"โรงไฟฟ้ากระบี่" วืดงัดแผนสองซื้อมาเลย์-พม่า (23 ก.พ. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 23 กุมภาพันธ์ 2560
โรงไฟฟ้ากระบี่วืดงัดแผนสองซื้อมาเลย์-พม่า
คิดข้ามชอตรับมือโรงไฟฟ้ากระบี่วืด เหตุคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่รู้อนาคต EIA-EHIA ฉบับใหม่จะผ่านหรือไม่ ปลัดพลังงานชี้้อาจต้องใช้วิธีดึงไฟฟ้าจากภาคกลาง ซื้อไฟเพิ่มจากพม่า-มาเลเซีย กฟผ.เสนอสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก
คณะรัฐมนตรีได้มีมติกรณีการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนหรือEIA-EHIA ใหม่ พร้อมทำความเข้าใจและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หาก EIA-EHIA ไม่ผ่านก็ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ได้ แต่หากสามารถดำเนินการต่อไปได้ก็จะสามารถใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินได้ในปี พ.ศ.2565
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ กฟผ.ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามแผน PDP 2015 กำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ (MW) ต่อไป ภายหลังจากโครงการล่าช้ากว่ากำหนด 2 ปี คาดว่าจะสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้เสร็จภายในต้นปี 2560 กำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2565 ทว่ามติ กพช.ดังกล่าวได้รับการคัดค้านจากกลุ่มผู้ต่อต้านอย่างหนัก
ภาคใต้เสี่ยงไฟตกดับสูงสุด
ผู้สื่อข่าว"ประชาชาติธุรกิจ"ได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าหลายรายต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าระบบตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือแผน PDP ฉบับล่าสุด (2558-2579) ได้ทันกับ "ความเสี่ยง" กรณีเกิดไฟฟ้าตก-ดับในภาคใต้แล้ว เนื่องจากแผน PDP ได้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ถ่านหิน (เครื่องที่ 1) ขนาดกำลังผลิต 800 เมกกะวัต (MW) เข้าระบบในปี 2562 หรือเหลือเวลาสำหรับโรงไฟฟ้าโรงนี้จะต้องสร้างให้เสร็จเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น
"ตามปกติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงหนึ่ง ๆ จะต้องใช้ระยะเวลาถึง 5 ปี หรือกรณีของโรงไฟฟ้ากระบี่ควรจะต้องก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่เวลาได้ล่วงเลยมาจนถึงปี 2560 ก็ยังไม่ได้ก่อสร้าง ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์ที่รัฐบาลต้องการให้ทำ EIA/EHIA ใหม่ทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลาเร็วที่สุดก็อีก2 ถึง 2 ปีครึ่ง รวมเป็นต้องใช้เวลาถึง 7 ปี นั่นหมายถึงโรงไฟฟ้ากระบี่จะพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ก็ปาเข้าไปถึงปี 2567 ในขณะที่สถานการณ์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เครื่องที่ 1 กำลังผลิต 1,000 MW ซึ่งจะต้องเข้าระบบในปี 2564 ก็ไม่ดีนัก สุดท้ายในระหว่างปี 2562-2564 จะมีกำลังผลิตหายไปจากระบบถึง 1,800 MW"
5 แนวทางถ้ากระบี่-เทพาไม่เกิด
ล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานที่ต้องบริหารจัดการด้านความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศได้ประมาณการกรณี "ความเสี่ยง" ที่จะเกิดไฟฟ้าตกดับในภาคใต้ หากไม่มีกำลังผลิตใหม่ ๆ เข้าระบบไว้ถึง 5 สมมุติฐาน ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น โดยใช้ "สูตร N-1" หรือการบริหารความเสี่ยง โดยคิดว่าโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในภาคใต้โรงใหญ่ที่สุด 1 เครื่องที่กำลังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่ในขณะนั้น "เกิดขัดข้องหรือต้องหยุดผลิตกระแสไฟฟ้า" ลงไปแล้ว จะต้องทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟตกดับในภาคใต้
"สมมุติฐานนี้คำนวณจากกำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้รวมกันปัจจุบันอยู่ที่3,089MW ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ที่เกิดขึ้นในภาคใต้อยู่ที่ 2,713 MW อัตราเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าปีละ 5% หรือประมาณ 150 MW ขณะที่โรงไฟฟ้ากำลังผลิตสูงสุดในภาคใต้ 2 โรง คือ โรงไฟฟ้าขนอม 930 MW (เครื่อง 1-2 เครื่องละ 465 MW) กับโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมจะนะ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 710 MW"
สมมุติฐานที่ 1 กรณีโรงไฟฟ้าขนอมหยุดผลิต หรือหยุดซ่อม 1 เครื่อง 465 MW เพื่อไม่ให้ไฟฟ้าในภาคใต้ตกดับ จะต้องมีกำลังผลิตเผื่อไว้ทั้งหมดเท่ากับ 2,713+462 เท่ากับ 3,178 MW หรือคิดเป็นร้อยละ 17 สมมุติฐานที่ 2 กรณีโรงไฟฟ้าขนอมเดินเครื่องตามปกติ แต่โรงไฟฟ้าจะนะ 710 MW เกิดเหตุขัดข้อง เพื่อไม่ให้ภาคใต้ไฟดับ จะต้องมีกำลังผลิตเผื่อไว้เท่ากับ 2,713+710 เท่ากับ 3,423 MW หรือร้อยละ 26
