เปิดรายละเอียด ‘จีน’ สำรวจแม่น้ำโขง ขนอุปกรณ์เทคโนโลยีเพียบ – อยู่ในไทยถึง 9 เม.ย. (16 ก.พ. 60)
Green News TV 16 กุมภาพันธ์ 2560
เปิดรายละเอียด ‘จีน’ สำรวจแม่น้ำโขง ขนอุปกรณ์เทคโนโลยีเพียบ – อยู่ในไทยถึง 9 เม.ย.
… สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews)
ภาพโดย: นพ.สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์
การสำรวจแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นไปตามโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการ “ระเบิดเกาะแก่ง” ยังคงมีความคืบหน้าเป็นระยะ
ล่าสุด เจ้าของสัมปทานในนาม บริษัท CCCC Second Habor Consultant ได้ทำหนังสือถึง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย เพื่อชี้แจงกำหนดการสำรวจและตรวจสอบภูมิประเทศในพื้นที่แม่น้ำชายแดนไทย-ลาว
สำหรับหนังสือฉบับดังกล่าวตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การสำรวจทางอุทกวิทยา (แม่น้ำ) ระหว่างวันที่ 7 ก.พ.2560 – วันที่ 9 เม.ย.2560 และ 2.การสำรวจทางธรณีวิทยา (พื้นดิน) ระหว่างวันที่ 20 ก.พ.2560 – วันที่ 4 พ.ค.2560
—– ‘เรือจีน’ เข้าอาณาเขตไทย 10 ก.พ.-9 เม.ย.นี้ —–
ในส่วนของ “การศึกษาด้านวิศวกรรมและการสำรวจทางอุทกวิทยา” แบ่งการทำงานออกเป็น 5 ช่วง ได้แก่ 1.วันที่ 7 ก.พ.2560 หนึ่งในเรือสำรวจจะทำการติดตั้งเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตั้งแต่ต้นทางจนถึงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ขณะที่เรือสำรวจอีกลำจะมายังบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อเตรียมเจ้าหน้าที่ และเริ่มขั้นตอนการเข้าสู่พื้นที่ประเทศไทย
2.วันที่ 10-18 ก.พ.2560 เรือสำรวจลำหนึ่งจะเข้าไปยังพื้นที่แม่น้ำช่วงระหว่างประเทศไทย-ลาว เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจวัดระดับน้ำ จากนั้นจึงเริ่มการสำรวจทางอุทกวิทยา ขณะที่เรืออีกลำจะอยู่ในพื้นที่แม่น้ำช่วงระหว่างประเทศลาว-พม่า
3.วันที่ 19-23 ก.พ.2560 การสำรวจวัดความเร็วกระแสน้ำโดยใช้คลื่นเสียง (ADCP) ในพื้นที่เชียงของ-เชียงแสน เสร็จสิ้น 4.วันที่ 24-26 ก.พ.2560 ทำการถอดเครื่องตรวจวัดระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำช่วงระหว่างประเทศไทย-ลาวออก และเรือสำรวจทั้ง 2 ลำจะเข้าไปทำการสำรวจภาคพื้นดินภายในประเทศลาว
5.วันที่ 27 ก.พ.-13 มี.ค.2560 ผลการสำรวจทางอุทกวิทยาตลอดทั้งเส้นทางเสร็จสิ้นออกมา 6.วันที่ 14 มี.ค.-7 เม.ย.2560 เรือสำรวจทั้ง 2 ลำจะเข้ามายังพื้นที่แม่น้ำบริเวณ อ.เชียงของ เพื่อสำรวจภูมิประเทศของเกาะแก่งและสันดอน 7.วันที่ 9 เม.ย.2560 หากการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น เรือสำรวจทั้ง 2 ลำจะออกจากเขตแดนประเทศไทย-ลาว
สำหรับ “การสำรวจทางธรณีวิทยา” แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ใหญ่ๆ ได้แก่ 1.วันที่ 20 ก.พ.-7 เม.ย.2560 เริ่มสำรวจทางวิศวกรรม 2.วันที่ 1 เม.ย.-4 พ.ค.2560 การสำรวจธรณีวิทยา โดยระหว่างวันที่ 1-4 เม.ย.2560 เรือสำรวจด้านภูมิประเทศจะเข้าไปยังพื้นที่แม่น้ำบริเวณ อ.เชียงแสน เพื่อเริ่มการสำรวจภูมิประเทศของเกาะแก่งและสันดอน
—– เปิด ‘อุปกรณ์-เทคโนโลยี’ เรือสำรวจจีน —–
หนังสือฉบับเดียวกับที่ทำถึง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย ยังได้จำแนกรายละเอียดอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เรือสำรวจสัญชาติจีนนำเข้ามาปฏิบัติภารกิจ
ในส่วนของทีม “สำรวจทางวิศวกรรมและการสำรวจทางอุทกวิทยา” มีเจ้าหน้าที่ชาวจีนรวม 26 ราย ประกอบด้วย หัวหน้าผู้ควบคุม 1 ราย วิศวกรผู้ควบคุม 1 ราย เจ้าหน้าที่ 20 ราย และช่างออกแบบ 4 ราย
นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่สำคัญประกอบด้วย เรือขนส่ง 2 ลำ (เช่าเรือสินค้าระวางน้ำหนักมากกว่า 200 ตัน ซึ่งผ่านการรับรองการเดินทางจากท่าเรือกวนเหล่ยไปยังหลวงพระบาง) เรือสปีดโบ๊ท 4 ลำ (เช่าจากประเทศจีน) อุปกรณ์สื่อสาร ได้แก่ โทรศัพท์ดาวเทียม 2 เครื่อง วิทยุสื่อสาร 25 เครื่อง
อุปกรณ์ทำงานและวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 20 เครื่อง คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต 1 เครื่อง กล้องถ่ายรูปดิจิตอล 6 ตัว อุปกรณ์ควบคุมการสำรวจ ได้แก่ อุปกรณ์นำทางระบบดาวเทียม (GPS) 25 เครื่อง กล้องประมวลผลรวม (TST) 8 เครื่อง เครื่องวัดกระแสไฟฟ้า 3 เครื่อง อุปกรณ์รังวัด (RTK) 8 ชุด
อุปกรณ์สำรวจภูมิประเทศ ได้แก่ ระบบโดรนถ่ายภาพทางอากาศ 1 ชุด กล้องประมวลผลรวม (TST) 6 เครื่อง อุปกรณ์รังวัด (RTK) 8 ชุด อุปกรณ์สำรวจความลึกของน้ำ ได้แก่ ระบบคลื่นเสียง 4 ชุด
อุปกรณ์สำรวจทางอุทกวิทยา ได้แก่ อุปกรณ์วัดความเร็วกระแสน้ำโดยใช้คลื่นเสียง (ADCP) 2 ชุด เครื่องตรวจวัดระดับน้ำ 31 เครื่อง ทุ่นอิเล็กทรอนิกส์ 1 ตัว
สำหรับทีม “สำรวจทางธรณี” มีเจ้าหน้าที่ชาวจีนรวม 13 ราย แบ่งเป็น หัวหน้าทีม 1 ราย และเจ้าหน้าที่ธรณีวิทยา 12 ราย ส่วนอุปกรณ์สำคัญประกอบด้วย เรือปฏิบัติการ 1 ลำ (ขนาด 200-400 ตัน เพื่อล่องจากท่าเรือกวนเหล่ยไปยังหลวงพระบาง) เรือสำหรับพักอาศัย 1 ลำ (ขนาดไม่เกิน 50 ตัน)
อุปกรณ์สำหรับขุดเจาะ 2 ชุด และอุปกรณ์ขุดเจาะแบบพกพา 1 ชุด เครื่องปั๊มน้ำโคลน (Mud Pump) 2 เครื่อง อุปกรณ์วัดน้ำหนักบรรทุก 1 เครื่อง กล้องประมวลผลรวม (TST) 1 ตัว เครื่องวัดกระแสไฟฟ้า 1 เครื่อง อุปกรณ์รังวัด 1 ตัว คอมพิวเตอร์พกพา 3 เครื่อง กล้องถ่ายรูปดิจิตอล 2 ตัว โทรศัพท์ดาวเทียม 1 เครื่อง และ GPS แบบพกพา 1 ตัว