เอกสารแถลงข่าว: เผยสีไทย 79% ตะกั่วสูง - ฉลาก "ไร้สารตะกั่ว" หลายยี่ห้อเชื่อไม่ได้ (21 ต.ค. 56)
เอกสารแถลงข่าว: มูลนิธิบูรณะนิเวศ 21 ตุลาคม 2556
เผยสีไทย 79% ตะกั่วสูง - ฉลาก “ไร้สารตะกั่ว” หลายยี่ห้อเชื่อไม่ได้
ผลวิจัยชี้ชัด สีทาบ้าน 79% มีสารตะกั่วสูงเกิน มอก. และ 40% สูงเกินกว่า 100 เท่า - เผยฉลาก "ไร้สารตะกั่ว" หลายยี่ห้อไม่ตรงข้อเท็จจริง วอนผู้ประกอบการใส่ใจ-รัฐเร่งหามาตรการกำกับ เตือนประชาชนหาข้อมูลเชิงลึกก่อนเลือกซื้อ อย่าดูแค่ฉลาก
21 ตุลาคม 2556: เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ในงานสัมมนาเรื่อง "สีปลอดสารตะกั่ว นโยบายที่เป็นจริงได้" ณ ห้องประชุมอาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ วลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และนักวิจัย ได้แถลงผลการทดสอบสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสีในเอเชีย (Asian Lead Paint Elimination Project) ซึ่งในส่วนของประเทศไทยดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ทำการสุ่มตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดของประเทศไทย จำนวน 120 ตัวอย่าง 68 ยี่ห้อ มาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารตะกั่ว
ผลจากการทดสอบพบว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมด มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ฉบับล่าสุด ซึ่งกำหนดให้สีมีสารตะกั่วได้ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน หรือพีพีเอ็ม (ppm) และร้อยละ 40 มีปริมาณสารตะกั่วสูงเกิน มอก. กว่า 100 เท่า หรือมีปริมาณสารตะกั่วมากกว่า 10,000 พีพีเอ็ม ทั้งนี้ ปริมาณสารตะกั่วสูงสุดที่พบคือ 95,000 พีพีเอ็ม ขณะที่ปริมาณสารตะกั่วต่ำสุดที่พบคือ น้อยกว่า 9 พีพีเอ็ม
"ผลจากตรวจวิเคราะห์พบว่า 8 ใน 29 ตัวอย่างของสีที่ติดฉลากว่า "ไม่ผสมสารตะกั่ว" มีปริมาณตะกั่วสูงเกิน 10,000 พีพีเอ็ม และจากตัวอย่างที่เรานำมาศึกษา ก็พบว่ามีเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ผลิตสี (15 บริษัท จากทั้งหมด 42 บริษัท) ที่ผลิตตาม มอก. ฉบับปรับปรุงใหม่" วลัยพรกล่าว
โดยในปัจจุบันมาตรฐานปริมาณสารตะกั่วในสีทาอาคารของ มอก. ยังคงเป็นแบบ "สมัครใจ" กล่าวคือ ไม่มีผลบังคับและโทษทางกฎหมาย ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2553 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ปรับมาตรฐานสมัครใจเรื่องปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันให้เข้มงวดขึ้น โดยจากเดิมกำหนดไว้ที่ 600 พีพีเอ็ม ลดลงเหลือ 100 พีพีเอ็ม (มอก. 327-2553 สีเคลือบเงา และมอก. 1406-2553 สีเคลือบด้าน)
"อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตอนนี้ มอก. ดังกล่าวยังคงเป็นมาตรฐานทั่วไป ที่ขึ้นกับความสมัครใจของผู้ประกอบการ ดังนั้น หากไม่ได้ติดสัญลักษณ์ มอก. การผลิตสีน้ำมันที่มีตะกั่วเกินกว่าค่าตาม มอก. จึงยังไม่ถือว่าได้ทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด" วลัยพรกล่าวเพิ่มเติม
ด้าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ให้ข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติมว่า
"ตราบใดที่เรายังไม่มีมาตรฐานแบบบังคับ และข้อกำหนดเรื่องฉลาก ผู้บริโภคก็ไม่อาจทราบได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ใดปลอดภัย ที่น่าเป็นห่วงมากคือเด็กเล็ก เพราะร่างกายดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า และเป็นช่วงที่สมองและประสาทมีความอ่อนไหว ซึ่งหากได้รับตะกั่วเข้าไปมากในช่วงวัยนี้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ และการทำงานของสมองไปตลอดชีวิต แต่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สารตะกั่วก็เป็นอันตรายทั้งสิ้น องค์กรอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า ไม่มีระดับสารตะกั่วในร่างกายที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่
ปัญหานี้จำเป็นต้องอาศัยความตะหนักและใส่ใจของผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มมีบางบริษัทที่เข้าใจเรื่องนี้และพยายามปรับปรุงการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ในส่วนของภาครัฐ ความคืบหน้าล่าสุดคือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับรองข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ให้เปลี่ยนมาตรฐานเรื่องปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารจากแบบสมัครใจเป็นมาตรฐานบังคับ และรับรองข้อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำหนดมาตรการบังคับทางฉลาก ให้ระบุข้อความเตือนถึงอันตรายของสารตะกั่วในสีทาอาคาร ภายในสิ้นปี 2556
แต่นอกจากมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้นแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้ผลิตทุกรายจะมีโอกาสแข่งขันทางการค้าเท่าเทียมกันในตลาดสีที่ปลอดสารตะกั่ว” เพ็ญโฉมกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว” เป็น 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุดอันมีปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาปีละกว่า 600,000 คน โดยเด็กส่วนใหญ่อาศัยในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่า ฝุ่นสีที่ปนเปื้อนสารตะกั่วเป็นแหล่งรับสัมผัสสารตะกั่วหลักสำหรับเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กวัยทารกถึง 6 ปี ร่างกายของเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วสูงถึงร้อยละ 50 ที่รับประทานเข้าไปทั้งหมด การได้รับสารตะกั่วในวัยเยาว์จะขัดขวางพัฒนาการของสมองและก่อให้เกิดผลเสียถาวร ไม่อาจรักษาได้ อีกทั้งเด็กในวัยนี้จะมีพฤติกรรมอมมือและหยิบของเข้าปาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามปกติ แต่ก็ทำให้เด็กมีโอกาสจะรับประทานฝุ่นโดยไม่ตั้งใจเฉลี่ยวันละ 100 มิลลิกรัมต่อวัน
....................................................................................................
หมายเหตุ: งานศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสีในเอเชีย ดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชนใน 7 ประเทศเอเชีย (ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เนปาล บังคลาเทศ ศรีลังกา และอินเดีย) ร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารมลพิษตกค้างยาวนาน (International POPs Elimination Network หรือ IPEN) ด้วยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน