สัตว์ทะเลหายาก วาฬ เต่า ตายพุ่ง "เฉียด 300 ตัวต่อปี" เหตุ "กินถุงพลาสติก" (3 มี.ค. 60)
Thai PBS 3 มีนาคม 2560
สัตว์ทะเลหายาก วาฬ-เต่า ตายพุ่งเฉียด 300 ตัวต่อปีเหตุกินถุงพลาสติก
ไทยขยับติดอันดับ 5 ของโลกที่มีการทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุด เสี่ยงถูกกลุ่มประเทศยุโรป กดดันเทียบกับ ไอยูยู ด้าน ทช.เผยสัตว์ทะเลหายากตายกว่า 300 ตัวกินถุงพลาสติก-ติดเศษอวน ร้อยละ 60 โลมา-วาฬกินขยะ ส่วนกลุ่มเต่า ติดอวนเชือก
วันนี้ (3มี.ค.2560) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตร ศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา "วิกฤตขยะบก สู่แพขยะในทะเล : จะแก้อย่างไร?" จัดโดย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุว่าการรณรงค์ให้ประเทศไทยลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ร้อยละ 30 เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จากปัจจุบันยังลดการใช้ได้ไม่ถึง ร้อยละ 10 หากประชาชนทุกคนไม่ช่วยกัน โดยขยะทะเลเป็นปัญหาสะสมในอีก 10 ปีข้างหน้าที่ใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี ที่สำคัญไทยได้ขยับอันดับปัญหาขยะทะเลจากอันดับ 6 เป็นอันดับ 5 ของโลกที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุด แซงประเทศศรีลังกาแล้ว
ดร.ธรณ์ บอกว่า นับเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก เป็นปัญหาระดับประเทศ เพราะไทยมีประชากรน้อยกว่าหลายประเทศทั่วโลก แต่กลับมีปริมาณขยะในทะเลมากกว่า 1 ล้านตัน ทำให้เสี่ยงต่อการถูกกลุ่มประเทศยุโรป(อียู)กดดันไทยในลักษณะเช่นเดียวกับไอยูยู การทำประมงผิดกฎหมาย จึอยากให้คนไทยร่วมมือกันทั้งลดการใช้ถุงพลาสติก และลดขยะตั้งแต่ครัวเรือน เนื่องจากขยะทะเลไม่สามารถย่อยสลายในลักษณะเดียวกับขยะบก เพราะขยะทะเลลอยน้ำไปได้ไกลถึงทะเลประเทศอื่นๆ แต่ขยะทะเลต้องจัดการลักษณะเดียวกับก๊าซเรือนกระจก
ด้านดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล หรือทช. บอกว่า ในช่วง 2-3ปีนี้ พบสัตว์ทะเลหายากตายจากกกินขยะและเศษเครื่องมือทำประมง เฉลี่ย 300 กว่าตัวต่อปี โดยแบ่งเป็นการกิน ร้อยละ 60 จะเป็นพวกโลมาและวาฬ ส่วนพวกเต่า ปัญหาจะติดพันขา และตามลำตัวจากขยะ ที่ทะเลที่ล่องลอยสูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งอย่างล่าสุดที่เจอทั้งแมนต้าเรย์ ฉลามวาฬที่มีเชือกติดกับลำตัวของสัตว์เหล่านี้