ลำดับเหตุการณ์ก่อน กพช .ออกมติเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (17 ก.พ. 60)

Thai PBS 17 กุมภาพันธ์ 2560
ลำดับเหตุการณ์ก่อน กพช.ออกมติเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 

วันนี้ (17 ก.พ.2560) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ไทยพีบีเอสลำดับเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้

เดือนสิงหาคมปี 2555 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำรวจความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ และท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งเริ่มเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชน ตามกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หลังรัฐบาลประกาศแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2553-2563 (PDP 2010)

ปี 2557 กฟผ.พยายามนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หลังใช้ถ่านหินจากเหมืองผลิตกระแสไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2507 และเมื่อถ่านหินหมดจึงปลดออกจากระบบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2538 ต่อมาเปิดการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกครั้ง วันที่ 28 มกราคม 2547 ด้วยน้ำมันเตา และปรับมาใช้น้ำมันปาล์ม

ขณะที่ชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงเก่า ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านและขยายแนวร่วมไปยังชุมชนอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ

ความขัดแย้ง เรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ส่อเค้ารุนแรงขึ้น เมื่อมีการใช้กำลังทำร่างกาย และข่มขู่ประชาชนที่คัดค้านโครงการในเวทีรับฟังความเห็น โครงการท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินบ้านคลองรั้ว หลังจากนั้นมีการนำเครื่องจักรกลเข้าไปสำรวจพื้นที่ นำไปสู่เผชิญหน้าระหว่างกลุ่มสนับสนุนกับกลุ่มคัดค้าน และมีเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด

เดือนกันยายน 2557 การใช้กำลังเจ้าหน้าที่หลายร้อยนายเข้ามาควบคุมผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นเพื่อทบทวนร่าง EHIA ของโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าไปแสดงความเห็นในเวทีนี้ได้

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ.ยืนยันว่าการทำ EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นไปตามกรอบกฎหมาย กฟผ.ได้นำข้อเสนอของประชาชนมาปรับปรุงรายงาน ก่อนส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)

10 ก.ค.2558 ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 2 คน ตัดสินใจอดอาหารที่หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หลังจาก กฟผ.ประกาศเดินหน้ายื่นซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ภายในวันที่ 22 ก.ค. โดยเครือข่ายแถลงการณ์ยืนยันว่า 3 ปีที่ผ่านมาได้ใช้กระบวนการทุกอย่างในการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ ให้หยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และหาทางออกด้วยการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ขณะที่ประชาชนจากหลายภาคส่วน เดินทางมาให้กำลังใจทั้ง 2 คน และร่วมกิจกรรมรณรงค์ นอกจากนี้มีแถลงการณ์จากองค์กรต่างๆ ออกมาสนับสนุน

ตัวแทนรัฐบาลเจรจากับเครือข่าย ระบุว่า จะนำข้อเรียกร้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา ได้แก่ ให้หยุดประมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หยุดกระบวนการพิจารณารายงาน EHIA ของโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือ และจัดตั้งคณะกรรมการหลายฝ่ายเพื่อผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนในจังหวัดกระบี่ ภายใน 3 ปี

20 กค.2558 ภายหลังตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 2 คน อดอาหารเป็นเวลา 10 วัน ทางกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดินไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อฟังคำตอบจากนายกรัฐมนตรี

22 ก.ค.2558 สถานการณ์การชุมนุมตึงเครียดขึ้น และมีชาวบ้าน จ.กระบี่ และพื้นที่ภาคใต้เดินทางมาสมทบกับผู้ชุมนุม หลังนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นช่วงบ่ายวันที่ 21 ก.ค.2558

23 ก.ค.2558 เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินการชุมนุมยุติการชุมนุมในช่วงค่ำ หลังนายกรัฐมนตรี พิจารณาและรับฟังข้อเสนอจากเครือข่าย

24 ก.ค.2558 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ประชาชนในจังหวัดกระบี่ ตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน กฟผ.และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปในเรื่องต่างๆ โดยรัฐบาลจะไม่มีการลงนาม หรือกระทำใดๆ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายจนกว่าจะมีข้อสรุปจากที่ประชุม 3 ฝ่าย

17 ก.พ.2560 กพช.มีมติให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขณะที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยืนยันจะปักหลักชุมนุมคัดค้านบริเวณทำเนียบรัฐบาล