ผู้บริโภคตั้งโต๊ะเปิดข้อมูลให้ "สิทธิบัตรยา" ทำราคาแพงจริง!! ชู 4 ข้อเสนอ คสช. (2 มี.ค. 60)

มติชนออนไลน์ 2 มีนาคม 2560
ผู้บริโภคตั้งโต๊ะเปิดข้อมูลให้สิทธิบัตรยา ทำราคาแพงจริง!! ชู 4 ข้อเสนอคสช. 

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าวค้านออกม.44 ปล่อยผีสิทธิบัตรยา โดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แถลงว่า การเร่งออกสิทธิบัตรไม่มีผลดีใดๆทั้งสิ้น ต่อกระบวนการระบบสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเลย เพราะข้อเท็จจริงความล่าช้าของการออกสิทธิบัตร ไม่ได้ทำให้เจ้าของิทธิเสียสิทธิใดๆ เพราะตั้งแต่วันแรกที่ยื่นขอก็ได้รับการคุ้มครองกสิทธิแล้ว ทีสำคัญความล่าช้ามาจากผู้ขอสิทธิบัตรท่านนั้นเอง ที่ไม่ขวนขวายเอาข้อมูลข้อเท้จจริงมาเสนอ เพราะถือว่าได้รับการคุ้มครองตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และที่สำคัญที่เขายื่นล่าช้าเพราะเป็นคำขอที่ไม่มีวันตาย เนื่องจากตัวยานั้นไม่ได้มีใหม่ๆ เลย และมายื่นขออาทิตย์สุดท้ายของปีที่ 5 เนื่องจากกฎหมายให้เวลา 5 ปีในการยื่นรายละเอียดต่างๆในการขอสิทธิบัตร จึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรออกม.44 ในกรณีนี้ และเรื่องนี้จะทำอะไรก็ควรใช้กระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการมีส่วนร่วมต่างๆด้วย และเมื่อเขาได้รับสิทธิบัตรแล้ว ก็จะเป็นการผูกขาดยาเจ้าเดียว อุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ องค์การเภสัชกรรมก็ไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้

“และแม้อย.จะบอกว่าเรามีอำนาจการต่อรอง แต่เมื่อเขาได้รับสิทธิบัตร เราจะหมดอำนาจในการต่อรองทันที เพราะเมื่อเขาได้รับสิทธิบัตรก็ถือว่าเขาเป็นเจ้าเดียวในการผลิต เขามีอำนาจต่อรองกว่าเรา จึงขอให้รัฐอย่าหลงกล ที่พูดได้เพราะประเทศไทยเคยมีบทเรียน ทั้งยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาหัวใจ และยารักษามะเร็ง เราเคยต่อรองราคายา แต่เขาไม่ลดแม้แต่สตางค์เดียว จนนำไปสู่การทำซีแอล หรือการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ดังนั้น รัฐกล้าหรือไม่หากให้สิทธิบัตรยาแล้ว ต่อรองราคายาไม่ได้ จะกล้าประกาศใช้ซีแอลหรือไม่ เพราะทุกวันนี้เราเรียกร้องให้ทำซีแอลยาที่มีปัญหาจากสิทธิบัตรก็ยังไม่ทำเลย อย่างยาไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งมีปัญหาทุกวันนี้” นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า เครือข่ายฯมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ก่อนอื่นไปคัดกรองว่า มีคำขอสิทธิบัตรตัวไหนที่เกิน 5 ปีมีกี่ฉบับ 2.เครือข่ายฯเคยยื่นคู่มือคัดกรองคำขอเข้าข่ายสิทธิบัตร evergreening หรือสิทธิบัตรไม่มีวันตาย โดยไปดูว่ามีกี่ตัวและให้ตัดทิ้งไป 3.มีคำขอไหนที่เกินจากสิทธิบัตรไทยอนุญาตให้ด เช่น เป็นคำขอเกี่ยวกับการใช้จุลชีพ เป็นต้น ก็ให้ตัดทิ้ง และ 4.ตั้งคณะกรรมการสิทธิบัตร ที่มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรนั้นๆ เพื่อมาร่วมกันพิจารณา

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า จากเหตุผลที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ระบุว่า สิทธิบัตรมีคำขอค้างถึง 12,000 ฉบับ แต่ก็ยังไม่เห็นรายละเอียดว่าเกี่ยวกับอะไรบ้าง แต่จากนักวิชาการต่างๆที่เคยทำงานวิจัยเรื่องสิทธิบัตรไม่มีวันตาย และเคยขอข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาพบว่า มีเกี่ยวกับยาประมาณ 2,000 ฉบับ ซึ่งยังไม่รวมคำขอที่เป็นชีววัตถุ ที่เป็นสารตั้งต้นไปเป็นยาได้ ดังนั้น ประเมินได้ว่ามี 3,000 ฉบับที่เกี่ยวกับยา และคำขอเหล่านี้เป็นคำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 84 จึงเป็นที่น่าตกใจสำหรับนักวิชาการ โดยข้อมูลปี 2542-2553 สัญชาติผู้ขอรับสิทธิบัตรจะพบว่าร้อยละ 33 เป็นสัญชาติสหรัฐอเมริกา รองลงมาร้อยละ 13 เยอรมนี นอกนั้นเป็นสัญชาติฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้แทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า แม้จะบอกว่าม.44 ที่จะออกมาจะไม่ส่งผลต่อสิทธิบัตรยา และไม่ส่งผลทำให้ยาราคาแพง ซึ่งไม่มั่นใจกับการต่อรองราคายาของรัฐเลย เพราะจากข้อมูลล่าสุดในเรื่องการผูกขาดยาโซฟอสบูเวียร์ ซึ่งเป็นยาไวรัสตับอักเสบซี มีราคาแพงมาก โดยในสหรัฐจำหน่ายที่ราคาเม็ดละ 20,000 บาท ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะพบว่า ผู้ผลิตมายื่นคำขอสิทธิบัตรฉบับแรก และจะหมดอายุถึงเดือนเมษายน 2567 ซึ่งทำให้ประเทศต้องใช้ยาราคาแพงไปอีก10 ปี แต่ปรากฎว่าผู้ผลิตยื่นคำขอสิทธิบัตรจากยาตัวเดียวกันไปอีก12 ฉบับกลายเป็นว่ายาตัวนี้จะถูกคุ้มครองและผูกขาดไปถึงเดือนกรกฎาคม 2577 ยาวนานไปถึง 17 ปี

“ที่ผ่านมาก็มีระบบต่อรองราคายาเช่นกัน เป็นเวทีต่อรองไม่เป็นทางการ โดยบริษัทผู้ผลิตให้ราคาต่ำสุดเม็ดละ 1,500 บาท แต่หากยานี้ผลิตได้เองในไทยจะอยู่ที่เม็ดละ100 บาท ดังนั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีมาตรการไหนจะทำให้ยาราคาถูกกว่านี้ เพราะจริงๆในต่างประเทศ อย่างจีน อียิปต์ก็ปฏิเสธให้สิทธิบัตรใหม่ๆกับยาตัวนี้แล้ว เพราะรู้ดีว่าหากให้สิทธิบัตร การต่อรองราคายาให้ถูกลงเป็นไปได้ยากมาก” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว