WHO เผยมลพิษทางสิ่งแวดล้อมคร่าชีวิต "เด็ก" 1.7 ล้านคนทั่วโลก (6 มี.ค. 60)

PPTV 6 มีนาคม 2560
WHO เผยมลพิษทางสิ่งแวดล้อมคร่าชีวิตเด็ก 1.7 ล้านคนทั่วโลก

รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกชี้ว่า ในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 1.7 ล้านคนทั่วโลก ต้องจบชีวิตเพราะปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (6 มี.ค. 60) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สถิติจากรายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เด็กอายุระหว่าง 1 เดือน - 5 ปี ทั่วโลกเสียชีวิต มาจากปัญหาน้ำปนเปื้อน ขาดแคลนห้องน้ำสะอาด ปัญหาสุขอนามัย มลพิษจากทั้งในบ้านและนอกบ้าน ซึ่งทำให้เกิดโรคท้องร่วง มาลาเรีย และปอดอักเสบ นอกนั้นเป็นการเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย

ทั้งนี้ข้อมูลระบุว่า เด็กทารกที่ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศทั้งในและนอกบ้าน โดยเฉพาะควันบุหรี่มือ 2 มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคปอดอักเสบ และมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด รวมถึงไปโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และมะเร็ง โดยมีข้อมูลยืนยันว่า 44% ของผู้เป็นหอบหืดในวัยเด็ก เกิดจากสภาพแวดล้อม

ขณะที่การสะสมของขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากหากขยะเหล่านี้ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี อาจทิ้งสารเคมีตกค้าง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสมองและปอดของเด็ก และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ด้วย 

อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกแนะว่า ยังนับเป็นเรื่องดีที่ปัจจัยเหล่านี้ไม่ยากเกินแก้ ขอเพียงให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัย รวมไปถึงการหามาตรการเพื่อป้องกันหญิงตั้งครรภ์จากควันบุหรี่มือ 2