ไทยอ่วม! ถูก "กัดเซาะ" หนักเสียแผ่นดินอื้อ นักวิชาการคาด อีก 20 ปี สูญ 6.3 หมื่นไร่ (16 ก.พ. 60)
Green News TV 16 กุมภาพันธ์ 2560
‘ไทย’ อ่วม! ถูกกัดเซาะหนักเสียแผ่นดินอื้อ นักวิชาการ คาด อีก 20 ปี สูญ 6.3 หมื่นไร่
นักวิชาการ เชื่อ เป็นเรื่องยากที่กรุงเทพฯ จะจมบาดาลจาก “โลกร้อน” ในระยะเวลาอันใกล้ คาดอีก 20 แผ่นดินไทยถูกกัดเซาะหาย 6.3 หมื่นไร่ ชี้ “สมุทรปราการ สมุทราสาคร สมุครสงคราม กทม.” อ่วมสุด
ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยในเวทีเสวนาเรื่อง “ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ประเทศไทยบางส่วนจะจมอยู่ใต้บาดาลตั้งแต่ปี 2563 จริงหรือ?” ซึ่งจัดโดยสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ตอนหนึ่งว่า เป็นไปไม่ได้ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ระดับน้ำทะเลในท้องถิ่นใดๆ เพิ่มสูงขึ้นถึง 1-2 เมตร ภายในระยะเวลา 3-4 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) จะพบว่าการละลายของก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ทั้งที่กรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกาเร็วกว่าปกติหลายเท่าตัว แต่แบบจำลองชี้ว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นในอนาคต 44-74 เซนติเมตร ในระยะเวลาอีก 80 ปี หรือจนถึงปี 2643
“อัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลกปัจจุบันอยู่ที่ 3.2 มิลิเมตรต่อปีเท่านั้น ดังนั้นความเป็นไปได้ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลบางส่วนจะจมอยู่ใต้บาดาลในปี 2563 จึงเป็นไปได้ยากมาก” ศ.ธนวัฒน์ กล่าว
ศ.ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากการติดตามและตรวจวัดระดับน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบน พบว่าตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อัตราการขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์อยู่ที่ประมาณ 4-42 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ
สำหรับปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการทรุดตัวของแผ่นดิน ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งและพื้นที่ท้องทะเล ซึ่งปัญหานี้เคยเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในพื้นที่ใจกลาง กทม.ชั้นใน แต่ปัจจุบันจุดศูนย์กลางเปลี่ยนไปอยู่ใกล้พื้นที่ชายฝั่ง จึงส่งผลกระทบเหมือนระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งคือการสร้างเขื่อนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดการกักเก็บตะกอนและไหลลงสู่ชายฝั่งน้อยลง จาก 25 ล้านตันต่อปี เหลือเพียง 6.6 ล้านตันต่อปี รวมถึงปัญหาการขุดลอกร่องน้ำ
ทั้งนี้ หากยังไม่มีมาตรการป้องกันคาดว่าภายใน 20 ปี 50 ปี และ 100 ปีข้างหน้า แผ่นดินจะหายไปอีกประมาณ 6.3 หมื่นไร่ 1.5 แสนไร่ และ 2.4 แสนไร่ ตามลำดับ โดย จ.สมุทรปราการ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ตามมาด้วยสมุทรสาคร กทม. และสมุทรสงคราม
รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนและคาดการณ์ได้ยาก ซึ่งรายงานหลายฉบับที่จัดทำขึ้นนั้นถูกคาดการณ์ในระดับ 50-100 ปี และรูปแบบการขึ้นของแต่ละพื้นที่ทั่วโลกก็ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามการศึกษาจากองค์ความรู้และปัจจัยในอดีตจะช่วยให้เราเข้าใจและทำนายอนาคตได้ เพราะสภาพที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนั้นก็เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในอดีต
รศ.สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่าน้ำท่วมคือเรื่องของการเข้าสู่สภาวะภัยแล้งที่ยาวนาน เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่สามารถปรับตัวให้อยู่กับน้ำได้ แต่หากเกิดภัยแล้งที่ยาวนานแล้วอาจตั้งตัวกันไม่ถูก และไม่รู้ว่าควรรับมืออย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งในอดีตเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมามีพื้นที่แห้งแล้งเพียง 0.89% แต่คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีพื้นที่แห้งแล้งครอบคลุม 89% ของทั้งภาค