สมมุติฐานที่ 3 กรณีโรงไฟฟ้าขนอมหยุดเดินเครื่อง กับโรงไฟฟ้าจะนะก็หยุดด้วย จะต้องมีกำลังผลิตเผื่อไว้เท่ากับ 2,713+465+710 เท่ากับ 3,888 MW หรือร้อยละ 43 สมมุติฐานที่ 4 ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี หรือเท่ากับปีละ 150 MW ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 5-8 ปี โดยไม่มีไฟฟ้าดับในภาคใต้ จะต้องเผื่อกำลังผลิตไว้เป็น 2 กรณี คือ 5 ปีเท่ากับ 5x150 เท่ากับ 750 MW รวมเป็น 2,713+750 เท่ากับ 3,463 MW หรือร้อยละ 28 กับกรณีที่ 2 คือ 8 ปี เท่ากับ 8x150 เท่ากับ 1,200 MW รวมเป็น 2,713+1,200 เท่ากับ 3,913 MW หรือร้อยละ 44
และสมมุติฐานที่ 5 โรงไฟฟ้าจะนะ (710 MW) หยุดผลิต ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ต้องเผื่อกำลังผลิตไว้ 2 กรณี คือ 5 ปี เท่ากับ 750 MW รวมเป็น 2,713+710+750 เท่ากับ 4,173 MW หรือร้อยละ 54 กับกรณีที่ 2 คือ 8 ปี เท่ากับ 1,200 MW รวมเป็น 2,713+710+1,200 MW เท่ากับต้องเผื่อกำลังผลิตไว้ถึง 4,623 MW หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ทีเดียว
"ปัญหาก็คือระหว่างกำลังผลิตไฟฟ้ารวมในภาคที่มีอยู่ เพียงแค่ 3,089 MW กับความต้องการใช้สูงสุด (Peak) ที่ 2,713 MW นั้น มีส่วนต่างกันอยู่เพียงแค่ 376 MW ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้นหากเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งใน 5 สมมุติฐานข้างต้น และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ภาคใต้ไฟดับ กฟผ.จะหากำลังผลิตไฟฟ้าที่ไหนมาเผื่อไว้ ประมาณ 1,445 MW หากโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา กำลังผลิตรวม 1,800 MW ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ในระยะเวลา 5-6 ปีข้างหน้านี้" แหล่งข่าวกล่าว
ผ่าทางตันผุดโรงไฟฟ้าทับสะแก
ด้าน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแผนสำรองกรณีโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่สามารถก่อสร้างและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2562 ว่า ประเทศไทยคงต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น อาทิ มะริด หรือมาเลเซีย เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าในเมียนมา มีทั้งโครงการของ กฟผ.-RATCH-EGCO หรือต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งไปช่วยภาคใต้ "ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ คนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ใช่แค่คนใต้เท่านั้น เราจะทำอย่างไร อาจจะต้องหันไปใช้เชื้อเพลิง LNG ผลิตไฟฟ้า แต่ก็จะมีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ต้องแก้กันอีก"
ส่วน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แผนสำรองกรณีไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่เข้าระบบหรือล่าช้าออกไปจากแผนที่วางเอาไว้ (PDP) นอกจากจะต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งไปภาคใต้ทุกวันแล้ว กฟผ.อาจจะต้องพิจารณาสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ นอกเหนือไปจากกระบี่ ที่เป็นไปได้ก็คือ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ "ถือเป็นทางเลือกใหม่"
"เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้นำชุมชน-อบต.ในพื้นที่ทับสะแก เข้ามาหารือกับกระทรวงพลังงาน เขาอยากให้ไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าทับสะแก แต่ในสมัยอดีตรัฐมนตรีพลังงาน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้มีการเซ็น MOU กันไว้กับชุมชนที่นั่นแล้วว่า จะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า หากคนทับสะแกอยากให้ กฟผ.ไปสร้างโรงไฟฟ้าจริงก็ต้องปลดล็อกตรงนี้ ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ซื้อที่ดินไว้ที่ทับสะแกไปแล้วกว่า 4,000 ไร่" นายบุญญนิตย์กล่าว
ท่องเที่ยวกระบี่ไม่เอาถ่านหิน
นายวัฒน์ เริงสมุทร นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กับนายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ธุรกิจท่องเที่ยวและภาคเอกชนในกระบี่เกือบทั้งหมด "ไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน" จากปัจจุบันที่มีพลังงานทางเลือกอย่างอื่นที่เหมาะสมกับมากกว่า การเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำลายการท่องเที่ยวกระบี่ที่มีมูลค่าปีละ 75,000-80,000 ล้านบาท หากรวมโซนอันดามันทั้งหมดจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท และมีการทำแบบสอบถามนักท่องเที่ยวต่างชาติร้อยละ 80 บอกว่า ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะไม่กลับมาเที่ยวกระบี่อีก พร้อมกับเสนอแนะให้รัฐบาลเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความเสี่ยงต่ออนาคตของคนกระบี่ทั้งจังหวัด ไม่ใช่เฉพาะรอบโรงไฟฟ้าแค่ 5 กิโลเมตรเท่านั้น
ล่าสุดแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้แสดงความพอใจกับมติ ครม.วันนี้ ที่ให้ กฟผ.กลับไปจัดทำรายงาน EIA/EHIA ใหม่หมด