"เจ้าท่า" วอน "จีน" จ้างบริษัทไทยทำอีไอเอศึกษาผลพวงระเบิดโขง – มี.ค. เปิดเวทีเชียงราย (1 มี.ค. 60)

Green News TV 1 มีนาคม 2560
‘เจ้าท่า’ วอน ‘จีน’ จ้างบริษัทไทยทำ ‘อีไอเอ’ ศึกษาผลพวงระเบิดโขง – มี.ค.เปิดเวที ‘เชียงราย’

กรรมการสิทธิฯ เรียก “เจ้าท่า” ชี้แจงโครงการระเบิดแก่งโขง ผอ.สำนัก 7 ระบุ ไทยอยู่ระหว่างพิจารณาแผนงาน-อุปกรณ์สำรวจจีน คาดเดือน มี.ค.นี้ ประชุมทำความเข้าใจชาวบ้านเชียงราย

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2560 ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 เข้าให้ข้อมูล เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป

นายปกรณ์ ประเสริฐวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 กรมเจ้าท่า กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเห็นชอบแผนการดำเนินงานและรายการอุปกรณ์ต่างๆ ที่คณะสำรวจจีนได้รายงานต่อทางการไทยไว้ก่อนหน้านี้ โดยเบื้องต้นอาจจะไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์บางอย่างเข้ามา เช่น โดรน ซึ่งถือว่ามีความละเอียดอ่อน

นอกจากนี้ แม้ว่าการสำรวจดังกล่าวจะไม่เข้าข่ายต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่ทางการไทยก็จะขอให้ทางการจีนจ้างบริษัทที่ปรึกษาไทยเพื่อจัดทำอีไอเอ และรายงานการประเมินผลกระทบทางสังคม (เอสไอเอ) ด้วย

นายปกรณ์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำกับทางการจีนว่าการศึกษาการปรับปรุงร่องน้ำนี้จะต้องไม่ทำให้ร่องน้ำธรรมชาติเปลี่ยนแปลง หรือกระทบกับเขตแดนระหว่างประเทศใดๆ ซึ่งระบุทั้งในสนธิสัญญาและมติ ครม.

“การสำรวจในชั้นต้นนี้จะเป็นเพียงการศึกษาอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีการเดินหน้าปรับปรุงใดๆ และยินดีให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจครั้งนี้ด้วย ซึ่งทางกรมฯ อาจขึ้นไปจัดสัมมนาใน จ.เชียงราย ในช่วงเดือน มี.ค.นี้เพื่อให้ความชัดเจนอีกครั้ง” นายปกรณ์ กล่าว

นายสุรนาท ศิริโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย กล่าวว่า ระดับร่องน้ำคือตัวกำหนดขนาดของเรือที่จะสามารถแล่นได้ ซึ่งความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขง (JCCN) ที่จะพัฒนาให้ร่องน้ำสามารถรองรับเรือขนาด 500 ตันได้นั้น ปัจจุบันเส้นทางที่มายังท่าเรือเชียงแสนในบางฤดูสามารถรองรับได้ถึงขนาด 470 ตันอยู่แล้ว การสำรวจในครั้งนี้อาจได้ผลสรุปออกมาว่าไม่จำเป็นต้องมีการระเบิดเกาะแก่ง หรืออาจใช้เป็นเพียงการฝังทุ่นบอกตำแหน่งก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน

นายสุรนาท กล่าวอีกว่า ในส่วนของการขนส่งสินค้าทางเรือบริเวณเชียงแสนนั้น ที่ผ่านมาลดลงกว่า 50% เนื่องจากสินค้าที่จะผ่านเข้าจีนมีความเข้มงวดมาก แต่ตัวเลขยังพบว่าประเทศไทยได้ดุลการค้ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามปัจจุบันจีนเริ่มมีการผ่อนปรนต่างๆ จึงทำให้การขนส่งทางเรือในเส้นทางนี้จึงมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ

น.ส.นวลละออ วงศ์พินิจวโรดม ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า กิจกรรมการระเบิดเกาะแก่งนั้นไม่ได้อยู่ในกรอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เนื่องจากกรอบการตกลงใดๆ จะสามรถตกลงกันได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 4 ประเทศคือ ลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนาม แต่กัมพูชาและเวียดนามไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการระเบิดเกาะแก่งนี้

“ระยะหลังมานี้ จีนมีความร่วมมือกับ MRC ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเขารู้ดีว่าตกเป็นจำเลยจากผลกระทบในแม่น้ำโขง อย่างเช่นปีที่ผ่านมาที่จีนปล่อยน้ำจากเขื่อน เพื่อช่วยเวียดนามไล่การรุกของน้ำเค็มบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง พร้อมมีทีมติดตามผลกระทบจากการปล่อยน้ำด้วย จึงเห็นได้ว่าตอนนี้เขาเริ่มก้าวขาเข้ามา และมีภาพที่ดีกว่าในอดีต” น.ส.นวลละออ กล่าว