ชี้ขาด "โรงไฟฟ้ากระบี่" วันนี้ (17 ก.พ. 60)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 17 กุมภาพันธ์ 2560
ชี้ขาดโรงไฟฟ้ากระบี่วันนี้ 

"กพช." ชี้ขาดโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่วันนี้ “รมว.พลังงาน” ย้ำจำเป็นต้องก่อสร้าง แต่เตรียมแผนสำรองหากถูกระงับ ด้านกลุ่มคัดค้านเดินทางเข้ากรุง

ความขัดแย้งในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจ.กระบี่ยืดเยื้อมานาน แม้ภาครัฐจะให้เหตุผลความจำเป็นในการก่อสร้าง เพราะกังวลความมั่นคงด้านไฟฟ้าในภาคใต้จากความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตไม่เพียงพอ แต่ประชาชนในพื้นที่และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคัดค้าน ทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนเดิมมาแล้ว 2 ปี 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และกระทรวงพลังงาน ได้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) หลายครั้ง แต่จากความขัดแย้งในพื้นที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกฟช.ให้มีการทบทวนและศึกษาผลกระทบใหม่ 

ล่าสุด กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอให้ กพช.ชี้ขาดอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเสนอ กพช.ในการประชุมวันนี้ (17 ก.พ.) 

พล.อ.อนันตพร ระบุว่าการประชุม กพช.น่าจะได้ข้อสรุปโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กำลังการผลิต800เมกะวัตต์ ว่าจะเดินหน้าโครงการหรือไม่ 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะนำเสนอ กพช.ให้พิจารณาเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ตามมติ กพช.เดิม ที่อนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี) ปี2558-2579ที่กำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหิน ไว้23%ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และภาคใต้มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี 

หาก กพช.เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กระทรวงพลังงาน จะเดินหน้าก่อสร้างตามแผน ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จ และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ช่วงปลายปี2564หรือ อย่างช้าต้นปี2565 จากที่โครงการดังกล่าวต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี2562หรือ ล่าช้ามา2ปีแล้ว 

แต่หาก กพช.ไม่เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือเตรียมแผนรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ เช่น การลงทุนก่อสร้างสายส่ง เพื่อดึงไฟฟ้าจากส่วนกลางเข้าไปใช้ในพื้นที่ และเตรียมความพร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ารวมถึง หามาตรการเพื่อดูแลภาคเอกชนในพื้นที่ ให้มีไฟฟ้าเพียงพอที่จะรองรับขยายการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต 

สำหรับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ล่าสุด เดือน เม.ย.ปี 2559 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) อยู่ที่ 2,630 เมกะวัตต์ สูงกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ที่ผลิตได้ 2,225 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอราว305เมกะวัตต์ จึงต้องดึงกำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปช่วยเสริมความต้องการใช้ และรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มเติม 

กลุ่มคัดค้านยื่นคัดค้านที่กทม. 

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายก อบจ.กระบี่ นายอธิราฏร์ ดำดี และนายสมศักดิ์ นบนอบ คณะกรรมการไตรภาคี ภาคประชาชน พิจารณาการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่รัฐบาลตั้งขึ้น เปิดแถลงคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 

“ขณะนี้ มีชาวกระบี่จำนวนหนึ่งเดินทางไปที่ กทม. เพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยแล้ว” 

ด้านนายสมศักดิ์ นบนอบ กล่าวว่า การที่มีความพยายามปลุกปั่นประชาชนให้ร่วมกันเห็นด้วยในการสร้างโรงไฟฟ้านั้น ได้สร้างความแตกแยกอย่างหนักในพื้นที่ ขณะนี้บางบ้านพี่น้อง สามีภรรยา ยังทะเลาะกัน เพราะแต่ละครั้งที่สนับสนุนก็จะได้รับค่าจ้าง อย่างที่ผ่านมา มีการระดมคนไปร่วมกันเห็นด้วยที่อำเภอเหนือคลอง มีการจ่ายค่าจ้างหัวละ 200 บาท และมีข้าวหมกไก่ 1 ห่อ สิ่งเหล่านี้คือการไม่รับฟังเสียงของผู้เห็นต่าง และไม่ยอมรับในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา 

ขณะที่ นายอธิราฏร์ ดำดี กล่าวว่า พลังงานทดแทนจากปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีทั้งน้ำเสีย ของเหลือต่างๆ สามารถนำมาพัฒนาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ และขณะนี้ก็ได้มีโรงงานปาล์มน้ำมันได้ผลิตแล้ว แต่ติดขัดที่รัฐไม่รับซื้อ หากให้ผลิตรับซื้อนั้นจะสามารถใช้ได้ทั้งจังหวัดกระบี่ 
“สิ่งเหล่านี้รัฐบาลควรนำมาพิจารณาก่อตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อมในอนาคต” 

นักวิชาการหนุนโรงไฟฟ้ากระบี่ 

นายภิญโญ มีชำนะ แกนนำเครือข่ายนักวิชาการสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยมี นางมาลินี ภาวิไล ผู้เชี่ยวชาญด้านการประสานงานมวลชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ 

ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ถ่านหินได้ล่าช้ากว่าแผนเดิมไปแล้วกว่า 4 ปี จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ภายในปี 2562 แต่มีปัญหาคัดค้านจากบางกลุ่มจนต้องเลื่อนแผนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบออกไปในปี 2566 ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวขึ้น 

ซึ่งหากโครงการมีความล่าช้าออกไปก็จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วใน 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อปี 2556 

“ขอให้นายกรัฐมนตรีได้เห็นถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ และมีความกล้าหาญในการใช้อำนาจที่มีในการตัดสินใจเพื่ออนาคตที่เป็นประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้ดีกว่า ช่วยกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และมีอัตราค่าไฟที่เหมาะสมกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ” 

สอท.ออกโรงหนุนอ้างเหตุผลเศรษฐกิจ 

วานนี้ (16 ก.พ.) ก่อนการประชุม กพช.เพียงวันเดียว นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เพราะพื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไฟฟ้าสูง เนื่องจากในภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มปีละ 4%สูงกว่าการเติบโตของ จีดีพี ประเทศ ซึ่งหากไม่เร่งตัดสินใจก็อาจจะส่งผลต่อธุรกิจ ทั้งภาคการผลิตและบริการ การท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ หากไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ได้ ก็อาจจะกระทบต่ออัตราการเติบโตของ จีดีพี ภาคใต้ประมาณ 1%เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการเข้ามาตั้งธุรกิจในภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ อ.สะเดา จ.สงขลา และโครงการนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ ที่ จ.สงขลา เพราะหากเกิดเหตุกระแสไฟฟ้าดับ ก็จะกระทบต่อการดำเนินกิจการอย่างรุนแรง 

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก จะเป็นกลุ่มที่ใช้กระแสไฟฟ้าสูง เช่น โรงงานแปรรูปยางพารา เซรามิก แปรรูปอาหารรวมไปถึงธุรกิจบริการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมต่างๆ ซึ่งธุรกิจบริการนี้เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว 

“เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูง และถ่านหินที่นำมาใช้ก็เป็นเกรดซับบิทูมินัส ที่มีกำมะถัน และมลพิษต่างๆต่ำ โดยโรงไฟฟ้าถ่านหิน บีแอลซีพี ที่ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง ก็อยู่ริมทะเล และเปิดดำเนินงานมากว่า 20 ปี ก็ไม่ได้สร้างปัญหาแต่อย่างใด และโรงไฟฟ้าในขณะนี้ก็มีระบบความปลอดภัยสูงยิ่งขึ้นไปอีก จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” 

นายเจน ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะหากไปใช้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ก็มีความเสี่ยงต่อราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มลดลง ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เข้ามาผลิตไฟฟ้าจะมีราคาสูงกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาก ส่งผลให้ต้นทุนภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น และประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ส่วนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ก็ยังขาดความมั่นคง เพราะผลิตได้เฉพาะกลางวัน และยังมีต้นทุนที่สูง