์สีทาอาคารเป็นสินค้าควบคุม ที่จำเป็นต้องติดฉลากแสดงข้อมูลปริมาณตะกั่ว และคำเตือนถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่วนกรณีผู้ประกอบการแสดงข้อความเท็จ หรือให้ข้อมูลบิดเบือน สคบ. สามารถดำเนินการฟ้องร้องทางอาญาได้ทันที
 
หน้ากาก ,หน้ากากยาง ,สีสักถาวร ,ภาชนะสำหรับไมโครเวฟ ,โฟม ,ขวดพลาสติกหรือ กระทะย่างอลูมิเนียม เป็นตัวอย่างของสิ่งใกล้ตัว ที่มีความเสี่ยงเจือปนสารตะกั่วเช่นเดียวกับสีทาอาคาร ขณะเดียวกัน มีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ปรับปรุงอาคารสำหรับเด็ก อย่างศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล ที่นิยมทาด้วยสีสันสดใส อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงอาคารหรือจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจสารอันตราย จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง จึงเสนอให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลปัญหาดังกล่าวโดยตรง สันติภาพรวมทั้งออกข้อบังคับการใช้ตะกั่วในผลิตภัณฑ์ในสีทาอาคารอย่างชัดเจน

by Chayakorn

21 ตุลาคม 2556 เวลา 18:03 น.