"แม่ทะ" ฮือต้าน "ไฟฟ้าขยะ" จ่อหมู่บ้านห่างไม่ถึง 1 กม. "ป่าเหียง" ส่งใจช่วย (3 มี.ค. 60)
ลานนาโพสต์ 3 มีนาคม 2560
แม่ทะ ฮือต้าน ไฟฟ้าขยะ จ่อหมู่บ้าน ห่างไม่ถึง 1 กม. ป่าเหียงส่งใจช่วย
ชาวบ้าน ต.แม่ทะ ล่ารายชื่อต้านโรงไฟฟ้าขยะจะเข้ามาสร้างในพื้นที่ ห่างจากหมู่บ้านไม่ถึง 1 ก.ม. เตรียมยื่นหนังสือให้นายอำเภอและนายกเทศบาล ขอให้ยุติโครงการ ขณะที่ชาวบ้านป่าเหียงโทรศัพท์ให้กำลังใจเพียบ
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.60 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลแม่ทะ อ.แม่ทะ นายพร้อมพงษ์ วงศ์มณีนิล ผอ.สนง.คณะกรรมการกำกับพลังงานประจำเขต1เชียงใหม่ พร้อมด้วยนางสายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัดลำปาง นายศุภรัช ตุ้ยใจ นายกเทศมนตรีตำบลแม่ทะ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะชุมชน ขนาด ไม่เกิน 3 เมกกะวัตต์ ของบริษัทอรัญญบุรี พาวเวอร์ จำกัด หนึ่งในบริษัทที่ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทพลังงานยั่งยืนสยาม ในพื้นที่ บ้านแม่ทะหลวง หมู่ 1 ต.แม่ทะ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง โดยมีกลุ่มชาวบ้านเข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน และคัดค้านโครงการนี้
นายศุภรัช ตุ้ยใจ นายกเทศมนตรี กล่าวว่า ตนเองเป็นนายกเทศมนตรี มีหน้าที่รับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องหาแหล่งพลังงานมาปฏิบัติด้วย และอีกหน้าที่หนึ่งคือดูแลแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ซึ่งในเรื่องนี้ทางโครงการก่อสร้าง จะมาตั้งในพื้นที่ เนื่องจากที่นี่เป็นจุดหรือหมุดเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( 3 จุดคือ บ้านน้ำโจ้ บ้านแม่ทะ และบ้านกิ่ว) ดังนั้นทางผู้ที่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้า จึงขอเข้ามาดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ คือการรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าฯจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเรื่องนี้ทั้งหมดคงต้องพูดกันด้วยเหตุและผล และทำตามตามระเบียบกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งผลจะออกมาประการใดก็ก็ตาม คงต้องพูดคุยกันไปตามขั้นตอนนี้
ด้านนางสายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัด กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นกับการทำประชาคมต่างกัน ซึ่งการทำประชาคมคือการยกมือเอาหรือไม่เอา แต่ตามกฎหมายสร้างโรงไฟฟ้านี้คือการรับฟังความคิดเห็น หมายความว่า นโยบายที่ให้สร้างโรงไฟฟ้านี้ จะสนับสนุนให้ที่ที่เหมาะสมศักยภาพ แต่จะต้องขมวดไว้ว่าที่ไม่เห็นด้วยคืออะไร เช่นกลัวว่าจะมี กลิ่น เสียง เป็นต้น แล้วนำไปสู่กระบวนการขั้นต่อไปคือการขอตั้งโรงงาน
เรื่องนี้ในส่วนของชาวบ้านได้มีการสรุปว่าไม่เอาโครงการสร้างโรงไฟฟ้านี้ และได้สรุปถึงปัญหาที่เกรงว่าจะเกิดขึ้น เช่น กลิ่น ขยะที่หล่นจากรถตามรายทาง และน้ำเสียจากรถขนขยะที่ผ่านชุมชน มลพิษและผลเสียในระยะยาว ปัญหาฝุ่นละอองจากการเผาขยะในเตาเผาอาจส่งผลต่อสุขภาพ ปัญหาซัลเฟอร์หรือขี้เถ้าลอย อาจหลุดลอดมาสร้างผลกระทบในชุมชน แมลงพาหะนำโรคต่างๆจะตามมามากมาย เป็นต้น
นายสุเมธ วรรณรัตน์ หนึ่งในแกนนำที่ร่วมคัดค้าน กล่าวว่า หลังจากมีประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ชาวบ้านก็มีความเห็นตรงกันว่าไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาตั้งในพื้นที่ ต.แม่ทะ ทุกวันนี้ขยะที่เทศบาลตำบลแม่ทะจัดเก็บมี 2-4 ตันต่อวัน แต่โรงไฟฟ้าขยะต้องการขยะ 120 ตันต่อวัน จึงมองเห็นปัญหาว่าขยะจะต้องเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกถึง 116 ตันต่อวัน ดังนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านอย่างแน่นอน เรื่องกลิ่น เรื่องสารพิษ ต่างๆ แทนที่จะมีการบริหารจัดการขยะในส่วนที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เช่น ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ การรับซื้อขยะรีไซเคิล แต่เทศบาลกลับไปให้ความสำคัญกับการทำโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านไม่ต้องการ
นายสุเมธ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมรายชื่อชาวบ้านทุกหมู่บ้านใน ต.แม่ทะ ที่ไม่เห็นด้วย เพื่อจะนำไปยื่นหนังสือถึงนายอำเภอและนายกเทศมนตรี ให้ยุติการดำเนินการเรื่องนี้ เราจะสู้ให้ถึงที่สุด ไม่ให้สารพิษก่อมะเร็ง สารไดออกซิน และมลพิษเข้ามาในหมู่บ้านของเรา
นายสุเมธ ยังกล่าวด้วยว่า ชาวบ้านป่าเหียงซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องการคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะมาก่อน และชาวบ้านหลายกลุ่ม ได้โทรศัพท์มาให้กำลังใจ และส่งข้อมูลให้จำนวนมาก ซึ่งต้องขอขอบคุณมาในโอกาสนี้ด้วย
สำหรับกลุ่มบริษัทพลังงานยั่งยืนสยาม จำกัด ตั้งอยู่ที่ 115 ซอยสุวรรณสวัสดิ์ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 60 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท วัตถุประสงค์ เพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า มีนายนภา บุณยเกียรติ นายสุระ วีระเกียรติกุล นายธราธิป รัชชประยูร เป็นกรรมการ ส่วนบริษัทอรัญญบุรี พาวเวอร์ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ต.หนองนาก อ.หนองแค จ.สระบุรี จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 ก.พ.58 เพื่อจัดตั้งโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า มีนายธราธิป รัชชประยูร และนายทวิช มีชอบ เป็นกรรมการ
ทั้งนี้ นายธราธิป รัชชประยูร ยังเป็นกรรมการของบริษัทพลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย ซึ่งเคยเข้ามาเสนอโครงการในพื้นที่ ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.58 ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล และนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วย เรื่องจึงได้เงียบหายไป
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1119 วันที่ 3 - 9 มีนาคม 2560 )