กฟผ. เปิดทางผู้รับเหมา "โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่" ยืนราคาประมูลเดิมจนกว่า ครม. อนุมัติให้สร้าง (6 มี.ค. 60)

energynews 6 มีนาคม 2560
กฟผ.เปิดทางผู้รับเหมาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยืนราคาประมูลเดิมจนกว่าครม.อนุมัติให้สร้าง

กฟผ. เปิดทางให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ที่ชนะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เข้ายืนยันกรอบราคาประมูลเดิมไปจนกว่า ครม.จะอนุมัติให้ก่อสร้าง  พร้อมหารือ สผ. 9 มี.ค. 2560นี้ กำหนดรายละเอียดเปิดรับฟังความเห็นประชาชนใน 1-2 เดือนนี้ ระบุข้อเสนอให้ใช้กรอบประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือSEAเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ

 นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพาณิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลงบริษัทที่ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเตรียมให้กลุ่มกิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า (Power Construction Corporation of China) และบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่ชนะการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เข้ายืนยันกรอบราคาประมูลเดิมไปเรื่อยๆ จนกว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะอนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งเริ่มยืนราคาเดิมได้ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2560 นี้เป็นต้นไป

สำหรับราคาประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อยู่ที่ 32,200 ล้านบาท ส่วนราคาประมูลก่อสร้างท่าเทียบเรือคลองรั้วอยู่ที่ 9,800 ล้านบาท ซึ่งการประมูลที่ผ่านมาระบุชัดเจนว่าจะยังไม่มีการลงนามสัญญาก่อสร้างจนกว่าจะจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)และรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(อีเอชไอเอ)เสร็จ รวมถึงต้องให้ ครม.อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่แล้วเท่านั้น   

นอกจากนี้ กฟผ.เตรียมหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ในวันที่ 9 มี.ค. 2560 เพื่อกำหนดรายละเอียดการเปิดรับฟังความเห็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นประมาณ 2 ครั้ง ใน 1-2 เดือนนี้

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีกลุ่มนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มออกมาเรียกร้องให้มีการจัดทำกรอบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ด้วยนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่หน้าที่ของ กฟผ.  แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช้  ซึ่งการจัดทำอาจต้องใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากการประเมินเอสอีเอ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่เคยทำมาก่อน  ถือเป็นเรื่องใหม่ของไทย อย่างไรก็ตาม กฟผ.จะต้องเดินหน้ากระบวนการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต่อไป  ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) โดยไม่ต้องรอการพิจารณาเรื่อง เอสอีเอ เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้เป็นสิ่งจำเป็นและไม่ควรยืดเวลาให้นานไปกว่านี้