กฟผ. เปิดทางถอยรัฐบาล "ประยุทธ์" ตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซแทนถ่านหินกระบี่ (1 มี.ค. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 1 มีนาคม 2560
กฟผ.เปิดทางถอยรัฐบาล"ประยุทธ์" ตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซแทนถ่านหินกระบี่
กฟผ.ยกเลิกรายงาน EIA/EHIA หลังรัฐบาลถอยสุดซอย ล้มโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ สัปดาห์หน้าถก สผ.ใหม่ คาใจคณะกรรมการไตรภาคี ยอมจำนน 5 ปีนี้ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าระบบ เตรียมเดินหน้า "แผนสำรอง" หากำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่ม ชงข้อเสนอตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้แทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน
หลังจากที่รัฐบาลแก้ปัญหากรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหนังสือไปถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อแจ้งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) "ยกเลิก" ผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้และให้เริ่มต้นทำใหม่ เพื่อต้องการให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส
ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้ กฟผ.ต้องเริ่มนับหนึ่งกระบวนการในการจัดทำ EIA/EHIA ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และหาก EIA/EHIA ผ่านการพิจารณาก็จะต้องใช้เวลาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี รวมเป็นระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 7 ปี โดยระยะเวลาดังกล่าว กฟผ.จะต้องบริหารจัดการความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในภาคใต้ ท่ามกลางกำลังการผลิตและความต้องการใช้ที่เติบโตขึ้นทุกปี จนมีความกังวลในหมู่ผู้เกี่ยวข้องว่าจะเกิด "ความเสี่ยง" ไฟดับ/ตกได้ หากมีเหตุขัดข้องกับโรงไฟฟ้าในภาคใต้
ตู่ให้เปิดเวทีสร้างความเข้าใจ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (28 ก.พ. 2560) ว่า ได้สั่งการให้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เริ่มทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตั้งแต่การเปิดเวทีสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานว่า พลังงานของไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคตและโลกใช้อะไรในการผลิตไฟฟ้า มาจนถึงทำอย่างไรปลอดภัย หรือรองรับความไม่มั่นคงทางไฟฟ้าในอนาคต โดยจะไม่เน้นเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ก่อนเพราะ "จะทะเลาะกัน" ผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าไม่ใช่มีเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่เท่านั้น เนื่องจากต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าที่อื่น ๆ อีก
นายกรศิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.น้อมรับปฏิบัติตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยให้ กฟผ.ยกเลิกผลการวิเคราะห์ EIA/EHIA ที่ กฟผ.ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ล่าสุด กฟผ.ได้รับหนังสือของสำนักนโยบายและแผน (สผ.) ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (รายงาน EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ (ส่วนขยาย ครั้งที่ 1) ของ กฟผ. โดยให้ไปศึกษาและทำความเข้าใจใหม่ พร้อมกับทำ EIA ใหม่ โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ขณะที่นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงขั้นตอนต่อจากนี้ไป ในสัปดาห์หน้า กฟผ.จะเข้าหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในประเด็นที่ว่า เมื่อรายงาน EIA/EHIA ถูกยกเลิกไปแล้ว "กฟผ.จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร" เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการยกเลิกรายงานแบบนี้มาก่อน และกรณีที่ต้องการให้คณะกรรมการไตรภาคีเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการจัดทำทั้ง EIA/EHIA นั้น จะกำหนดให้เข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนใดของแบบประเมิน รวมถึงยังสามารถใช้คณะกรรมการฯชุดเดิมหรือต้องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา EIA/EHIA ใหม่ นอกจากนี้ กฟผ.ยังต้องดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาใหม่ สำหรับจัดทำแบบประเมินใหม่ด้วย
กฟผ.งัดแผนสำรอง 5 ปี
สำหรับความล่าช้าในการนำโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าระบบตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 หรือแผน PDP ซึ่งกำหนดให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เครื่องที่ 1 ขนาดกำลังผลิต 800 MW เข้าสู่ระบบในปี 2562 มาเป็นปี 2567 นั้น กฟผ.ได้เตรียม "แผนสำรอง" การจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมไว้แล้วด้วยการ
1) พัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดกำลังผลิต 800 MW เข้ามาทดแทนในพื้นที่ส่วนขยายเดิมของโรงไฟฟ้ากระบี่ในปัจจุบันหรือพื้นที่อื่น ๆ ในภาคใต้ กับ 2) การเพิ่มศักยภาพสายส่งสำหรับส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปเสริมระบบ (อยู่ระหว่างดำเนินการ) ซึ่งสายส่งในปัจจุบันสามารถส่งไฟฟ้าจากภาคกลางได้สูงสุดประมาณ 800 MW "แต่ก็สามารถทำได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น" แต่การสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอาจจะมีประเด็นเรื่องของความคุ้มค่าโครงการ เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้ไม่มีการวางท่อก๊าซ ซึ่งก่อนหน้า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เคยศึกษาการวางท่อทั้งในทะเลอันดามันและอ่าวไทยไว้แล้ว ผลการศึกษาปรากฏ "ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน" เว้นแต่ว่ามีการขยายโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิตที่มากกว่า 1,000 MW ขึ้นไป "ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะวางท่อก๊าซในภาคใต้"
อย่างไรก็ตาม กฟผ.เห็นว่า โรงไฟฟ้าก๊าซเป็นทางเลือกแรก ๆ ในกรณีที่ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นที่แน่นอนแล้วเพราะโรงไฟฟ้าก๊าซมีความเสถียรในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด แต่ถ้าต้องเดินท่อก๊าซผ่านทะเลก็จะต้องมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ซึ่งหมายถึง กฟผ.จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเพิ่มเติม แต่ กฟผ.ก็พร้อมที่จะดำเนินการ เพราะในพื้นที่ของโรงไฟฟ้ากระบี่ปัจจุบันสามารถตั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติได้อยู่แล้ว "ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร"
นายสหรัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ตามแผน PDP ที่กำหนดไว้ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ต่อปี กฟผ.ยืนยันว่า "ภาคใต้จะไม่มีปัญหาเรื่องของไฟฟ้าตก-ดับแน่นอน" เพราะนอกจากจะส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปเสริมแล้ว กฟผ.ยังมีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านคือ มาเลเซีย โดยเฉพาะในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าจะมีความแตกต่างตามช่วงเวลาตั้งแต่ 2 บาท/หน่วยไปจนถึงมากกว่า 8 บาท/หน่วย สำหรับความกังวลของผู้ใช้ไฟฟ้าจากกรณีที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซทดแทน จะส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น "ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล ว่าจะกำหนดสัดส่วนของโรงไฟฟ้าก๊าซไว้อย่างไร"
ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ (28 กุมภาพันธ์ 2560) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้นำเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรก และได้ "สั่งการ" ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กลับไป "ทบทวน" ถึงแผนสำรองจากกรณีความล่าช้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (80 MW) และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา (1,000 MW) จังหวัดสงขลา ไม่สามารถเข้าระบบได้และให้นำกลับมาเสนอเพื่อพิจารณาแนวทางในการประชุมครั้งต่อไป