2จุดเสี่ยง "โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่" ล่ม! (2 มี.ค. 60)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 2 มีนาคม 2560
‘2จุดเสี่ยง โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ล่ม! 

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะยอมให้มีการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ อีกครั้ง แต่มีประเด็นที่น่าสนใจกว่า คือ “จุดเสี่ยง”ที่จะทำให้โครงการนี้ไม่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้าง


แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจสปริงนิวส์ว่า จุดเสี่ยง 2 จุด ที่อาจจะทำให้โครงการนี้ไม่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้าง เพราะเบื้องต้นพบปัญหาในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ

จุดแรก คือ สผ.จะดูวิธีการลำเลียงถ่านหินด้วยเรือขนาดใหญ่ 1 แสนตันกรอส ที่ขนถ่านหินมาจากออสเตรเลีย ซึ่งเรือใหญ่จะจอดในทะเลน้ำลึก จุดนี้ไม่เป็นปัญหา แต่จากนั้นจะใช้เรือขนาด 3,000 ตันกรอส ทยอยลำเลียงถ่านหินจากเรือใหญ่มายังสะพานลำเลียงที่มีความยาวกว่า 5 กิโลเมตร ที่จะมีการสร้างสะพานนี้ในทะเลอันดามัน

จากข้อมูลทราบว่ากฟผ.มีการปรับลดขนาดเรือจากเดิมจะใช้เรือขนาด 1 หมื่นตันกรอส ขนถ่ายจากเรือใหญ่ ซึ่งมีขนาดใหญ่เกินไป ไม่สามารถเข้าใกล้ชายฝั่งได้ แต่เมื่อลดขนาดเหลือ 3,000 ตันกรอส ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะขนถ่านหินเข้ามาไม่ได้ เพราะเส้นทางขนถ่านหินในทะเลต้องผ่านแนวปะการัง หญ้าทะเลอ่อน ซึ่งเป็นอาหารของพะยูน รวมทั้งต้องขุดร่องน้ำใหม่ เพราะร่องน้ำเดิมที่มีการอ้างว่าเรือขนถ่ายน้ำมันยังสามารถผ่านได้นั้น ความจริงแล้วเรือขนถ่ายน้ำมันมีขนาดเพียง 1,000 ตันกรอสเท่านั้น

ส่วนจุดที่ 2 คือ แนวสายพานลำเลียงที่แม้ว่ากฟผ.ระบุว่า การลำเลียงจะปลอดภัย เพราะเป็นการลำเลียงผ่านระบบปิดที่เป็นอุโมงค์ ถ่านหินจะไม่ฟุ้งกระจาย แต่ทว่าพื้นที่ก่อสร้างบางส่วน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ มีสถานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ ที่กฟผ.มีแผนจะขุดอุโมงค์ใต้ดินลอดพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว ที่สผ.มองว่า จะกระทบแหล่งทำประมงพื้นบ้าน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ถิ่นที่อยู่อาศัยของพรรณพืชและสัตว์
อย่างไรก็ตาม จุดเสี่ยง 2 จุดนี้ สผ.ก็รอดูว่า สุดท้ายแล้วร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่กฟผ.กำลังจะแก้ไข จะระบุถึงมาตรการและวิธีการรับมือปัญหานี้ไว้อย่างไร

ขณะที่ นายธีระพงศ์ สันติภพอาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลกับสปริงนิวส์ว่า หากรัฐบาลยกเลิกผลการศึกษาอีไอเอและอีเอชไอทั้งหมด ถือเป็นการเซ็ตซีโร่ (SET ZERO) โครงการนี้ เพราะต้องให้ “สผ.” เป็นผู้ประกาศยกเลิกผลศึกษาฯ เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วให้ กฟผ.ประกาศเปิดรับหาบริษัทที่จะมาเริ่มศึกษาใหม่ทั้งหมด เริ่มกระบวนการนับหนึ่งใหม่


ธีระพงศ์ สันติภพอาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อได้ทีมศึกษาอีไอเอและอีเอชไอเอชุดใหม่ จะมีการศึกษาผลกระทบและเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละประมาณ 4 เดือน เมื่อได้ผลการศึกษาแล้วจะเขียนเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ จะส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. พิจารณา ก่อนจะส่งให้ สผ. พิจารณาว่าโครงการ ผ่านอีไอเอและอีเอชไอเอใหม่หรือไม่ รวมใช้เวลาในกระบวนการศึกษาอีไอเอใหม่ไม่เกิน 2 ปี

ส่วนแนวทางที่เป็นไปได้และใช้เวลาสั้นกว่า คือ ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี คือนำร่างผลศึกษาอีไอเอและอีเอชไอเอฉบับเดิม ที่ผ่านการตรวจและมีข้อเสนอแนะจาก คณะกรรมการ คชก.มาแล้ว มาปัดฝุ่นและอุดรูรั่วในประเด็นที่มีปัญหา ด้วยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ที่เชิญทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่มีการปิดกั้น

“เพราะการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา กฟผ.ให้ผู้นำชุมชนเป็นคนเชิญประชาชน ผู้นำชุมชนก็จะเลือกเชิญแค่คนที่ตัวเองรู้จักและไม่มีปากเสียงมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น”นายธีระพงศ์ ระบุ


ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านประมง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ส่วน นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านประมง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า หลายฝ่ายให้ความสนใจกระบวนการขนส่งถ่านหินว่าวิ่งเข้ามาผ่านตรงไหนบ้าง ปัญหาสำคัญคือ มันอยู่ตรงอ่าวกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรือวิ่งผ่านแหล่งดำน้ำจะมีปัญหาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับระยะใกล้หรือไกล ให้พูดตามตรง เมื่อเรือเข้ามาถึงแล้ว เรือต้องนำถ่านหินเข้าสู่เรือเล็กจากที่สันดอน ปากทางมันตื้นแล้วเข้าไม่ได้ก็มีการขุดลอก ก็จะเกิดผลกระทบเยอะ ฉะนั้นต้องขนจากเรือใหญ่มาเรือเล็ก วิ่งเข้ามา เรือเล็กวิ่งเข้ามา ต้องปิดเรือ ไม่ให้ถ่านหินฟุ้ง

“จุดที่เป็นห่วงคือเรือมันเล็ก ต้องรอให้น้ำขึ้นจะข้ามได้ ถ้าเกิดอุบัติเหตุจะมีปัญหาหรือเรื่องของขนส่งถ่านหินฟุ้งกระจาย ถ้าปิดขนาดนั้นผมก็เบาใจส่วนหนึ่ง แต่เรื่องของอุบัติเหตุ เรือผ่านมาแล้วโดนคลื่น อาจจะล่มลง ถามว่าเคยมีหรือไม่ ถ้าล่มไม่ใช่เรื่องของถ่านหินลงน้ำ แต่ถ้าในฐานะนักสิ่งแวดล้อมทางทะเล ก็คือน้ำมัน ถ้าถามว่าอะไรซีเรียสกว่าก็คือ น้ำมันที่ใช้ในการเดินเรือ เพราะเรือไม่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงแต่ใช้น้ำมัน ฉะนั้นถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจะมีการบริหารความเสี่ยงอย่างไร”

นายธรณ์ บอกอีกว่า โรงไฟฟ้าภาคใต้เท่าที่ฟังมาทั้งหมดและมีประสบการณ์โรงไฟฟฟ้า พบว่าภาคใต้ขาดแคลนไฟฟ้า ใกล้จุดพีก ถ้าซื้อจากมาเลเซียราคาค่อนข้างแพง จะส่งจากกรุงเทพฯไปข้างล่างก็มีจุดที่มีปัญหาเรื่องสายส่ง ซึ่งค่อนข้างไกล อาจจะสูญเสียพลังงานไฟฟ้าระหว่างทาง เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าแหล่งผลิตไฟฟ้าภาคใต้จำเป็นหรือไม่ ตอบได้ว่าจำเป็น ส่วนโรงไฟฟ้าจะใช้เชื้อเพลิงอะไร ก็มีทั้งพลังงานทดแทน พลังหมุนเวียน ฟอสซิล


 

“ภาคอื่นไฟฟ้าเพียงพอ มีภาคใต้ภาคเดียวที่ต้องการไฟฟ้า เพราะนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงค่ำ ปีนี้ก็มีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนเฉพาะคนต่างชาติ เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่า ภาคใต้เราต้องการไฟฟ้า ในส่วนตัวของผมถ้าจะให้คนยอมรับและไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากมาย คิดว่าก๊าซแอลเอ็นจี แต่ต้องไปสร้างที่อื่น ซึ่งถ้ามาสร้างที่กระบี่ผมไม่เห็นด้วยแน่นอน แต่ถ้าเกิดจะเดินหน้าโรงฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่นั้นต้องลองดูว่าในพื้นที่นั้นอาจจะไม่ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็ต้องหลบไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อื่น”

 เปิดมติครม.เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน

จากการตรวจสอบกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พบว่าเอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กัมภาพันธ์ 2560 ไม่มีวาระพิจารณาให้ยกเลิกรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบและสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ โครงการไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ที่กฟผ.เคยศึกษาไว้แล้ว แต่เป็นวาระที่กระทรวงพลังงานเสนอเอกสาร การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่ครม.รับทราบ โดยที่ไม่มีครม.คนใดแสดงความคิดเห็นในวาระนี้

โดยเอกสารของกระทรวงพลังงาน อ้างอิงมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ดำเนินโครงการตามขั้นตอนของกฎหมาย เร่งรัดการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณารายงานอีไอเอ และรายงานอีเอชไอเอ โดยนำความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคีประกอบการพิจารณา และหากการดำเนินโครงการฯเป็นไปตามแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ในปี 2565

เอกสารกระทรวงพลังงาน ระบุด้วยว่า มีประชาชนบางกลุ่มคัดค้านการดำเนินโครงการ เรียกร้องให้รับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินโครงการเรียบร้อย เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เห็นควรให้กฟผ.จัดทำรายงานอีไอเอ และอีเอชไอเอ และกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นให้ครบถ้วน สมบูรณ์ ชัดเจน เป็นที่ยอมรับ ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี อย่างเคร่งครัด แต่ทั้งนี้การดำเนินการตามข้อเรียกร้องจะทำให้โครงการมีความล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ และอาจกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของภาคใต้ได้

ตอนท้ายของเอกสาร ระบุว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและชุมชนในภาคใต้ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม พัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ มีการพิจารณาแนวทางการดำเนินการอย่างรอบด้านพบว่าโครงการนี้เหมาะสมคุ้มค่าที่จะดำเนินการ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,240 วันที่ 2 – 4 มีนาคม พ.ศ. 2560